เผยแพร่ |
---|
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัย ภายใต้งบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ปีงบประมาณ 2564 แผนงานวิจัยความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของประเทศไทย เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศ ด้วย FFC Thailand หรือ Foods with Function Claims ระบบทางเลือกของการรับรองการกล่าวอ้างเชิงหน้าที่ด้วยตนเองในสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เพื่อก้าวไปสู่บทบาทหนึ่งในผู้ผลิตอาหารในตลาดโลก
ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวถึงความสำคัญของ FFC Thailand และแนวทางการขับเคลื่อน รวมทั้งการรับรอง FFC และประโยชน์ที่จะได้รับว่า
“FFC Thailand หรือ Foods with Function Cliams คือ ระบบการรับรองปริมาณสารสำคัญ ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งจะเป็นระบบการรับรองได้ทั้งในผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ FFC Thailand คือ ระบบรับรองการกล่าวอ้างเชิงสุขภาพในสินค้าเกษตรและอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ในรูปแบบออนไลน์ ปิดช่องว่างและอุปสรรคเชิงนิเวศ และอำนวยความสะดวกให้นักวิจัยและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลเกณฑ์และแนวทางรับผิดชอบด้านคุณภาพและความปลอดภัยตามกฎหมายและกฎระเบียบของ อย. โดยผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลของความปลอดภัยและงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้บริโภค FFC มีระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ท้องตลาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์
ซึ่งในเรื่องการจัดการนั้นเป็นการสร้างมูลค่าตลอดห่วงโซ่อยู่ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอยู่แล้ว สวก. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทุนวิจัยเพื่อการพัฒนา ได้ให้ทุนสนับสนุนในการทำวิจัยมูลค่าด้านอาหารและโภชนาการของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายเกษตรและอาหารของประเทศ ผ่านคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรหลักของประเทศในการบูรณาการเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารในมิติต่างๆ การทำงานครั้งนี้เป็นการพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทาน เรียกได้ว่าเป็นการรับรองตั้งแต่กระบวนการผลิตซึ่งเป็นต้นน้ำ ส่วนกลางน้ำ คือกระบวนการแปรรูปนอกจากผู้ประกอบการได้รับวัตถุดิบชั้นดี ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว ผู้ประกอบการยังมีข้อมูลการรับรองหรือข้อบ่งชี้สารสำคัญต่างๆ ของวัตถุดิบ ทำให้ง่ายต่อการวางแผนการแปรรูปและการตลาด ในส่วนของปลายน้ำหรือผู้บริโภคจะได้รับข้อมูลการบริโภคที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ ความปลอดภัยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งประเทศไทยได้นำ Model ตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการรับรอง FFC Thailand หรือ Foods with Function Cliams”
ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร จึงเป็นหนึ่งใน Growth Engine หลัก (S-Curve) ที่ส่งผลกระทบต่อประชากรจำนวนมากเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ให้พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (MIT) การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรภาคการเกษตรในรูปแบบ Soft power และปลดล็อกข้อจำกัดในการพัฒนาธุรกิจเกษตรและอาหารมูลค่าสูงอย่างเป็นขั้นตอน สอดคล้องกับการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ BCG จึงเป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมการเพิ่มมูลค่าภาคการเกษตรของไทยอย่างยั่งยืน โดยเน้นที่คุณค่าและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารและการเกษตร เพิ่มและกระจายรายได้สู่เกษตรกรโดยตรง โดยไม่จำกัดอยู่กับกลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง
ดร.สุวิทย์ ยังได้ขยายความถึงสินค้าเกษตรและอาหารมูลค่าสูง ที่กำลังมีการผลักดันเพื่อให้เกิดเป็น Model ตัวอย่าง อีกว่า
