3 Foodtech Trends ตอบโจทย์อนาคตโลกยุคใหม่

อาหารยุคใหม่’ หรือเทรนด์อาหารแห่งอนาคตอาจต้องเป็นมากกว่าอาหาร กล่าวคือมีคุณสมบัติที่ไม่เพียงการบริโภคเพื่อความอิ่มท้องหรือดำรงชีวิต แต่ยังต้องตอบสนองความต้องการในหลากหลายมิติ อาทิ ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มผู้บริโภค ตอบสนองปัจจัยด้านความยั่งยืนที่เป็นเทรนด์ของโลกยุคใหม่ และอาจยังต้องสามารถตอบสนองที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้ด้วย เช่นการนำวัตถุดิบผลิตอาหารไปเปลี่ยนเป็นพลังงานเชื้อเพลิง หรือประโยชน์ในด้านอื่นที่นอกเหนือจากการบริโภค โดยในที่นี้เรามี 3 Foodtech Trends ด้านอาหารที่ผู้ผลิตทั่วโลกมองว่าจะเป็นอาหารแห่งอนาคตอย่างแท้จริง

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

3D PRINTING พิมพ์อาหารกินเอง

เราคงได้เห็นข่าวเนื้อจากห้องแล็ป หรือเนื้อเทียมแบบต่างๆ กันมาบ้างแล้ว แต่หากจะบอกว่าอาหารก็สามารถพิมพ์ขึ้นรูปมากินได้ ก็อาจจะสงสัยกันว่ามีจริงหรือ ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติทำให้ทุกวันนี้ ที่นึกอยากจะกินอะไรก็ใส่วัตถุดิบลงในเครื่องพิมพ์สามมิติแล้วขึ้นรูป รอเพียงไม่กี่นาทีก็พร้อมเสิร์ฟได้ทันที โดยมีบริษัทสตาร์ทอัพหลายรายในปัจจุบันสามารถทดลองเปิดร้านอาหารแบบป๊อบอัพขึ้น โดยบริการลูกค้าด้วยเมนูอาหารที่จากเครื่องพิมพ์สามมิติ

สำหรับหลักการทำงานของการทำอาหารด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่พ่อครัวใช้ถุงบีบขึ้นรูป เพียงแต่เครื่องพิมพ์สามมิติจะใช้แขนกลขึ้นรูปที่มีระดับความแม่นยำและละเอียดกว่าที่มนุษย์จะทำได้ และก่อนที่นำอาหารที่พิมพ์เสร็จแล้วนำมาผ่านการอบ ทอด หรือปรุงสุกในรูปแบบต่างๆ ก่อนที่จะเสิร์ฟให้แขกที่นั่งอยู่บนเฟอร์นิเจอร์ที่ทำขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ และรับประทานกับช้อน ส้อมที่ทำขึ้นจากเครื่องพิมพ์สามมิติด้วยเช่นกัน

กระนั้นสำหรับความท้าทายเกี่ยวกับอาหารที่พิมพ์ขึ้นจากเครื่องพิมพ์สามมิติ คืออาหารที่ได้จากเครื่องพิมพ์สามมิติ จะต้องมีรสชาติเนื้อสัมผัสและหน้าตาเหมือนกับอาหารที่คนในปัจจุบันทั่วๆ ไปคุ้นเคย ซึ่งเรื่องนี้อาจจะต้องอาศัยเวลาและความรู้หลากหลายสาขาวิชาและวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ในการพัฒนาตั้งแต่โครงสร้างอาหารไปจนถึงการผลิตอาหารด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ให้สามารถพิมพ์อาหารทั่วไปและรับประทานได้จริงๆ ไม่ใช่แค่การทดลองได้สำเร็จ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ คงได้เห็นอย่างแน่นอน

Super Food อาหารคุณค่าสูงและยั่งยืน

ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนที่ใส่ใจสุขภาพและมีกำลังทรัพย์ในการใช้จ่าย ลูกค้าที่บริโภคสินค้า Super Food ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในกลุ่มที่บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ (Organic Food) และสินค้ามังสวิรัติ ( Vegetarian and Vegan) แต่ปัจจุบันตลาดนี้เริ่มตอบรับกับคนกลุ่มใหญ่มากขึ้น ซึ่งการเติบโตของการบริโภคอาหารประเภทนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแสแฟชั่นเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่เป็นกระแสที่กําลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีผู้บริโภคในกลุ่มนี้เพิ่มจํานวนมากขึ้นทุกๆ ปี ทําให้ตลาดนี้ไม่ใช่ตลาดเฉพาะ (Niche Market) อีกต่อไป หลายบริษัทที่ทําธุรกิจการผลิตสินค้าประเภทนี้ก็กําลังขยายตัวมากยิ่งขึ้น

กรณีที่น่าสนใจอาทิ การผลิตไข่ผลิตจากพืช โดยสตาร์ทอัพที่ชื่อ Eat JUST, Inc. ซึ่งปัจจุบันก้าวขึ้นเป็นยูนิคอร์นระดับแนวหน้าของโลก ที่เน้นพัฒนาและค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมทางด้านอาหาร และประสบความสำเร็จในการผลิตและจำหน่ายอาหารทางเลือกที่ทำมาจากพืช ซึ่งทั่วโลกรู้จักกันภายใต้ชื่อ JUST Egg โดยไข่ที่ผลิตมาจากพืชที่ถูกนำมาใช้แทนไข่ไก่ ไข่เป็ด ที่เลี้ยงในฟาร์ม ปัจจุบันเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคที่นิยมบริโภคอาหารทางเลือก ทดแทนการบริโภคไข่และเนื้อจากสัตว์

นอกจากนี้มีเทรนด์การบริโภคสาหร่าย ซึ่งเป็นซูเปอร์ฟู้ดส์ที่วงการวิจัยและวิทยาศาสตร์ต่างให้ความสนใจอย่างมาก ในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่ขึ้นตามทะเลสาบและชายทะเล ซึ่งไม่เพียงสามารถตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาวิกฤติอาหารโลกเท่านั้น แต่ยังสามารถเติมเต็มปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงไปในตัว เพราะสาหร่ายบางชนิด สามารถผลิตน้ำมันที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับน้ำมันปิโตรเลี่ยม อีกทั้งคุณสมบัติการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายยังมีส่วนลดโลกร้อนได้อีกด้วย

หรือแม้แต่เทรนด์การบริโภคแมลง ซึ่งปัจจุบันแม้จะยังเป็นตลาดที่ยังมีมูลค่าไม่สูงมาก แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งที่น่าสนใจคือวัฒนธรรมของคนทั่วโลกมีความคุ้นเคยกับการบริโภคแมลง แต่ที่ผ่านมายังไม่ถูกมองว่าเป็นอาหารหลัก แต่ภายใต้มิติด้านความยั่งยืนอาหาร ทำให้แมลงก็เป็นหนึ่งในซูปเปอร์ฟู้ดส์ที่วงการผู้ผลิตอาหารให้ความสำคัญ

Functional Food ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล

อาหารเฉพาะบุคคล หรือการอาหารที่มีประโยชน์มากกว่าการบริโภคเพื่อให้อิ่มท้อง หรือที่เรียกว่า Functional Food ไม่ว่าจะเป็นอาหารเพื่อผู้ป่วย อาหารเพื่อกลุ่มคนสูงอายุ อาหารเพื่อนักกีฬา อาหารสำหรับเด็ก หรือแม้แต่อาหารสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ง่าย ซึ่งกำลังมาแรงและเป็นที่สนใจ สามารถยกระดับไปสู่ธุรกิจอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้

อาทิ กรณี บริษัท Sleep Well ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัพที่เห็นโอกาสทางการตลาด จากกรณีที่กลุ่มนักเดินทางและนักท่องเที่ยว ที่มักนอนไม่หลับเมื่อไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม เช่น บนเครื่องบิน โรงแรม ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ จนทำให้เกิดความเครียด บริษัทดังกล่าวจึงคิดค้นผลิตภัณฑ์นมกลิ่นวานิลลา ที่มีส่วนผสมของน้ำผึ้งและวาเลอเรี่ยน ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติช่วยผ่อนคลายและช่วยให้นอนหลับได้ง่าย

หรือกรณี Tech Startup ไทย อย่าง JuiceInnov8 ที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการลดน้ำตาลในน้ำผลไม้ 100% หรือบริษัท เวิลด์คลาสนิวทริชั่น จำกัด ที่วิจัยและพัฒนาสูตรเครื่องดื่มให้พลังงานชื่อ ดีเวอร์ เอนเนอร์จี้ เจล มีส่วนประกอบจากสารอาหารจากธรรมชาติ 100% ช่วยเสริมร่างกายนักกีฬาและผู้ที่ออกกำลังกายให้ดูดซึมได้ง่าย และเปลี่ยนเป็นพลังงานในร่างกายได้รวดเร็ว ซึ่งสินค้าดังกล่าวกลายเป็นกระแสปากต่อปากจากการนำไปใช้ฟื้นฟูร่างกายให้นักกีฬา

เห็นได้ว่าอาหารในทุกวันนี้เริ่มให้ความสำคัญกับตลาดที่เฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตอาหารประเภท Functional Food จะเกิดเป็นการแข่งขันที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาสู่ตลาดนี้มากขึ้น ดังนั้นการทำ R&D จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าจะสามารถแสวงหาโอกาสและเติบโตของธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมองว่าอาหารที่เราหยิบยกมาทั้ง 3 กลุ่มอาจจะไม่ใช่อาหารที่แปลกใหม่เท่าใดนัก แต่วงการผู้ผลิตอาหารทั่วโลกต่างประเมินว่า นี่จะเป็นเทรนด์ใหม่ของอาหารที่เป็นอนาคตของคนทั่วโลกอย่างแท้จริง ซึ่งไม่เฉพาะในมิติด้านความยั่งยืน แต่ยังสอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคยุคใหม่ที่ผู้บริโภคคาดหวังสิ่งใหม่ที่เป็นความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตอาจนำแนวคิดเหล่านี้ไปต่อยอดธุรกิจของท่านได้

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333