“โคก หนอง นา” โมเดล ทางรอดพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักพอเพียง

“การที่ประชาชนเปิดใจยอมรับเอาเรื่องนี้เข้าไปพิจารณา แล้วเกิดเป็นความเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาชีวิตได้อย่างยั่งยืน ไม่เพียงแค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังช่วยทำให้เกิดสังคมแห่งความรักใคร่ สามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมในพื้นที่มีสภาวะที่ดีขึ้น ธรรมชาติสวยงาม ก่อให้เกิดความสุข” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวตอนหนึ่งใน Live Streaming งานสัมมนา “ทางรอดเกษตรกรยุคโควิด” หัวข้อ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล”

  • ทางรอดพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคม

กรณี โคก หนอง นา ถือเป็นตัวอย่างชุมชนต้นแบบ – เกษตรกรต้นแบบ ได้เป็นอย่างดีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการทั้งในส่วนที่เป็นภารกิจและงบประมาณของกรมการพัฒนาชุมชน และได้รับงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามบัญชีท้าย พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยยึดแนวทางการพัฒนา “คน” พัฒนา “พื้นที่” ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบ จึงนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จนเกิดเป็นชุมชนต้นแบบ บุคคลต้นแบบ ขึ้นมากมาย

อาทิ “ชุมชนวัดป่าศรีแสงธรรม” อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ชุมชนต้นแบบพื้นที่ 15 ไร่ ซึ่งขับเคลื่อน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ และประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” ด้วยการขับเคลื่อนโครงการตามหลัก บวร (บ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ) “ชุมชนศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ” อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีพื้นที่ 40 ไร่ ได้ให้ความสำคัญต่อการขยายเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ และดำเนินตามหลักบันได 9 ขั้นของเศรษฐกิจพอเพียง พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่วมเย็น บุญ ทาน เก็บ ขาย ข่าย กรณีที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ เครือข่ายได้มีการระดมปัจจัยอาหาร ปัจจัยด้านเกษตรเพื่อช่วยเหลือเครือข่าย และประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียง สร้างผู้นำต้นแบบที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในชีวิตจนประสบความสำเร็จ โดยสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวให้มีความสุขอย่างยั่งยืน และนำไปสู่การกระจายความรู้-รายได้ ไปสู่ชุมชน เป็นต้น

  • ลดเหลื่อมล้ำ ระดับครัวเรือน ชุมชน ประเทศ

ขณะที่ด้าน นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นอีกหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่อยากให้ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นการพัฒนาให้ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข สร้างพื้นฐานการพึ่งตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำในระดับครัวเรือน ชุมชน และประเทศ มีความเข้มแข็งในการใช้ความสามารถบริหารจัดการชีวิต และบริหารจัดการชุมชน ส่งเสริมการสร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนส่งเสริมความเสมอภาคและเป็นธรรม

ช“โครงการดังกล่าว เน้นการพัฒนา และให้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเกิดการยอมรับและนำไปปฏิบัติ เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสมดุล ระหว่างการมีปัจจัยในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ฐานะทางเศรษฐกิจกับการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือกับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อให้ทุกครัวเรือนในทุกพื้นที่ได้มีวิถีปฏิบัติตนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขั้นพื้นฐาน สำหรับการพออยู่พอกินในแต่ละครอบครัว”

ชขณะนี้เป็นไปตามแผน โดย กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนท้องถิ่น ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับครัวเรือน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ภายในปี 2565 โดยจะสร้างการทำงานในรูปแบบกลุ่มการผลิต สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างภูมิคุ้มกัน ที่เป็นสวัสดิการของชุมชน พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบร่วมกันของชุมชนตามรูปแบบ โคก หนอง นา ที่โครงการสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ และรายได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ครัวเรือนนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ตามที่ตนเองต้องการ จำนวน 120,000 คน พัฒนากลุ่มอาชีพ จำนวน 600 กลุ่ม

ท้ายที่สุด เชื่อว่าจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากมีความมั่นคงแข็งแรง และช่วยให้ประเทศรอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้