เผยแพร่ |
---|
นายปรีชา สายแสง เกษตรจังหวัดสระบุรี ได้ลงพื้นที่แปลงใหญ่อ้อยโรงงานตำบลลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อเยี่ยมชมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตอ้อย และกระบวนการผลิตที่เน้นลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต รวมไปถึงการลดการเผาอ้อยในช่วงการเก็บเกี่ยว และการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง โดยมีสมาชิกแปลงใหญ่ ร่วมให้ข้อมูลจำนวนมาก
เกษตรจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยเกษตรจังหวัดสระบุรี และเกษตรอำเภอมวกเหล็ก ได้ให้การสนับสนุนกระบวนการผลิตอ้อย ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแปลงใหญ่ 5 ด้าน ประกอบด้วย การลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพ การตลาด และการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิต จะเน้นให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยี หรือเครื่องจักรแทนการใช้แรงงานคน โดยเครื่องจักรและเทคโนโลยีส่วนใหญ่ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด จำนวน 3 ล้านบาท เช่น การไถ หรือ การเตรียมดิน จะใช้รถไถในการตรียมดิน การให้ปุ๋ยจะใช้เครื่องหยอดปุ๋ย การกำจัดแมลง หรือ ศัตรูของอ้อย จะใช้สารชีวภัณฑ์ การพ่นสารเคมี จะใช้โดรนเข้าช่วยเพื่อให้ทั่วถึงและประหยัดเวลาในการดำเนินการ
นอกจากนี้ยังมีการให้น้ำในแปลงอ้อยด้วยระบบน้ำหยดผ่านระบบโซล่าเซลล์ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นการให้น้ำได้อย่างทั่วถึงและประหยัด ลดการใช้แรงงานคน สามารถเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ได้จำนวนมาก จากเดิมได้ผลผลิตประมาณ 8-9 ตันต่อไร่ ปัจจุบันได้ 20 ตันต่อไร่ เนื่องจากต้นอ้อยได้รับน้ำอย่างทั่วถึงทำให้เจริญเติบโตได้ดี โดยเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอ ได้ขยายผลการใช้นวัตกรรมและเครื่องจักรต่างๆ สู่เกษตรกรผู้ปลูกพืชชนิดอื่นๆ เพื่อให้ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตอันนำไปสู่ผลผลิตที่มีคุณภาพต่อไป ส่วนการรณรงค์ให้ลดการเผาอ้อยนั้น จะใช้วิธีเชื่อมโยงกับโรงงานน้ำตาลที่รับซื้ออ้อยคุณภาพ หรือรับซื้ออ้อยที่ไม่มีการเผา และให้ความรู้ในการนำเศษวัสดุจากใบอ้อยไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ รวมถึงชี้ให้เห็นโทษของการเผาอ้อยที่จะสร้างมลพิษทางอากาศด้วย ทำให้ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยลดการเผาอ้อยจำนวนมาก
ด้านนายบัณฑิต ผลวาวแวว เกษตรตำบลลำพญากลาง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อำเภอมวกเหล็ก มีพื้นที่ทั้งหมด 511,460 ไร่ พื้นที่การเกษตร 216,609 ไร่ พืชเศรษฐกิจสำคัญคือ อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง พื้นที่ปลูกอ้อย มีจำนวน 56,157 ไร่ ตำบลลำพญากลาง มีพื้นที่ปลูกอ้อยถึง 18,961 ไร่ เป็นพื้นที่มากที่สุดในอำเภอมวกเหล็ก
ขณะที่นายวิชัย เปาวิมาน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลำพญากลาง ในฐานะประธานแปลงใหญ่อ้อยโรงงานตำบลลำพญากลาง กล่าวว่า ได้รวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่อ้อยโรงงานตำบลลำพญากลาง ในปี 2559 มีเกษตรกรเข้าร่วม จำนวน 49 คน พื้นที่ปลูก 1,523 ไร่ มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้สนับสนุนเงินทุนซื้อเครื่องจักรและเทคโนโลยีต่างๆ สนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ เพื่อให้ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสนับสนุนด้านการตลาด ต่อมาในปี 2561 ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอ้อยแปลงใหญ่ฝายซับตะกอง และในปี 2564 ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในชื่อบริษัท อ้อยและพืชผลทางการเกษตรลำพญา จำกัด ทุนจดทะเบียนจำนวน 1,000,000 บาท โดยมีการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาแปลงใหญ่ให้มีความเข้มแข็ง ในเรื่องต่าง ๆ ประกอบด้วย 1.