“ชี้ช่องแก้จน เปลี่ยนฝนเป็นทุน” โอกาสพลิกชีวิตก้าวข้ามวิกฤตโควิด 19 วิถีเกษตรกร

“ชี้ช่องแก้จน เปลี่ยนฝนเป็นทุน” โอกาสพลิกชีวิตก้าวข้ามวิกฤตโควิด 19 วิถีเกษตรกร ต่อยอดพัฒนาอาชีพ ทางรอดคนคืนถิ่น สร้างรายได้และความสุขที่ยั่งยืน

 โควิด19 สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมาย สังคมไทยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ คนว่างงานขาดรายได้กว่า 4 ล้านคน ตัดสินใจคืนถิ่นเกิดไปตั้งหลัก และมองหาทางรอดด้วยการใช้ชีวิตในภาคการเกษตร ที่มี “น้ำ” เป็นหัวใจสำคัญ เอสซีจีร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เปิดเวทีชวนพูดคุยผ่านออนไลน์ “ชี้ช่องแก้จน เปลี่ยนฝนเป็นทุน” ฟังตัวอย่างคนที่สามารถใช้ฝนเปลี่ยนเป็นทุนได้สำเร็จ กลับมามีรายได้ มีอาชีพ มีชีวิตเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แถมยังจัดการหนี้หลักล้านได้สำเร็จจากการเริ่มต้นธุรกิจด้วยน้ำ แต่ท่ามกลางน้ำหลากและน้ำแล้ง จะสร้างโอกาสจากการมีน้ำแก้จนได้อย่างไร โดยเฉพาะในเดือนกันยายนและตุลาคมที่น้ำหลากกำลังจะมา ซึ่งจะเป็นโอกาสสุดท้ายให้คว้าไว้ เพื่อรอดจนและเลิกแล้ง

น้ำคือทุน ที่ไม่ต้องลงทุน เน้นปลูกผักโตเร็วสร้างรายได้

ตัวอย่างคนที่รอดจน มีรายได้ด้วยน้ำ “น้องหนิง” ลลิสสา อุ่นเมือง เครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ตำบลขุนควร อำเภอปง จ.พะเยา เล่าว่า ทำงานเป็น BA เครื่องสำอางในห้างดังมา 3 ปี มีรายได้เดือนละ 20,000 บาท ไม่มีเงินเหลือเก็บ พิษโควิด 19 ระลอก 3 ตัดสินใจกลับบ้านเกิดมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ช่วยแม่ทำสวนเก็บมะขาม ซึ่งเป็นพืชตามฤดูกาลเก็บได้ครั้งเดียว ต้องคิดหารายได้มาใช้ในชีวิตประจำวัน พอดีที่บ้านมีสระน้ำเก็บไว้เพียงพอที่จะทำเกษตร จึงเริ่มด้วยการปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย เช่น แตงกวา มะระ มะเขือเทศ เป็นต้น ปัจจุบันมีรายได้ต่อเดือน 5,000 บาท แม้ว่าจะลดลงแต่อยู่ได้ เพราะรายจ่ายลดลงเช่นกัน ทำให้มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น ที่สำคัญได้กลับมาอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข

“กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สำหรับหาเงิน แต่บ้านเป็นแหล่งพักพิง เป็นจุดเริ่มต้นไม่รู้จบ ทำให้ชีวิตมีความสุข ตอนแรกกลับมาก็ปรับตัวยาก โชคดีมีน้ำให้ทำเกษตร เน้นปลูกผักที่ใช้น้ำน้อยโตเร็วขายได้เลย เริ่มจากในตลาดก่อน ตอนนี้กำลังเรียนรู้การบริหารต่อยอดการทำเกษตรเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มรายได้ ในอนาคตจะขายผักพื้นบ้านที่มีจุดขายและมีราคา เช่น ผักหวาน ผ่านช่องทางออนไลน์ พัฒนาแพคเกจจิ้งเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ซึ่งเราต้องรู้จักเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด เพราะน้ำคือทุนของชีวิตที่ไม่ต้องลงทุนเลย”

แคมป์ก่อสร้างปิด กลับบ้านเรียนรู้พึ่งน้ำทำเกษตรผสมผสาน

Advertisement

“พี่จันทร์” จันทร์สุดา กุลสอนนาม เครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ บ้านภูถ้ำ ภูกระแต ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น ใช้ชีวิตทำงานรับเหมาก่อสร้างในกรุงเทพฯ นาน 20 ปี เล่าว่า เมื่อแคมป์ปิดงานหายขาดรายได้ที่เคยมีวันละ 500 บาท กลับมาบ้านเกิดทำเกษตรก็ไม่ได้ เพราะที่นามีน้ำน้อย โชคดีมีโอกาสไปช่วยงานพ่อเข็มซึ่งเป็นคนในพื้นที่เดียวกัน ได้เรียนรู้เห็นความสำเร็จการทำเกษตรทฤษฎีใหม่มีน้ำเพียงพอจากการเก็บกักมาตั้งแต่ปี 2560 จึงลงมือทำบนผืนดินนา 5 ไร่ ที่พ่อเข็ม หรือ นายเข็ม เดชศรี ยกให้เป็นพื้นที่ทำกิน และสามารถใช้น้ำทำเกษตรได้ตลอดปีมาเป็นทุนในการใช้ชีวิตและสร้างอาชีพ

