เข้าพรรษา ตักบาตรดอกไม้ที่วัดโพธิ์

เมื่อฝนเริ่มโปรยปราย แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยก็ย่างเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัว พุทธศาสนิกชนทั้งหลายทราบดีว่างานบุญ “เทศกาลเข้าพรรษา” กำลังจะเริ่มขึ้นในช่วงหน้าฝนนี้ ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ที่พระสงฆ์ทุกรูปจะต้องอยู่จำพรรษาที่วัด

พระเทพวีราภรณ์ (สีนวล ปัญญาวชิโร) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ท่าเตียน เขตพระนคร กรุงเทพฯ ถ่ายทอดเรื่องราวที่เกี่ยวกับเทศกาลเข้าพรรษาอย่างน่าสนใจว่า เมื่อฝนเริ่มมา ก็จะเข้าสู่ช่วงเข้าพรรษา พระสงฆ์ทุกรูปจะต้องจำพรรษาอยู่ที่วัด 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ พระสงฆ์จะไปนอนค้างแรมที่ไหนไม่ได้ จึงถือเป็นโอกาสอันสำคัญในรอบปี ที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษารวมกันภายในวัดหรือพระอาราม เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะสงฆ์ด้วยกัน

“สำหรับฆราวาส ในช่วงเข้าพรรษา ถือเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชนจะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัด ทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีลเจริญภาวนา งดเว้นอบายมุข และสิ่งที่พิเศษซึ่งต่างจากวันสำคัญอื่นๆ คือ มีการถวายเทียนพรรษา ซึ่งวัดหลายแห่งจะจัดประเพณีการหล่อเทียนพรรษาขึ้นและนำเทียนที่หล่อนี้ไป ถวายเพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้จุดบูชาพระประธานในพระอุโบสถตลอดระยะเวลา 3 เดือน จึงถือเป็นงานบุญครั้งใหญ่ที่ชาวพุทธ ทั้งหลายต้องเข้าร่วม” พระเทพวีราภรณ์กล่าว

วัดพระเชตุพนฯหรือวัดโพธิ์ พระอารามหลวงชั้นเอก วัดที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยละชาวต่างประเทศต่างมุ่งหวังที่จะมาเยือน ซึ่งในแต่ละปีที่วัดโพธิ์แห่งนี้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยือนไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ล้านคน

จากการจัดอันดับสถานที่ท่องเที่ยว ที่น่ามาเยือนของเว็บไซต์ทริปแอดไวเซอร์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแสดงความคิดเห็นเข้ามา ประจำปี 2560 ปรากฏว่าวัดโพธิ์ได้รับการโหวตให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับ 1 ของเมืองไทย อันดับ 4 ของเอเชีย 3 ปีซ้อน ถือเป็นเรื่องน่ายินดีมาก

ในวันเข้าพรรษา ที่จะถึงนี้ วัดพระเชตุพนฯจึงได้จัดกิจกรรมที่สำคัญด้านพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมสำหรับพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้ได้มีโอกาสเข้าวัดทำบุญและร่วมกิจกรรมที่ทางวัดจัดขึ้นในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนนี้ กิจกรรมทางพุทธศาสนาของวัดพระเชตุพนฯที่สำคัญยิ่ง ก็คือกิจกรรม “หล่อเทียนพรรษา” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในช่วงวันเข้าพรรษา

“ในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่ใกล้จะถึงนี้ วัดได้จัดพิธีหล่อเทียนพรรษา โดยพุทธศาสนานิกชนที่สนใจ สามารถเข้ามาร่วมหล่อเทียนพรรษา ได้ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม และในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้จะมีพิธีเปิดงาน ส่วนวันที่ 8 กรกฎาคม จะมีพิธีเปิดกิจกรรมการประกวดต่างๆ เกี่ยวกับเทศกาลเข้าพรรษาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ดังนั้น นักเรียน ประชาชนทั่วไป โรงเรียน หรือหน่วยงานใดต่างๆ สนใจที่จะเข้าร่วมประกวด สามารถติดต่อหรือสมัครได้ โดยเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่ www.watpho.com หรือ จะโทรศัทพ์มาสอบถามได้ที่สำนักงานวัดพระเชตุพนฯ โทรศัพท์ 0-2226-0335 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ไม่ว่าจะเป็นการจัดประกวดโต๊ะหมู่บูชา การประกวดบรรยายธรรม การแข่งขันตอบปัญหาทางพระพุทะศาสนา การประกวดโคมแขวนดอกไม้ประดิษฐ์หรือการสวดมนต์หมู่ทำนองสรภัญญะ ส่วนในวันที่ 9 กรกฎาคม ในช่วงเวลา 12.00 น.จะมีพิธีตักบาตรดอกไม้ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งวัดได้จัดสืบทอดกันมาทุกปี” พระเทพวีราภรณ์กล่าว

สำหรับประเพณีตักบาตรดอกไม้ เป็นประเพณีที่เห็นได้ไม่บ่อยนักในกรุงเทพฯ ประเพณีนี้ มีตำนานมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยมีเรื่องเล่าว่า นายสุมนมาลาการ เป็นชาวเมืองราชคฤห์ มีหน้าที่นำดอกมะลิไปถวายพระเจ้าพิมพิสารวันละ 8 ทะนาน ทุกวัน เช้าวันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังถือดอกไม้จะเข้าประตูเมือง เป็นเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เขาเห็นพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงถวายดอกไม้ด้วยดอกไม้ที่จะนำไปถวายพระราชา โดยมีความคิดว่าแม้จะต้องตายด้วยโทษประหารก็ยอม ชาวเมืองทราบดังนั้นจึงพาการโห่ร้องสรรเสริญเป็นอันมาก มีเพียงภรรยาของเขาที่ไม่พอใจ ภรรยาจึงนำความนั้นไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร แต่พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน นอกจากจะไม่โกรธแล้ว ยังนำความนี้กราบทูลพระพุทธเจ้าอีกที พระพุทธเจ้าได้กล่าวสรรเสริญนายสุมนมาลาการ

ทำให้นายสุมนมาลาการได้รับของพระราชทานจากพระเจ้าพิมพิสารถึง 8 ชนิด คือ ช้าง ม้า ทาส ทาสี เครื่องประดับ นารี อย่างละแปด ทรัพย์อีก 8 พันกหาปณะ และบ้านส่วยอีก 8 ตำบล

เมื่อกลับถึงวัด พระอานนท์ได้ทูลถามถึงผลบุญที่นายสุมนมาลาการจะพึงได้รับ พระพุทธองค์ตรัสว่า นายสุมนมาลาการได้สละชีวิตบูชาพระองค์ในครั้งนี้จักไม่ได้ไปเกิดในนรกตลอดแสนกัลป์ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จเข้าพระคันธกุฏี ดอกไม้เหล่านั้นจึงตกลงที่ประตูกุฎีนั้นแล

ตกเย็นวันนั้นพวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรม เรื่องการบูชาพระพุทธเจ้าของนายสุมนมาลาการ แล้วได้รับของพระราชทาน 8 อย่างจากพระเจ้าพิมพิสาร พระพุทธองค์เสด็จมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุคคลทำกรรมใดแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง เป็นผู้เอิบอิ่ม มีความสุขใจ นั่นแหละเรียกว่ากรรมดี”

นายสุมนมาลาการเป็นอุบาสกที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พุทธศาสนิกชนท่านได้เสียสละชีวิตเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า นั่นคือ สละชีวิตเพื่อทำความดี รักษาความดีเอาไว้ แม้ชีวิตจะหาไม่ก็ตาม จึงเป็นบุคคลที่ควรยกย่องและเป็นแบบอย่างได้ นับแต่นั้นมานายมาลาการก็อยู่อย่างร่มเย็นปราศจากทุกข์ใดทั้งปวง ด้วยอานิสงส์ของการนำดอกมะลิบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแทนการตักบาตร

จากอานิสงส์ดังกล่าวแต่ครั้งพุทธกาล ชาวพุทธทั่วไปจึงถือเป็นประเพณี “ตักบาตรดอกไม้” เป็นประจำทุกปี ตลอดจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

ญาติโยมท่านใดสนใจก็สามารถเข้าร่วมงานได้ตั้งแต่การหล่อเทียนพรรษา การสวดมนต์-ฟังธรรม

หรือจะร่วมชมผลงานของเด็กๆ ที่เข้าร่วมการประกวดในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเขาทำกิจกรรมดีๆ ในการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้เจริญยิ่งขึ้นสืบไป

ที่มา  : สกู๊ปประชาชื่น  มติชนรายวัน