“ในประเทศญี่ปุ่นมีการรับรองผลิตภัณฑ์แล้ว 5,300 รายการ แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งเริ่มมีการศึกษา Model นี้ประเทศไทยมีกรณีตัวอย่างมี 2 ตัวอย่าง คือ ขมิ้นชัน และข้าวสี จากการศึกษาขมิ้นชันกว่า 30 สายพันธุ์ เราได้ขมิ้นชันสายพันธุ์ลักษณะดี 14 สายพันธุ์ มีเคอร์คิวมินนอยด์สูงถึงร้อยละ 10-12 ซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ร้อยละ 5-7 และมีอีก 1 ชุมชนที่คือ บ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สามารถปลูกขมิ้นชันแล้วมีสารเคอร์คิวมินนอยด์ร้อยละ 15 ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งปลูกที่มีสารเคอร์คิวมินนอยด์ที่สูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบการประกอบอาหารแล้ว คนไทยยังใช้ขมิ้นชันเป็นยาในการดูแลสุขภาพ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และลดคอเลสเตอรอลในเลือด
ส่วนข้าวสีหรือข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ที่เมล็ดข้าวมีสี ในกรณีตัวอย่างเราได้ศึกษาข้าวเหนียวลืมผัว ข้าวสังข์หยด ข้าวก่ำ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า ข้าวเหล่านี้มีสาระสำคัญอะไรบ้าง คุณประโยชน์ต่อสุขภาพมีอะไรบ้าง และในส่วนของข้าวเรายังศึกษาต่อไปถึงกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น การนำไปสกัดเป็นน้ำมันรำข้าวแล้วได้สารสำคัญอะไร มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างไร อันนี้เป็นแค่ตัวอย่าง ในความเป็นจริงเราพยายามผลักดันการศึกษาไปยังพืชผัก ผลไม้ พืชสวน พืชไร่ อื่นๆ อีกด้วย”
ทางด้าน ผศ.ณัชชารีย์ ทวีหิรัญรัฐกิจ ตัวแทนเกษตรกรกลุ่มเพาะปลูกขมิ้นอินทรีย์เขาวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เผยมุมมองว่า ระบบ FFC Thailand จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรนำสินค้าไปสู่ตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น
“ปัจจุบัน ผู้บริโภคหันมาใส่ใจและสนใจเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทำให้การเลือกซื้อสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับเกษตร เกิดความระมัดระวัง ใส่ใจเพิ่มขึ้น การที่เรามีระบบ FFC Thailand จะช่วยทำให้เกษตรกรเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ามีมาตรฐานสูงขึ้น เพราะมีส่วนที่ขยายความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณของสินค้านั้น ช่วยทำให้การตัดสินใจง่ายขึ้น สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และที่สำคัญช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับเรื่องสื่อชวนเชื่อที่ผิดๆ การที่เกษตรกรนำสินค้าเข้าระบบ FFC Thailand ทำให้เกิดประโยชน์และเปิดโอกาสให้สินค้าไทย ไปสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้นด้วย”
ส่วนตัวแทนผู้ประกอบการ นายภัทรพงษ์ พลเสน ซีอีโอ จากบริษัท ไบโอเมดอินโนเวชั่น จำกัด เผยถึงประโยชน์ที่มีต่อผลิตภัณฑ์จากมาตรฐานของวัตถุดิบที่นำมาแปรรูป และการได้รับการรับรอง FFC Thailand ว่า
“การที่เกษตรกรนำสินค้าเข้าระบบ FFC Thailand เป็นขั้นตอนที่นำสินค้าเพิ่มมูลค่าจากต้นน้ำคือเกษตรกร มาสู่ปลายน้ำให้กับผู้ประกอบการอย่างเราได้เป็นอย่างดี เมื่อเราได้สินค้าเกษตรมา ถ้ามี FFC รองรับบอกคุณสมบัติ สรรพคุณต่างๆ ทำให้เรานำข้อมูลต่างๆ จากวัตถุดิบที่ถูกรับรองมาพัฒนาได้สะดวกมากขึ้น อย่างสินค้าเรานำข้าวมาเป็นวัตถุดิบหลักในการทำเครื่องดื่ม พอรู้สารสำคัญของพืชคือธาตุเหล็กเราสามารถส่งให้นักวิจัยพัฒนาและคำนวณออกมาเป็นสินค้าที่ดีมีประโยชน์ ที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับจากการบริโภค อย่างถูกต้องและแม่นยำ เพิ่มความเชื่อมั่นได้มากขึ้นจากการรับรองนี้”
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) พร้อมผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น เพราะนี่คือโครงการที่ให้ประโยชน์ครบ ทั้งการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยซึ่งเป็นผู้บริโภค ส่งเสริมผู้ผลิต ส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทยยกระดับขึ้นไปแบบยั่งยืนอีกด้วย
ติดตามแนวคิดงานวิจัยที่มีคุณภาพ ผลงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจ และการพัฒนา หรือทุนวิจัยต่างๆ ได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) โทรศัพท์ 02-579-7435 หรือเข้าไปที่ เว็บไซต์ www.arda.or.th อีเมล [email protected]