วิเคราะห์และประเมินศักยภาพกลุ่ม 2.ขับเคลื่อนการดำเนินงาน และ3.สรุปผลการทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแปลงใหญ่ ด้วยการบริหารจัดการที่ชัดเจน มีคณะกรรมการ 15 ราย ในการดูแลตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์ทุกชนิด มีตรวจสอบเรื่องบัญชี และการเงิน อย่างรัดกุม พร้อมบริหารจัดการผลกำไร และปันผลให้สมาชิกตามจำนวนหุ้นทุกปี
ประธานแปลงใหญ่อ้อยโรงงานตำบลลำพญากลาง กล่าวอีกว่า การใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรต่าง ๆ ตามที่ได้รับการสนับสนุนส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย สามารถลดต้นการผลิตได้จำนวนมาก ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงบำรุงดิน จากเดิมใช้แรงงานคน มีต้นทุนอยู่ที่ 1,250 บาทต่อไร่ ลดลงเหลือ 825 บาทต่อไร่ หรือลดลงร้อยละ 44 คิดเป็นมูลค่า 645,000 บาท 2.การบำรุงรักษาตออ้อยและกำจัดวัชพืช ซึ่งสามารถลดการใช้ท่อนพันธุ์ จากเดิมเกษตรกรสมาชิกปลูก 1 ครั้ง จะตัดได้ 3 ปี เมื่อใช้นวัตกรรมสามารถยืดอายุการตัดเป็น 5-6 ปีต่อการปลูก 1 ครั้ง และลดค่าแรงงานในการกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ย และลดการใช้ท่อนพันธุ์ร้อยละ 35 คิดเป็นมูลค่า 2,800,000 บาท และ 3. การพัฒนาคุณภาพ การที่เกษตรกรสมาชิก ไม่มีการเผาอ้อยก่อนส่งโรงงาน ทำให้อ้อยมีคุณภาพ และการเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 120 บาทต่อตัน และจะมีการพัฒนาต่อยอดให้สมาชิกได้รับรองมาตรฐาน GAP ทั้งหมด ในปี 2567
นางสาววรวรรณ เปาวิมาน ผู้จัดการแปลงใหญ่อ้อยโรงงานตำบลลำพญากลาง กล่าวเสริมว่า ข้อแตกต่างที่เห็นชัดระหว่างการใช้เทคโนโลยีกับการทำแปลงอ้อยแบบเก่า คือต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ลดลง โดยจะให้เกษตรกรสมาชิกสามารถเช่าเครื่องจักรและเครื่องมือต่างๆ ประมาณ 9 รายการ 20 ชิ้น ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด เพื่อนำไปใช้ในแปลงอ้อยของตัวเอง คิดค่าบริการเป็นรายชิ้นต่อวัน จำกัดอยู่ที่ 3 วันต่อ 1 คน ทำให้ต้นทุนถูกกว่าการใช้บริการในท้องตลาด เมื่อต้นทุนถูกลงสมาชิกก็ได้กำไรจากการเก็บเกี่ยวมากขึ้น
“การลดต้นทุนที่สำคัญอีกอย่างคือการดูแลรักษาตออ้อย เช่น การไม่เผาอ้อยก่อนตัดหรือเก็บเกี่ยว จะทำให้ตออ้อยสามารถเจริญเติบโตได้ดี เพราะธาตุอาหารบนดินไม่สูญหายไปกับการเผา ประกอบกับการให้น้ำ และให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ทำให้เกษตรกรสามารถลดค่าปุ๋ยได้จำนวนมาก เพราะไม่ได้ให้ปุ๋ยทั่วทั้งแปลง แต่ให้เฉพาะส่วนที่ขาดธาตุอาหาร และการไถกลบใบอ้อยและวัชพืชก็ทำให้เกิดการเปื่อยเน่ากลายเป็นธาตุอาหารได้อีกทางหนึ่ง ทำให้การทำแปลงอ้อยสมัยใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ในกระบวนการผลิต ได้ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพกว่าการทำอ้อยแบบเก่าที่เน้นการเผาเป็นหลักได้อย่างชัดเจน” ผู้จัดการแปลงใหญ่อ้อยโรงงานตำบลลำพญากลาง กล่าว