“ทุนของการมีน้ำคือ มีชีวิต มีโอกาส เพราะเรามีน้ำใช้ตลอด ทุกวันนี้ทำเกษตรผสมผสาน มีสระเลี้ยงปลาดุก ปลาหมอ ปลูกข้าว ปลูกพริก มะเขือ และ แตงกวา มีอยู่มีกิน ไม่เดือนร้อน มีความสุข ไม่อยากกลับกรุงเทพฯ แล้ว ซึ่งพ่อเข็มได้มอบทุนสำคัญคือ ที่ดินและน้ำ พร้อมเป็นพี่เลี้ยงสอนให้รู้จักวางแผนบริหารจัดการ ใช้ทุกอย่างรู้คุณค่า นอกจากนี้ ยังช่วยหางานก่อสร้างจากเครือข่ายชุมชน ทำให้มีรายได้เพิ่มด้วย ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิต เป็นวิกฤติที่เราสร้างโอกาสใหม่ให้กับชีวิตได้”

Advertisement

เริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยน้ำ ทำธุรกิจปลาส้มปลดหนี้หลักล้าน 

“พี่เก๋” ยศวัจน์ ผาติพนมรัตน์ กลุ่มวิสาหกิจวังธรรม อ.น้ำโสม จังหวัดอุดรธานี (ปลาส้มวังธรรม) หอบหนี้หลักล้านกลับบ้านเมื่อ 5 ปีก่อนไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยน้ำ ลงทุนทำธุรกิจปลาส้ม ย้ำชัดว่า น้ำเป็นต้นทุนชีวิตและสังคม ถ้ารู้คุณค่าและนำมาเพิ่มมูลค่าได้ ไม่ใช่แค่พึ่งพาตัวเอง แต่สามารถแบ่งปันให้คนอื่นด้วย เพราะธุรกิจปลาส้มที่มุ่งมั่นทำมา 3 ปี นอกจากจะปลดหนี้นอกระบบหลักล้านได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังช่วยเครือข่ายให้มีรายได้ด้วย โดยก่อนโควิดพ่นพิษรายได้จากการขายปลาส้มจะอยู่ที่ 2-3 แสนบาทต่อเดือน ตอนนี้ลดลงเหลือ 1-2 แสนบาท

“ผมกลับมาบ้านก็ขุดบ่อเลี้ยงปลา ทำปลาส้ม ปลาแดดเดียวขาย ซึ่งโครงการพลังปัญญาทำให้ตกผลึกทางความคิด เริ่มต้นด้วยหลัก ง่าย ไว ใหม่ และใหญ่ ผมค้นพบตัวเองว่าเก่งอะไร ครอบครัวชอบทำอาหาร พ่อเชี่ยวชาญการทำปลาส้ม ก็จับปลาในสระมาทำได้ง่ายให้ผลตอบแทนไว จากนั้นต่อยอดเพิ่มเป็นสูตรใหม่ ๆ ขยายช่องทางขายใหญ่ขึ้น ร่วมกันตั้งวิสาหกิจชุมชนวังธรรม เป็นวังแห่งน้ำ มีกิจกรรมดี ๆ มีรายได้เกิดขึ้นในชุมชน พึ่งพาตัวเองได้ ส่งต่อมอบทุนการศึกษาให้ลูกหลาน สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน”  

กระตุ้นท้องถิ่นดูแลแหล่งน้ำ แนะพลิกวิกฤตเก็บน้ำเป็นทุน

นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ กล่าวถึงความสำคัญเรื่องการจัดการน้ำว่า แพร่เคยมีปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม โคลนถล่ม แต่ปัจจุบันมีระบบจัดการน้ำที่ดีมาก สร้างพื้นฐานของการมีน้ำกิน น้ำใช้ ทำเกษตร มีอาชีพ เมื่อคนในชุมชนต้องกลับบ้าน ก็อุ่นใจได้ เพราะมีน้ำเพียงพอต่อการทำมาหากิน ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีบทบาทในการดูแลแหล่งน้ำ ซึ่งช่วงฤดูฝนนี้ควรช่วยกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุดเพียงพอสำหรับเกษตรกรใช้ไปอีก 9 เดือน ไม่ควรรีบด่วนพร่องน้ำกลัวพายุเข้า และอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ การสื่อสารข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อย่าปล่อยให้เกษตรกรเข้าใจผิดหลงเชื่อข่าวปลอม

