เผยแพร่ |
---|
ก้าวสู่ปี 2566 หลังจากที่สถานการณ์โลกเริ่มคลี่คลาย และภาคธุรกิจต่าง ๆ เริ่มกลับมาฟื้นตัวและมีการขยับขยายเติบโตกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความท้าทายใหม่ของธุรกิจที่ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ภายหลังจากการเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นั่นหมายถึง ภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SME จะต้องมีการปรับตัว ปรับแผน ปรับกลยุทธ์เพื่อให้สามารถอยู่รอดในท่ามกลางเทรนด์หรือกระแสใหม่ ๆ ที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว และมีการใช้นวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจกันเพิ่มมากขึ้น
การขายสินค้าให้ประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบันจึงอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่เพียงแค่มีทุนหว่านเม็ดเงินโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าอีกต่อไป เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือ การสร้างแบรนด์ให้มีตัวตนเป็นที่จดจำ และได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค
“ กู๋แมธธ์ ” สุวิทย์ เอื้อศักดิ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบรนด์ แมทเทอร์ แพลน จำกัด ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญการพัฒนากลยุทธ์แบรนด์และการตลาด ผู้มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ในการสร้างแบรนด์ดังมามากกว่า 150 แบรนด์ กล่าวถึงแนวคิดที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในยุคปัจจุบันควรให้ความสำคัญมากกว่าการสร้างแบรนด์ที่เน้นการทำโฆษณาและออกแบบโลโก้ คือ การให้ความสำคัญกับการทำวิจัยตลาด เพื่อให้รู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย และเลือกวางกลยุทธ์การทำตลาดได้อย่างเหมาะสม หรือที่เรียกกันว่า การทำ “แบรนด์เก็ตติ้ง” (Brand + Marketing) เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันจะมีความภักดีต่อแบรนด์น้อยลง เพราะมีทางเลือกหรือคู่แข่งมากขึ้น ขณะที่สินค้าที่ทำออกมาก็มีความหลากหลายและสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้นด้วย
แบรนด์เก็ตติ้ง…แนวทางใหม่ของการสร้างแบรนด์ที่ตอบโจทย์ตลาด
การสร้างแบรนด์นั้น สิ่งสำคัญคือการทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์มีความเห็นอกเห็นใจ โดยแบรนด์จะต้องเรียนรู้ว่าลูกค้าของตัวเองนั้นมีกี่ pain point ซึ่งการทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าในยุคนี้จะมีทิศทางเป็นการทำตลาดแบบรายบุคคล หรือ individual มากขึ้น ซึ่งแบรนด์จะต้องมีการทำวิจัยเพื่อค้นหาและทำความรู้จักกับพฤติกรรมของลูกค้าตัวเองให้มากขึ้น เพื่อหาแนวทางเชื่อมโยง Branding กับ Marketing และ Persona เข้าด้วยกัน หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าการทำ Brandketing ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ใหม่สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในปี 2566 เป็นการนำเอาข้อมูลในการคิดวิเคราะห์ หรือเทรนด์ของการคิดกลยุทธ์มาใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค แล้วเอาแบรนด์เข้ามาครอบ เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืน แต่จะเป็นความยั่งยืนยาวนานแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับตัวของแบรนด์ และคู่แข่งนั่นเอง
“เมื่อไรก็ตามที่แบรนด์เราเป็น leader คนอื่นหรือ new comer ก็มองเราอยู่ และไม่มีใครมองแบรนด์ที่อยู่ในฐานะต่ำกว่าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแบรนด์จะต้องวิเคราะห์ brand benchmark ให้เป็น หมายถึง การมองแบรนด์ที่เราต้องการแข่งขันเป็นคู่เทียบ และอย่ารู้แค่เพียงผิวเผิน การทำ brandketing จึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ประกอบการต้องมีความคิดสร้างสรรค์ โดยมองไปที่ inside ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ นั่นหมายความว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องพยายามเป็นผู้นำเทรนด์ แต่จะต้องเข้าใจและค้นหาความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเราให้เจอ แบรนด์จึงต้องให้ความสำคัญในการสื่อสารกับกลุ่มคนที่มีรสนิยมเดียวกันก่อน ไม่ใช่กับกลุ่มคนทั่วไปที่ทำให้ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากในการสร้างแบรนด์ให้มีตัวตน”
