ข้าวสาลี…เงินล้าน โภชนาการสูง ปลูกง่าย รายได้ดี

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก. พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย กรมการข้าว, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่) ร่วมกันทำโครงการวิจัย การพัฒนาการผลิตธัญพืชเมืองหนาวเป็นพืชหลังนา เพื่อการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรภาคเหนือตอนบน เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ภาคเหนือ และส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศไทย ผลักดันและเพิ่มมูลค่า ให้ “ธัญพืช” หรือ ข้าวสาลี พืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ที่เป็นทั้งแหล่งพลังงานจากการรับประทาน และแปรรูปได้หลากหลาย ไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหารและสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด…ธัญพืชอาหารแห่งอนาคต

ในประเทศไทยมีการนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากข้าวสาลีเป็นธัญพืชเมืองหนาว ที่มีบทบาทไม่น้อยต่อชีวิตประจำวันของคนไทย ทำให้สถิติการนำเข้าของข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลีในแต่ละปีมีมูลค่าเพิ่มขึ้น มีการนำเข้าข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลีปริมาณ 1,035,798 ตัน คิดเป็นมูลค่า 11,003 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2560 และ 838,737 ตัน คิดเป็นมูลค่า 13,511 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2561 (สถิติการค้าสินค้าเกษตรไทยกับต่างประเทศ, 2561) ข้าวสาลีจึงเป็นพืชทางเลือกที่มีศักยภาพในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี การวิจัยนี้จึงได้รับการสนับสนุนทุน จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. มาตั้งแต่ปี 2563-2565 เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่และพัฒนากระบวนการวิจัยและรวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กล่าวว่า “ในโครงการวิจัยธัญพืชเมืองหนาว ภายใต้แนวคิด ธัญพืชอาหารแห่งอนาคตนี้ ได้มีการนำ BCG Model มาประยุกต์ใช้ในห่วงโซ่การผลิตธัญพืชเมืองหนาว ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ ไปพร้อมกัน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ได้ผลผลิตที่สูง (จากเดิม 150-250 กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากเสร็จสิ้นโครงการวิจัย 450-550 กิโลกรัมต่อไร่) การพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการด้านเมล็ดพันธุ์ข้าวสาลี, สองเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากการพัฒนาหลอดดูดธรรมชาติที่ผ่านมาตรฐานการพัฒนาการผลิตช่อดอกข้าวสาลี การพัฒนาการผลิต Wheat Grass ชนิดน้ำและผง การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีและธัญพืชเมืองหนาว (หมั่นโถ, wheat grass, น้ำนมข้าวสาลี, ผลิตภัณฑ์กราโนล่า เป็นต้น และสุดท้ายคือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ด้วยการพัฒนาการผลิตแบบไม่ใช้สารเคมี และการผลิตแบบอินทรีย์ รวมไปถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบเชิงนิเวศทางการเกษตร Eco Agrotourism ในชุมชนเขต ป่าบงเปียง, สะเมิง, แม่แตง ฯลฯ

ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา หนึ่งในทีมวิจัย สังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นหัวหน้าโครงการ กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการวิจัย “ธัญพืช” หรือ ข้าวสาลี ที่เชื่อมโยงและส่งเสริมพื้นที่ให้เป็น Eco Agrotourism ว่า “ธัญพืช เป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชุมชนในเขตภาคเหนือตอนบนหรือล้านนา เป็นแหล่งอาหารที่มีทั้งคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน ธัญพืชส่วนใหญ่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงมีศักยภาพในการวิจัยพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง รวมไปถึงการส่งเสริมให้มีการแปรรูปเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน โดยเราเลือกที่ชุมชนบ้านป่าบงเปียง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านของชาวปกากะญอ ที่ทำอาชีพปลูกข้าวโพด และข้าวซึ่งการปลูกข้าวสาลีของที่นี่จะปลูกแบบขั้นบันไดสวยงาม เมื่อมาผนวกกับทิวทัศน์ที่อยู่โดยรอบ มีหมอกบางๆ บรรยากาศดีๆ ยามเช้า กลายเป็นสถานที่ที่ใครหลายคนก็อยากมาเที่ยวชม”

