Exotic food หนอน-แมลงเพื่อสัตว์เลี้ยงหายาก

ถ้าใครเคยเลี้ยงงูที่เพาะเลี้ยงจากฟาร์มทั้งแบบมีพิษและไม่มีพิษ หรือสนใจด้านการเลี้ยงงูเป็นพิเศษ จะทราบว่า ‘อาหาร’ สำหรับงูเป็นกลุ่มสินค้าเฉพาะกลุ่มที่ขายดีและเป็นที่ต้องการของตลาดสูง ในวงการเรียก ‘หนูไมค์’ ที่เพาะเลี้ยงง่าย ขายได้ตั้งแต่ตัวอ่อนแรกเกิด การขายแบ่งตามขนาดของหนู ราคาตั้งแต่ตัวละ 10-50 บาท ขายทั้งแบบเป็นๆ หรือแบบแช่แข็ง แถมการเพาะเลี้ยงก็ทำได้ง่าย พ่อแม่พันธุ์หนูไมค์ตัวผู้ 1 ตัวต่อตัวเมีย 5 ตัว หนูไมค์จะสามารถขยายพันธุ์ได้เร็วมาก โดย 1 เดือน ก็สามารถออกลูกครั้งละ 10-15 ตัวต่อแม่พันธุ์ นี่จึงเป็นอาชีพยอดนิยมที่เคยเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง

ที่หยิบยกหัวข้อการเลี้ยง ‘หนูไมค์’ มาก็เพื่อจะเท้าความถึงอาหารเพื่อสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ สัตว์แปลก สัตว์หายาก (Exotic Pet) อาทิ เม่นแคระ, กิ้งก่า, อีกัวน่า, มังกรเครา, poison frog Salamander, นกคอคคาเทล, นกแก้วมาคอร์, กระรอกบิน, ชูการ์ไกรเดอร์, เฟอเรท, เต่าซัลคาตา, กระต่าย, แฮมสเตอร์ และแมงมุม ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะได้รับอนุญาตให้สามารถเลี้ยงได้ เพาะพันธุ์และซื้อขายได้

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 


ขณะที่อาหารที่สัตว์เหล่านี้กินคือแมลงต่างๆ ทำให้ธุรกิจการเลี้ยงแมลงเป็นอาหารเพื่อสัตว์พิเศษ จึงเป็นธุรกิจแปลกใหม่ที่คนให้ความสนใจในขณะนี้ ซึ่งโดยทั่วไปวัตถุประสงค์การเพาะเลี้ยงแมลงในโรงเรือนแบ่งเป็น 2 ประเภท

  1. คือการเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารซึ่งการบริโภคแมลงเป็นอาหาร มีคำศัพท์เฉพาะในทางวิชาการเรียกว่า‘Entomophagy’ โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nation หรือ FAO) ระบุว่า มีแมลงที่เหมาะนำมาเป็นอาหารเพื่อการบริโภคของมนุษย์จำนวนมากกว่า 1,900 สายพันธ์ทั่วโลก ซึ่งเกือบ 500 สายพันธุ์ เป็นแมลงที่มีการบริโภคเป็นอาหารในหลายประเทศอยู่แล้ว เช่น ตั๊กแตน มด ผึ้ง หนอน ผีเสื้อ และจิ้งหรีด ประมาณว่าประชากร 2 พันล้านคนทั่วโลกเคยบริโภคแมลง และถูกจัดเป็นอาหารใหม่ (Novel Food )ในสหภาพยุโรป ควบคู่กับเทรนด์ความยั่งยืนอาหารโลก ซึ่งมีการพัฒนาไปในรูปแบบของโปรตีน (ทางเลือก) แบบผง
  2. การเพาะเลี้ยงเพื่อธุรกิจอาหารสัตว์โดยเฉพาะอาหาร ไก่ ปลา และสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอาหารสุนัข ปัจจุบันมีการนำโปรตีนจากแมลงมาทดแทนปลาป่นซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ตัวอย่างเช่น ในยุโรปมีการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนแมลงวัน (Hermetia illucens) ซึ่งต่างจากแมลงวันบ้าน โดยมีขนาดตัวใหญ่กว่า ไม่เป็นพาหะหรือตัวนำเชื้อโรคให้กับมนุษย์ ไม่เป็นศัตรูพืช รวมถึงเป็นผู้ย่อยสลายตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ หนอนแมลงวันลายในระยะตัวเต็มวัยไม่จำเป็นต้องกินอาหารใดๆ ช่วงที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด คือช่วงที่ยังเป็นตัวหนอน(Larvae) ซึ่งสามารถทำให้แห้งแล้วป่นเป็นอาหารสัตว์