“ กู๋แมธธ์ ” ยังให้ทัศนะอีกว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในบ้านเราส่วนมากยังไม่เข้าใจว่าการทำพีอาร์ (Public Relations) หรือการสื่อสารไปยังสาธารณชนคืออะไร เพราะส่วนใหญ่มักมองว่าการทำพีอาร์ คือการจัดงานอีเว้นท์ เป็นการแสดงออกของการทำตลาด หรือการจ้างบล็อกเกอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากมาเป็นกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์สินค้า โดยลืมคิดไปว่า กลุ่มผู้ติดตามบล็อกเกอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นอาจจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของแบรนด์ ทั้งที่จริงแล้วหากมีการวิจัยและตลาดและมีความเข้าใจวิธีการที่ถูกต้อง การทำพีอาร์จะเป็นตัวทุ่นแรงที่ดีมาก เพราะถือเป็นกระบอกเสียงใหญ่ที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมได้มากกว่า ซึ่งผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจในกลไกของการพีอาร์ก่อนว่าจะไม่ได้ช่วยในเรื่องยอดขาย แต่จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ หรือเรียกว่าเป็นการ up level ของ brand image เพราะในการสื่อสารนั้นจะผ่านการกลั่นกรอง จึงทำให้เนื้อหาหรือข่าวสารที่สื่อออกไปนั้น กลายเป็นตัวบอกวิสัยทัศน์ของแบรนด์ด้วย
สร้างแบรนด์อย่างไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ทิศทางของการพัฒนาแบรนด์ในปี 2566 “กู๋แมธธ์ ” เผยว่าจะต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อให้แบรนด์มีความเป็น personal life มากขึ้น เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายจะมีความชัดเจนและเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น คนวัย 20 ปี เมื่อเทียบกับคนวัย 21 ปี จะพบว่ามีความต้องการ หรือมุมมองที่แตกต่างกันแล้ว นอกจากการสร้างแบรนด์ให้แบรนด์มีตัวตน และมีความเป็น personal life มากขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็ง เพื่อทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าเพราะรักในแบรนด์ ไม่ใช่ซื้อเพราะกลยุทธ์ราคา ซึ่งจะทำให้สินค้าของถูกวางตำแหน่งเพื่อเปรียบเทียบไปตลอด ในขณะที่การสร้างแบรนด์ให้มีตัวตนด้วยการสร้างคุณค่าของแบรนด์ โดยให้สามารถตอบสนอง “อรรถประโยชน์” คือ สามารถใช้งานได้ดีตามราคา (ถูกหลักการตลาด) หรือใช้ดีได้มากกว่าราคา (ถูกหลักแบรนดิ้ง) ก็จะทำให้เกิด “การยอมรับ” จากลูกค้าเพิ่มมากขึ้น จนในที่สุดจะกลายเป็น “ค่านิยม” ในขณะเดียวกันหากสินค้าไม่ตอบสนองความต้องการ ใช้ไม่ได้ผลดี ก็จะทำให้เกิด “ไวรัล” คือการบอกต่อในแง่ลบ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับแบรนด์ตามมานั่นเอง ปัจจุบันเนื่องจากมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหน้าใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหล่าคนตัวเล็กเหล่านี้ถือเป็นต้นกล้าสำคัญที่จะเติบโตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต
ดังนั้น การเติมความรู้ในเรื่องของการสร้างแบรนด์ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งล่าสุด “กู๋แมธธ์ ” เอง ก็ได้จัดกิจกรรมตอบแทนสังคม “31 St Brand Day ” เปิดบ้านต้อนรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจอยากเติมความรู้เพื่อการพัฒนาแบรนด์ให้เข้มแข็งและยั่งยืน ในหลักสูตรแนะแนวการพัฒนาแบรนด์เบื้องต้น โดยการอบรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายในแบบ onsite วันละ 4 แบรนด์ โดยหนึ่งแบรนด์มีหนึ่งสิทธิ์ อบรมได้หนึ่งครั้ง ลงซ้ำไม่ได้ เริ่มเปิดอบรม 31 มกราคม นี้ ไปจนถึงเดือนมีนาคม ซึ่งมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก