จังหวัดศรีสะเกษประกาศ จัดงานเทศกาลเงาะทุเรียนศรีสะเกษ ASEAN Trade Fair 2017 พร้อมนำทุเรียนดินภูเขาไฟ กว่า 1.2 ล้านลูก สู่สายต่อชาวโลก

นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานแถลงเปิดงานเทศกาลเงาะทุเรียนศรีสะเกษ ASEAN Trade Fair 2017 มหัศจรรย์ศรีสะเกษ ณ สวนลุงฟอง บ้านซำขี้เหล็ก ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ โดยมีนายวิทยา วิรารัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ ดร.สุพจน์ วัฒนวิเชียร สหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ นายธนภร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี และนายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษตรร่วมงาน พร้อมตรอกย้ำและมุ่งเน้นคุณภาพ”ทุเรียนศรีสะเกษ” ให้ได้มาตรฐานสากล

นายธวัช กล่าวว่า จังหวัดศรีษะเกษ เป็นพื้นที่การผลิตพืชผลทางการเกษตรและจำหน่ายผลไม้ทุกชนิด โดยเฉพาะเงาะและทุเรียนภูเขาไฟ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอ เป็นแหล่งผลิตเพื่อการส่งออกผลไม้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด ด้วยดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ แผ่นดินทองของอีสานใต้ ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตไม้ผลเพื่อการส่งออกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ รวมการผลิตพืชชนิดต่างๆที่มีคุณภาพดี มีรสชาติอร่อย เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค อาทิ ทุเรียน เงาะ มังคุด สะตอ ลองกองโดยเฉพาะเงาะ ทุเรียน ถือเป็นพืชความหวังใหม่สำหรับเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่การผลิต ประมาณ 10,768 ไร่ พื้นที่การผลิตทุเรียน ประมาณ 5,097 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 2,891 ไร่ ยังไม่ให้ผลผลิต 2,206 ไร่ มีมูลค่าการผลิตไม่น้อยกว่าปีละ 446.46 ล้านบาท

ด้วยลักษณะสภาพภูมิอากาศของจังหวัดที่ไม่ชื้นจนเกินไป แสงแดดที่มีความเข้มแสงสูง และพืชได้รับแสงต่อวันที่ยาวนาน ทุเรียนจึงดูดธาตุอาหารจากดินมาช่วยสังเคราะห์แสงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื้อทุเรียนที่ได้ จึงอุดมไปด้วยธาตุอาหารและวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เกิดเป็นทุเรียนที่มีคุณสมบัติเฉพาะ กล่าวคือ เนื้อทุเรียนแห้งและนุ่มเหนียว เส้นใยละเอียด มีกลิ่นหอมเฉพาะไม่ฉุนมาก รสชาติมันค่อนข้างหวาน ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทุเรียนทั้งภายในและต่างประเทศ จึงอาจกล่าวได้ว่า “ทุเรียนศรีสะเกษ เป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย”

“จากสถานการณ์การผลิตและการตลาดในช่วง 8 ปี ที่ผ่านมา ทุเรียนศรีสะเกษมีราคาค่อนข้างสูง จากข้อมูล ด้านการตลาด ที่เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตให้กลุ่มผู้ส่งออกได้ในราคาที่สูง เฉลี่ยพื้นที่การผลิตทุเรียน 10 – 15 ไร่ จะสามารถจำหน่ายได้ในช่วงระหว่าง 1.7 – 3.3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นรายรับที่เกษตรกรพอใจอย่างมาก เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่าพืชชนิดอื่นๆ เนื่องจากคุณสมบัติเด่นของแหล่งผลิตที่ปลูกในบริเวณพื้นที่ภูเขาไฟโบราณ แถบเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นดินที่ผุพังมาจากหินบะซอลต์ ดินจึงมีลักษณะเหนียวสีแดง ระบายน้ำดีมาก มีธาตุอาหารชนิดต่างๆ ที่จำเป็นต่อพืชในปริมาณสูง และเกษตรกรใช้น้ำใต้ดินที่มีความลึกมากกว่า 50-100 เมตร ในการให้น้ำผลไม้ จึงส่งผลให้ได้รับแร่ธาตุครบถ้วน ผลผลิตที่ได้จึงมีรสชาติดี”

สำหรับพื้นที่ที่ปลูกมาก ได้แก่ บริเวณ อ.กันทรลักษ์ และ อ.ขุนหาญ ซึ่งดินเกิดจากการสลายตัวของหินบาซอลท์ หินแอนดีไซด์ มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการปลูกไม้ผล และที่สำคัญมีปริมาณธาตุกำมะถันอยู่ในดินโดยธรรมชาติ จึงส่งผลให้ทุเรียนมีความกรอบ มัน มากกว่าความหวาน จึงอร่อยถูกปาก และความเอาใจใส่ของเกษตรกรที่มุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพจึงทำให้ “ทุเรียนศรีสะเกษ อร่อยที่สุด” แห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่ หมอนทอง และก้านยาว ”

ปัจจุบันผลผลิตทุเรียนศรีสะเกษ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ผลผลิตปีที่ผ่านมาไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ตลอดจนการประชาสัมพันธ์เชิงรุกที่ต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้ได้กำหนดจัดงาน “เทศกาลเงาะ-ทุเรียน ศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 16-25 มิถุนายน 2560 ณ บริเวณสวนปาล์มวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ โดยจะมีเกษตรกรมาออกร้านจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรกว่า 90 ราย ผลผลิตกว่า 2,000 ตัน , สินค้าของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร/กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสินค้า OTOP ของจังหวัดศรีสะเกษจำนวน 150 ราย , สินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ที่คัดสรรคุณภาพการจากทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด และร้านจำหน่ายสินค้าคุณภาพดี และหาซื้อได้ยาก จากประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน

นอกจากนี้ยังมีการประกวดผลผลิตทางการเกษตร , การประกวดสัตว์เศรษฐกิจ ,การประกวดวงดนตรี/การประกวดร้องเพลง และงานเสนาด้านการเกษตร คลุมทุกประเด็นการพัฒนาทางการเกษตร ทั้งด้านพืช ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง ครบทั้ง 10 วัน, การจัดแสดงนิทรรศการด้านการเกษตร โดยเป็นการจัดแสดงนิทรรศการแบบมีชีวิตเน้นให้เห็นของจริง ทั้งต้นพืช สัตว์ และประมง รวมทั้งเครื่องจักรกลการเกษตร และนวัตกรรมต่างๆ , การจัดแสดงสินค้าของภาคเอกชน ได้แก่ ผู้จำหน่ายรถยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร และกิจกรรมภาคบันเทิงเพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งในปีนี้กำหนดให้จัดการแสดงให้มีความเหมาะต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งกิจกรรมภาคกลางวัน และกลางคืน