โครงสร้างเศรษฐกิจของเขตภาคเหนือตอนบน ขับเคลื่อนโดยภาคบริการและภาคเกษตร ซึ่งภาคเกษตร (ส่วนมากเป็นพืช) คิดเป็น 26% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม สภาพแวดล้อมที่เขตภาคเหนือตอนบนของประเทศสามารถปลูกธัญพืชเหล่านี้ได้ แต่สภาพตลาดที่ยังไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง ทำให้กำลังการผลิตในประเทศลดลง ความพยายามพัฒนาเพื่อผลักดันจังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นเอกลักษณ์แห่งล้านนา ให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเหนือจึงเกิดขึ้น

ภาคเหนือโดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่ปลูกข้าวสาลีหรือข้าวที่เป็นธัญพืชได้ดีที่สุด อีกทั้งเกษตรกรมีความคิดที่ค่อนข้างสมัยใหม่ พื้นที่มีศักยภาพ จึงต้องมีการส่งเสริมที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ความน่าสนใจของพืช มีความหลากหลายทางพันธุกรรม มีคุณค่าสูง มีความสวยงาม ลำต้นแข็งแรง เราต้องศึกษาว่าแบบไหนตรงใจผู้ใช้ประโยชน์และผู้ประกอบการ ต้องปลูกแบบเปรียบเทียบพันธุ์ ปลูกแบบให้รู้ว่าในช่วงไหนจะได้ผลผลิตดีที่สุด ในแต่ละพื้นที่ก็ยังต้องมาเทียบกันอีกว่า เหมาะกับเทคนิคที่ใช้หรือไม่ ต้องส่งเสริมการผลิตให้ตรงความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อไปสู่การแปรรูปที่หลากหลาย เช่น แป้งขนมปัง แป้งเค้ก ขนมปังแผ่น โรตี คุกกี้ บะหมี่ มักกะโรนี สปาเกตตี อาหารเด็กอ่อน เกิดการแปรรูปจากข้าวสาลีงอก น้ำคั้นต้นข้าวสาลีอ่อน มอลต์ข้าวสาลี หรือชาจากต้นอ่อนของข้าวสาลี รวมถึงลำต้นที่แข็งแรงของข้าวสาลี สามารถนำไปผลิตเป็นหลอดดูดแบบย่อยสลายได้” ดร.สุรพล กล่าว

กลไกการพัฒนาธัญพืชอาหารแห่งอนาคต สู่เป้าหมาย เริ่มดำเนินการภายใต้ความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม ทั้งหน่วยงานราชการ เกษตรกร และภาคเอกชน โดยกระบวนการการวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) โดยภาคเอกชนเป็นผู้กำหนดความต้องการข้าวสาลีที่มีคุณลักษณะเฉพาะแต่ละอุตสาหกรรม ภาคราชการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม พร้อมเทคโนโลยีการผลิตและเมล็ดพันธุ์ตามความต้องการของตลาด เกษตรกรผลิตข้าวสาลีตามสายพันธุ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและยกระดับเทคโนโลยีการผลิตตามข้อแนะนำของหน่วยราชการ ทำให้เกิดผลสำเร็จในการยกระดับอุตสาหกรรมธัญพืชเมืองหนาว ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ที่มีศักยภาพการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

เมื่อพัฒนาคุณภาพแล้วมีตลาดรองรับราคาดี มีความต้องการของผู้บริโภคที่รักสุขภาพสูง  โครงการวิจัย การพัฒนาการผลิตธัญพืชเมืองหนาวเป็นพืชหลังนา เพื่อการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรภาคเหนือตอนบน จึงเป็นการการส่งเสริมการผลิตธัญพืชของล้านนา ที่เชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่ การผลิต การแปรรูป และการตลาดเข้าด้วยกัน ไปสู่แนวคิด ธัญพืชอาหารแห่งอนาคต อย่างลงตัว สามารถเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้อย่างแท้จริง…

ติดตามแนวคิดงานวิจัย ธัญพืชอาหารแห่งอนาคต และผลงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจ และการพัฒนาผลงานวิจัยต่างๆ และทุนวิจัยได้ที่เว็บไซต์ สวก. https://www.arda.or.th/