เผยแพร่ |
---|
ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม เพราะมีจำนวนประชากรในภาคเกษตร โดยเฉพาะด้านการเพาะปลูก ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ดังนั้นการพัฒนาการเกษตรจึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะความรู้และความเข้าใจในการใช้ปัจจัยการผลิต หรือ ‘ปุ๋ยเคมี’
โอกาสครบรอบ 50 ปี สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย จึงจัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ ‘อดีต ปัจจุบัน อนาคต’ การใช้ปุ๋ยเคมีของประเทศไทย’ ขึ้น ที่ห้องประชุม Vector Club อาคารสามย่านมิตรทาวน์ ชั้น 7 เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืน จากผลผลิตที่ได้รับจากการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างถูกต้องและถูกวิธี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างสูงสุด
ผศ. อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์ ผู้ทรงคุณวุฒิภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เล่าว่า ประเทศไทยรู้จักปุ๋ยเคมีครั้งแรก ตอนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อปี 2450 โดยพระองค์ได้นำปุ๋ยแคลเซียมไนเตรต จำนวน 1 ตัน เข้ามาในสยาม และเริ่มทดลองใช้ แต่ก็ยังไม่แพร่หลายอย่างทุกวันนี้ เนื่องจากยุคแรกๆ บ้านเราทำการเกษตรแบบ ‘วนเกษตร’ เป็นระบบเกษตรกรรมที่ทำเพื่อการยังชีพ ก่อนจะขยับมาเป็น ‘เกษตรผสมผสาน’ หรือเกษตรพอเพียง
ต่อมาเมื่อเมืองขยายใหญ่ขึ้น ความต้องการบริโภคของคนก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงทำให้มีระบบการเกษตรที่เรียกว่า ‘เกษตรเชิงเดี่ยว’ หรือ การทำเกษตรกรรมโดยการปลูกพืชชนิดเดียวเป็นจำนวนมากๆ ซึ่งการทำแบบนี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลให้พืชมีโอกาสถูกแมลงทำลายสูง ดังนั้น เพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้น เกษตรกรจำเป็นต้องใช้สารสารเคมีเข้ามาร่วมด้วย
“ปัจจุบันผู้คนตระหนักถึงปัญหาการตกค้างของสารเคมีในผักผลไม้มากขึ้น การทำเกษตรกรรมในรูปแบบ ‘เกษตรปลอดภัย (GAP)’ หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม และ ‘เกษตรอินทรีย์’ หรือทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี จึงได้รับความสนใจมากขึ้น” ผศ. อรรถศิษฐ์ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร. ศุภชัย อำคา อาจารย์ประจำภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยเขาเขตกำแพงแสน กล่าวเสริมประเด็นข้างต้นว่า แม้การทำเกษตรอินทรีย์จะเป็นวิถีที่ดีและปลอดภัย แต่การจะทำให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานตามเกษตรอินทรีย์สากลนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้เงิน เวลา และความอดทนสูง ถ้าเกษตรกรคนใดอยากเปลี่ยนจากการทำเกษตรเคมีเป็นเกษตรปลอดสาร แนะนำให้ทำแบบเกษตรปลอดภัย หรือที่เรียกกันว่า การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เกษตรกรทุกคนสามารถทำได้
“การทำเกษตรปลอดภัย เป็นระบบการผลิตที่มีการดูแล ป้องกัน และลดความเสียหาย หรือหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีที่ใช้ทางการเกษตร ตั้งแต่ขบวนการผลิตไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อทำให้ได้พืชผักมีคุณภาพ ไม่มีสารพิษตกค้าง หรือตกค้างอยู่ในระดับต่ำ แต่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทั้งยังเป็นระบบที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบอีกด้วย” ผศ.ดร. ศุภชัย กล่าว
ส่วน ผศ. อรรถศิษฐ์ ก็ย้ำด้วยว่า การทำเกษตรปลอดภัยนอกจากได้ผลผลิตดี ใช้สารเคมีต่างๆ น้อยแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ อันเนื่องมาจากถ้าหากเกษตรกรรู้จัก ‘วิเคราะห์ดิน’ ก็จะทำให้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ และปัญหาของดินในพื้นที่นั้นๆ ก็จะสามารถใส่ปุ๋ย บำรุงดิน เลือกชนิดพันธุ์พืช รวมทั้งการใช้วัสดุหรือสารปรับปรุงดินอย่างอื่นได้ตามคำแนะนำอย่างเหมาะสม ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเกินจำเป็น ไม่ต้องเสียเมล็ดพันธุ์พืชไปแบบฟรีๆ
