เผยแพร่ |
---|
ข้อมูลคาดการณ์ผลไม้ไทย ปี 2566 ระบุว่าจะมีปริมาณผลผลิตรวม 6.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน โดยช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตออกมากถึง 71% ช่วงตั้งแต่เมษายน เรื่อยไปถึงสิงหาคม เริ่มที่ มะม่วง ปลูกในภาคกลางและอีสาน ผลผลิตกว่า 33% ออกสู่ตลาดในเมษายน ตามด้วยผลผลิตในภาคเหนือ ผลผลิต 29% ออกมากช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน ขณะที่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ภาคตะวันออก 44% ของผลผลิตเก็บเกี่ยวตั้งแต่เมษายน-มิถุนายน ต่อด้วยภาคใต้ 45% ของผลผลิตเก็บเกี่ยวมิถุนายน-สิงหาคม ช่วงเดียวกันนี้ ลิ้นจี่ ภาคเหนือประมาณ 89% จะเก็บเกี่ยวพฤษภาคม-มิถุนายน พร้อมกับสับปะรด ภาคตะวันออกและภาคกลาง 29% ของผลผลิตเก็บเกี่ยวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ตามด้วย ลองกอง ภาคตะวันออก 1 ใน 4 ของผลผลิตเก็บช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม ก่อนที่ภาคเหนือและภาคใต้จะเก็บเกี่ยวตั้งแต่กันยายนเป็นต้นไป สำหรับ ลำไย เริ่มตลาดที่ภาคเหนือ เก็บเกี่ยวมากสุดช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ตบท้ายภาคตะวันออกในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งทั้ง 8 ชนิดเป็นผลไม้หลักขึ้นชื่อของเมืองไทย
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า ผลไม้หน้าร้อนของไทยส่วนใหญ่เกิน 70% จะออกในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปี อีกทั้งมีความคาบเกี่ยวกันทั้งพื้นที่เพาะปลูกและชนิดของผลไม้ที่ถึงเวลาต้องเก็บเกี่ยวพอดี แม้ในปี 2566 นี้ มีหลายปัจจัยเอื้อต่อผลไม้ไทย ขายได้มากขึ้น หลังการเปิดประเทศทั่วโลก เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย จำนวนคนเดินทางและท่องเที่ยวทั่วโลกพุ่งพรวด อีกทั้ง ปัญหาด่านปิด เส้นทางขนส่งติดขัด ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพราะตู้ทางบกกลับมาไม่ทัน ค่าระวางเรือสูง เป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ไขจนปัญหาหลักๆ คลี่คลายแล้วในวันนี้ บวกกับกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้า 22 มาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ดูแลตั้งแต่การผลิต การตลาดในประเทศ ต่างประเทศ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ได้ส่งผลดีหลายด้าน คือบริโภคในประเทศขยายตัว ส่งออกสูงขึ้นซึ่งปี 2566 มีเป้าหมายส่งออกไม่น้อยกว่า 4.44 ล้านตัน มูลค่ากว่า 2.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ในแง่ปริมาณและมูลค่า สุดท้ายผลดีตกไปถึงรายได้เกษตรกรที่มากขึ้น และราคาผลไม้ไทยหลายชนิดทำราคาสูงสุด โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองและมังคุด