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในภาพรวมอีก 7 เดือนข้างหน้าฝนยังน้อย แต่ในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม พื้นที่ตอนบนจะกลับมามีฝนมากกว่าค่าปกติจากพายุหนึ่งลูก ส่วนราชการต้องเตรียมรับมือน้ำท่วมและน้ำป่า แต่ก็เป็นโอกาสที่จะทำให้ปริมาณนำในเขื่อนเพิ่มขึ้น ดังนั้น เขื่อนจำเป็นต้องเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ขอแนะนำให้ประชาชนและชุมชนต่าง ๆ พลิกวิกฤติเก็บน้ำเป็นทุนในเวลาที่เหลือ นำมาสร้างอาชีพ

บริหาร “น้ำ” จุดเริ่มต้นบริหารการผลิตและการตลาด

ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ฝนเป็นสิ่งที่ยากต่อการบริหารและคาดการณ์ แต่เมื่อมีระบบข้อมูลคาดการณ์ได้ ก็ทำให้บริหารจัดการน้ำได้ดีขึ้น อย่างจังหวัดแพร่ทุกคนคิดว่าการแก้ปัญหายากจนต้องเอาเงินไปลงทุนโครงสร้าง แต่ที่ตำบลสรอยไม่ได้เริ่มจากการสร้าง ตอนลงไปสำรวจพบมีอ่างถึง 163 อ่าง จึงค่อย ๆ ฟื้นอ่างตอนนี้ได้กว่า 10 อ่าง แก้เรื่องบริหารอ่างและจัดการเรื่องน้ำ คำว่าท่วมและแล้งแทบจะหายไป ชาวบ้านมีฐานะดีขึ้น ชัดเจนว่าการบริหารน้ำนำมาสู่การบริหารการผลิตและการขาย

ปีนี้เราเห็นข่าวน้ำท่วมเต็มไปหมด แต่ฝนไม่ตกลงเขื่อน ในช่วงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะเห็นว่าฝนตกหนักแล้วหายไปยาวนาน ถ้าไม่มีที่เก็บน้ำโอกาสที่จะเจอปัญหาหนักมาก ทุกอาชีพต้องพึ่งน้ำ สิ่งที่เราทำกับเครือข่ายกว่า 1,700 หมู่บ้าน จึงลงลึกตั้งแต่การจัดการน้ำ การเกษตร การเงิน การตลาด ตอนนี้คนกลับบ้านไปเป็นเกษตรกร ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่อยากเห็นคนแห่เข้าเมืองใหญ่ จึงต้องพัฒนาอาชีพในพื้นที่ เรามีตัวอย่างความสำเร็จที่พร้อมเป็นพี่เลี้ยง น้ำคือทุน คือจุดเริ่มต้น บริหารน้ำได้ก็บริหารเกษตรได้ บริหารตลาดได้ บริหารการขายได้”

เปลี่ยนมุมมองบริหารน้ำให้เหมือนบริหารเงินเดือน

ปิดท้ายด้วยคำแนะนำจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ระบุว่า น้ำมีความสำคัญต่อทุกชีวิต ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งคนเมือง น้ำก็เป็นปัจจัยแห่งชีวิตตลอดเวลา ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งไว้ และสิ่งที่น่าวิตกคือ ความไม่แน่นอนทางด้านทุน ซึ่งจะทำอย่างไรให้สามารถแปลงน้ำเป็นทุนได้ ขณะที่คนยังมองข้ามความสำคัญของน้ำ จึงอยากให้เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า น้ำไม่ได้เกิดขึ้นเองตามอัตโนมัติได้มาแค่ฤดูฝน จึงต้องบริหารน้ำให้เหมือนบริหารเงินเดือนที่มีแค่เดือนละครั้ง แต่ต้องใช้ไปตลอดเดือน

“อยากให้คนไทยพลิกมุมมองเปลี่ยนน้ำไปทุน โดยไม่ลืมน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นกระบวนทางความคิดมาใช้ผนวกไปด้วย ใช้ประโยชน์จากดินทุกกระเบียดนิ้ว คิดตั้งแต่ตักน้ำขึ้นมาใช้ เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่สอนปลูกต้นไม้ แต่สอนให้คิดว่ามีน้ำแค่นี้จะทำอะไรให้พอมีพอกิน ประเมินตัวเองว่ามีทุนเท่าไหร่ กระบวนความคิดต้องเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ขี้เกียจ อยากสนุกต้องอยู่ในเมืองใช้เงินซื้อ แต่ความสุขอยู่ที่ใจ ที่สำคัญต้องสร้างภูมิคุ้มกัน เตรียมพร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง เรามีเวลาอีกสองเดือนที่เป็นโอกาสทองในการพลิกน้ำให้เป็นทุนในการก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปพร้อม ๆ กัน”