ส่วนกลุ่มที่ 3 ที่เราหยิบยกมาเป็นกลุ่มพิเศษ คือ การเพราะเลี้ยงแมลงแบบโรงเรือนแบบปิดเพื่อสัตว์เลี้ยงพิเศษ หรือที่เรียกว่า Exotic food ตามที่ระบุไว้ในข้างต้น และกลุ่มนี้นับเป็นตลาด Niche Market ที่น่าสนใจมาก อาทิ Exofood Thailand ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน Agritech ที่มีการทำฟาร์มแมลงระบบปิด ผสานการเลี้ยงแมลงด้วยการใช้เทคโนโลยี ทำให้สามารถเคลมได้ว่า เป็นแมลงที่มีการเพาะเลี้ยงจากกระบวนการที่สะอาด ถูกสุขอนามัย และมีมาตรฐาน โดยต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หนอน-แมลงอบแห้งสำเร็จรูป พร้อมให้สัตว์เลี้ยงรับประทาน

 

รวมทั้งมีไอเดียต่อยอดไปถึงการผลิตอาหารแห่งอนาคตสำหรับมนุษย์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพรายแรกๆ ที่มีการนำความรู้ด้านงานวิจัย เทคโนโลยีการเกษตร และเมกะเทรนด์ของโลกมาปรับใช้สำหรับการทำธุรกิจ อาทิ Uncleree Farm ที่มีการเลี้ยงแมลงเพื่อทำเป็นอาหารอย่างจริงจัง เรียกได้ว่าเป็นที่สนอกสนใจของสังคมในขณะนี้เป็นอย่างมาก โดยหนอนและแมลงที่นิยมเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสัตว์ อาทิ

หนอนแหลงวันลาย (Hermetia Illucens) ที่มีโปรตีนสูง มีส่วนผสมของกรดอะมิโนที่จำเป็น มีความสามารถในการย่อยสูง เหมาะใช้สำหรับการเลี้ยงสัตว์ทางการเกษตร สัตว์น้ำ และนก

ตัวอ่อนหนอน BSFL (LIVE Black Soldier Fly Larvae) เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เหมาะสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน ปลา หรือแบบหนอน BSFL อบแห้ง (FLASH-DRIED Black Soldier Fly Larvae) ที่เป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก และสัตว์กินแมลงอื่นๆ

หนอนนก (Tenebrio molitor) ปัจจุบันนิยมเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ มีโปรตีน ไขมัน เยื่อ ใย เถ้า ไลซีน และเมทไธโอนีน โดยมีความสำคัญใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงชนิดต่างๆ จากการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการพบว่า หนอนนกมีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับปลาป่นที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

หนอนด้วงควาย (Alphitobius diaperinus) ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ในต่างประเทศนิยมเพาะเลี้ยงเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หรือแม้แต่อาหารเพื่อมนุษย์ก็มีการนำหนอนด้วงควายมาเพาะเลี้ยงซึ่งทำได้ง่าย สะดวก ต้นทุนต่ำ

หลายคนอาจสงสัยว่า ข่าวก่อนหน้านี้ ‘จิ้งหรีด’ (Cricket) ก็ได้รับความนิยมนำมาเป็นอาหารมนุษย์ หรือแม้แต่ในอาหารสัตว์เช่นกัน ทว่าเมื่อดูจากต้นทุนภาคการผลิตที่เปรียบเทียบว่า จิ้งหรีดเลี้ยงยากกว่าและมีราคาแพงกว่าหนอนนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เทรนด์แมลงที่เราหยิบยกมากล่าวถึงบ่อยๆ นี้ จะเป็นเทรนด์สำหรับธุรกิจที่กำลังมองหา New Business Model อาจจะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ เพราะตามที่ระบุไว้ในข้างต้น นอกจากจะสามารถเป็นอาหารมนุษย์ได้แล้ว ยังสามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย

ที่สำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ การเลี้ยงปศุสัตว์อาจจะต้องมีการทบทวนเรื่องการปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ขณะที่การเพาะเลี้ยงแมลงในระบบปิดไม่เพียงมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ยังมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย ดังนั้น หนอน และแมลงจึงเป็นทางเลือกสำหรับโปรตีนในอนาคตอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นสำหรับคนหรือสัตว์ก็ตาม

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ
คลิกหรือสายด่วน1333