รองอธิบดี ระบุอีกว่า มาตรการหนึ่งที่กรมการค้าภายในเน้นมากคือ การรักษาเสถียรภาพราคา ซึ่งต้องยอมรับว่าหน้าร้อน 4-5 เดือน จะมีผลผลิตผลไม้ชนิดต่างๆ ออกมาช่วงเวลาซ้ำซ้อนกัน หากบริการจัดการไม่ดีพอ จะเกิดการล้นตลาดและราคาตกต่ำ ดังนั้น ที่กรมการค้าภายในทำมาตลอดและยังทำต่อเนื่องคือ การนำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อในราคานำตลาด และดูดซับปริมาณผลผลิตในปริมาณที่เหมาะสม เฉลี่ยครั้งละ 10% ของผลผลิตที่ออกในช่วงนั้นๆ พร้อมกับหาจุดจำหน่ายผลไม้ที่รับซื้อกับเกษตรกรโดยตรง ผ่านหลากหลายช่องทาง ทั้งค้าปลีก-ค้าส่ง สถานีบริการน้ำมัน รถโมบาย ตลาดสด-ตลาดชุมชน โรงงานแปรรูป และผู้ส่งออก การเข้าไปกระตุกตลาดช่วงแรก วิธีการแบบนี้ ทำให้ประคองราคาในช่วงผลผลิตออกตลาดมากๆ พร้อมกันในทุกพื้นที่ เช่น มังคุดคละ ภาคตะวันออกวันนี้ ดันราคาแตะ 100-140 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อผลผลิตภาคใต้ที่จะออกมา ก็จะได้รับอานิสงส์ในราคาที่ใกล้เคียงกัน
“ปี 2566 นี้ ไม่แค่เป็นปีทองของตลาดผลไม้ไทย แต่เป็นปีที่เกษตรกรพอใจและประทับใจกับการบริหารจัดการผลไม้ ภาพรวมราคาผลไม้ไทยปีนี้ดีกว่าปีก่อนเฉลี่ย 20-40% เรื่องนี้ยังส่งต่อเนื่องให้เกษตรกรมั่นใจว่ารัฐเตรียมพร้อมเข้าไปดูแล เมื่อเบาใจทำให้สู่การเพาะปลูกผลไม้ที่มีคุณภาพดีขึ้นๆ หลายสินค้าปีนี้ แม้ตกเกรด ราคารับซื้อก็ยังสูงกว่าปีก่อน ต้องชมเกษตรกรผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพดี ดังนั้น ไม่ว่าจะแล้งหรือฝนชุก กรมก็มีแผนรองรับ ผลไม้เป็นสินค้าอ่อนไหว สามารถมีปัญหาได้ตลอดเวลาและรวดเร็วด้วย จึงต้องเฝ้าระวัง” นายกรนิจ กล่าว
ที่ผ่านมา กรมการค้าภายใน ร่วมมือกับผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐ เพื่อผลักดันมาตรการดูแลผลไม้เชิงรุก อาทิ ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ นำ 10 ผู้ประกอบการ ประกอบด้วย บริษัท เอ็ม ที ฟรุ๊ตแลนด์ จำกัด บริษัท มาตา เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท นานา ฟรุ๊ต จำกัด บริษัท สตูดิโอ จีบาร์ จำกัด และบริษัท มิสเตอร์ฟรุ๊ตตี้ จำกัด ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง เช่น แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี เดอะมอลล์ และท็อปส์ สถานีให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น พีที และบางจาก ลงพื้นที่เพาะปลูกเข้าทำสัญญารับซื้อล่วงหน้า ผลผลิตมะม่วงแฟนซี 4 สายพันธุ์ R2E2 จินหวง งาช้างแดง แดงจักรพรรดิ์ จากเกษตรกร 6 กลุ่ม ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน รวมปริมาณ 39,800 ตัน สร้างมูลค่า 458 ล้านบาท ซึ่งผลผลิตที่รับซื้อไป ส่วนหนึ่งนำไปแปรรูปและจำหน่ายผ่านช่องของผู้ประกอบการเอง อีกส่วนหนึ่งนำไปแจกเป็นของสมนาคุณให้กับผู้เติมน้ำมันในสถานีพีที บางจาก เซลล์ รวม 1,000 สถานีทั่วประเทศ อีกทั้งนำผู้ประกอบการและโรงลำไยอบแห้ง เข้ารับซื้อลำไยในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน รวม 145,000 ตัน ลิ้นจี่ 3,000 ตัน
นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้ร่วมลงพื้นที่ติดตามการรับซื้อผลผลิตมะม่วงแฟนซี 4 สายพันธุ์ ออกมาระบุว่า ตัวแทนเกษตรกรได้ให้ความชื่นชมและขอบคุณกรมการค้าภายใน และจังหวัด แทนพี่น้องเกษตรกรที่เข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่ต้นฤดูกาลส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ผลจากการที่กรมการค้าภายในนำผู้ประกอบการเข้าไปช่วยรับซื้อมะม่วง ทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้คุ้มต้นทุน ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าห่อ และค่าแรง ส่งผลให้ปัจจุบันราคามะม่วงน้ำดอกไม้เชียงใหม่ อยู่ที่ 30-40 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าปีที่ผ่านมาราคา 12-25 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 89% มะม่วงแฟนซี อยู่ที่ 10-12 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่ราคา 5-10 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 47% ผลไม้ชนิดอื่นก็ไม่น้อยหน้า อย่างราคาทุเรียนเกรด AB รับซื้อ 195-210 บาทต่อกิโลกรัม แม้เกรด D รับซื้อ 130-150 บาทต่อกิโลกรัม ดีกว่าปีก่อนมาก มังคุดเกรดมันรวม รับซื้อ 160-174 บาทต่อกิโลกรัม เงาะ (โรงเรียน) รับซื้อ 42-45 บาท ต่อกิโลกรัม เงาะสีทองเกรดส่งออก รับซื้อ 48-50 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้ นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ใช้มาตรการ “อมก๋อยโมเดล” เข้าไปช่วยเหลือมังคุดภาคตะวันออก โดยนำผู้ประกอบการ 8 ราย ด้านค้าปลีกค้าส่ง ผู้ประกอบการรับซื้อและจำหน่าย และตลาดสด เข้าไปทำสัญญาซื้อมังคุดล็อตสุดท้าย จากกลุ่มเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีและตราด รวม 12 กลุ่มใน 7 อำเภอ สร้างหลักประกันรายได้ให้ชาวสวน 8,500 ตัน ช่วยให้ผู้ประกอบการมีหลักประกันว่ามีสินค้าไปจำหน่าย และช่วยเกษตรกรขายผลผลิตแน่นอน ที่สำคัญขายได้ราคาดี สะท้อนจากราคามังคุดอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยมังคุดเกรดส่งออก (มันรวม) ราคา 170-200 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นราคาสูงสุดและทำสถิติเป็นประวัติศาสตร์อีกครั้ง ส่วนเกรดกลาย ราคา 110-160 บาทต่อกิโลกรัม เกรดคละ 100-150 บาท/กก สำหรับสถานการณ์ราคาผลไม้ชนิดอื่นในภาคตะวันออก พบว่า ทุเรียนเกรดส่งออก (AB) ราคา 180-210 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าปีก่อนที่ราคา 140-150 บาท ทุเรียนเกรด C ราคา 140-165 บาทต่อกิโลกรัม เงาะโรงเรียน 35-38 บาทต่อกิโลกรัม
“กระทรวงพาณิชย์ ยังเดินหน้าคลายล็อกอุปสรรคต่างๆ ควบคู่ไปด้วย อย่างปัญหาการขนส่งทางบก กรมการค้าภายในประสานกรมเจ้าท่าในการผ่อนผันให้เรือใหญ่เกิน 300 เมตร แต่ไม่เกิน 400 เมตรเข้ามาเทียบท่า ทำให้มีจำนวนเรือและตู้สินค้าเพียงพอ เกิดการแข่งขันค่าระวางอีกครั้ง ดีต่อต้นทุนและส่งออกได้มากขึ้น ล่าสุด นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เดินทางไปหารือผู้บริหารด่านติดชายแดนไทยกับลาวและเวียดนาม เพื่อเปิดตลาดจีน ยิ่งทำให้ผลไม้ทางบก มีความราบรื่นขึ้น” นายวัฒนศักดิ์ กล่าว
กรมการค้าภายใน ยืนยันไม่แค่ผลไม้ ที่ใช้มาตรการเชิงรุก พืชผักอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม พริก หรือมะนาว แค่มีสัญญาณว่าจะเกิดปัญหา ก็จะเข้าชาร์จทันที