ขณะที่ นายวชิรศักดิ์ อรรจนานนท์ เหรัญญิกและประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตรไทย เล่าถึงตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัยและสินค้าเกษตรอินทรีย์ว่า ในปี 2560-2563 ตลาดอาหารและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ถือได้ว่าเติบโตได้ดี มีการขยายตัวถึง 33% ในพืชจำพวก ข้าว มังคุด ทุเรียน และคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการขยายไปถึง 40% ต่อปีทีเดียว
แต่หากมองลึกลงไป จะพบว่าแม้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์จะมีมูลค่าสูงถึง 500 กว่าล้านบาท แต่ปริมาณของการขายไม่ได้มาก และคิดเป็นเพียง 5% ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดเท่านั้นเอง
“ถามว่าสุดท้ายแล้ว ผู้บริโภครับได้มากน้อยแค่ไหนกับราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่อาจแพงกว่าสินค้าเกษตรรูปแบบอื่นๆ รวมถึงมีช่องทางการจำหน่ายไม่หลากหลายเท่าที่ควร ฉะนั้นถ้าจะมองหาระบบการเกษตรที่เหมาะกับประเทศไทยในขณะนี้ การทำเกษตรปลอดภัยถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะต้นทุนในการผลิตไม่สูง ส่งผลให้ราคาสินค้าไม่แพงตามไปด้วย” นายวชิรศักดิ์
มาถึงตรงนี้ก็พอจะบอกได้ว่า เกษตรปลอดภัย ถือเป็นเกษตรกรรมที่เหมาะสมเข้ากับในประเทศไทยในขณะนี้ก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นแนวทางในการทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ด คุณภาพดี และปลอดภัยจากสารพิษหรือสารปนเปื้อน ตามมาตรฐานที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติกำหนด โดยขบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีและไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ผศ. อรรถศิษฐ์ ได้บอกบนเวทีเสวนาว่า การที่เราจะใช้ปุ๋ยเคมีให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ นอกจากการวิเคราะห์ดิน เพื่อให้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว การใช้ปุ๋ยอย่างเข้าใจก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยมีหลักการง่ายๆ คือใส่ปุ๋ยให้ถูกชนิด ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกตำแหน่ง
สิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพให้ปุ๋ยเคมีนั้น ผศ.ดร. ศุภชัย อธิบายว่า การพัฒนาปุ๋ยในปัจจุบัน คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ปุ๋ย หรือการใช้สารเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ย (EEF) เป็นการทำให้ธาตุอาหารพืชที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมีมีการสูญเสียน้อยที่สุด หรือที่รู้จักกันในนามปุ๋ยละลายช้า หรือ ปุ๋ยควบคุมการละลาย
ยกตัวอย่าง ‘ยูเรีย’ นับว่าเป็นปุ๋ยที่รู้จักกันดีในวงการเกษตร เนื่องจากมีปริมาณไนโตรเจนสูง และมีบทบาทต่อการเจริญเติบโตของพืช มีลักษณะเป็นของแข็ง สีขาว ไม่มีกลิ่น และละลายน้ำได้ดี ซึ่งการเปลี่ยนสภาพได้ดีแบบนี้เอง ที่ทำให้บางครั้งพืชไม่ได้รับสารอาหารได้อย่างเต็มเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น กระบวนการพัฒนาปุ๋ยเคมีในปัจจุบันจึงเน้นไปที่การคงประสิทธิภาพของปุ๋ยหรือเกิดการสูญเสียของปุ๋ยน้อยที่สุด ผ่านการพัฒนากลไกทางกายภาพ กลไกทางเคมี รวมถึงการใช้ผลทางชีวภาพมาช่วยให้ปุ๋ยเคมีละลายได้ช้าลง ก็จะช่วยให้พืชได้รับสารอาหารเหมาะสมและสม่ำเสมอ นอกจากนั้น ยังมีข้อดีในแง่สิ่งแวดล้อม เพราะช่วยลดปริมาณสารเคมีที่ถูกชะล้างจากแหล่งเพาะปลูกลงไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติด้วย
งาน ‘อดีต ปัจจุบัน อนาคต’ การใช้ปุ๋ยเคมีของประเทศไทย’ ที่จัดโดย สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย นับเป็นงานเสวนาที่ช่วยให้หลายคนเข้าใจปุ๋ยเคมีมากขึ้น เพราะแท้จริงแล้วเคมีไม่ใช่สารพิษ แต่เป็นธาตุอาหารสำคัญของพืชที่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้ภาคการเกษตรไทย เพียงแต่ต้องใช้ให้ถูกวิธีและเหมาะสม จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด