เผยแพร่ |
---|
ผอ.กทท. บี้เอกชนก่อสร้างแหลมฉบังเฟส 3 ต้องส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดในปี 2569 หลังโครงการก่อสร้างดำเนินงานล่าช้า
ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 หลังจากการดำเนินการล่าช้า ล่าสุด นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า โครงการนี้มีวงเงินลงทุน 114,046 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน คิดเป็นสัดส่วนเอกชน 47% การท่าเรือฯ 53% ซึ่งโครงการนี้สรรหาเอกชนมาร่วมลงทุนตั้งแต่ปี 2562 โดยเป็นการพัฒนาในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี
กทท. ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างทางทะเล ร่วมกับกิจการร่วมค้า CNNC ประกอบด้วย บริษัท เอ็น ที แอล มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน) โดย กทท. ได้แจ้งเริ่มทำงานเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 สิ้นสุดสัญญาในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 รวม 1,460 วัน
แต่ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การก่อสร้างของโครงการล่าช้า เช่น ปัญหาการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ วิศวกรผู้ชำนาญการ รวมถึงแรงงาน ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ทำให้การก่อสร้างไม่สามารถเป็นไปตามแผนการทำงานเดิมและเกิดความล่าช้า
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ภาครัฐได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบตามมาตรการกรมบัญชีกลาง เช่น การแก้ไขสัญญาและแนวทางการปรับแผนการทำงานใหม่ โดยแผนการทำงานใหม่มีผลเริ่มใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยกิจการร่วมค้าฯ ดำเนินงานก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่ถมทะเลส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 เรียบร้อยแล้ว
ส่วนพื้นที่ถมทะเลส่วนที่ 3 มีกำหนดส่งมอบภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2567 และกำหนดแล้วเสร็จในส่วนที่ 1 ส่วนงานก่อสร้างงานทางทะเล ในวันที่ 29 มิถุนายน 2569 ค่าโครงการรวม 21,320 ล้านบาท โดยจะส่งมอบพื้นที่ F1 โครงการให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญา (บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด : GPC) ได้ภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2568 ตามสัญญา เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการท่าเรือท่าแรก (F1) ได้ภายในปี 2570
ขณะที่ภาพรวมโครงการ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ตามแผนงานจะต้องทำงานให้ได้ 15.13% แต่เอกชนทำโครงการมอบให้โครงการ 13.26% มีความล่าช้าจากแผน 1.87%
ส่วนกรณีที่สเปคค่าความหนาแน่นสัมพัทธ์ของทรายถมที่ไม่ตรงกัน ระหว่างสัญญา กทท. กับกลุ่ม CNNC และสัญญา กทท. ที่ส่งมอบ ให้กลุ่ม GPC ขณะนี้ได้มีการหารือร่วมกัน กับคณะบริหารสัญญาฯ EEC – อัยการ – คมนาคม – กทท. แล้วโดยที่ปรึกษาเสนอว่า จะใช้เทคนิค PRE-LOADING ซึ่งที่ปรึกษาออกแบบ คาดว่า จะใช้ค่าก่อสร้างเพิ่มประมาณ 600 ล้านบาท โดยใช้เวลาเพิ่มประมาณ 8-12 เดือน ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่จะส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่ม GPC ที่กำหนดในพฤศจิกายน 2568
ส่วนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือว่าจะเป็นฝ่ายใด แต่ระหว่างที่แถลงข่าว ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ขอให้เอกชนยืนยันว่า จะสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามเป้า
น.ส.ลัลลิฬา จิตร์สม ผู้อำนวยการโครงการร่วมพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 กิจการร่วมค้า CNNC กล่าวว่า มั่นใจว่า ส่วนที่ 1 จะส่งมอบตรงตามเวลา กำหนดส่งมอบพื้นที่ทั้งโครงการในวันที่ 29 มิถุนายน 2569
ส่วนที่ผ่านมา ก่อนมาตรการช่วยเหลือโควิด ที่ค่าปรับเป็น 0% นั้น กลุ่ม CNNC ถูกปรับในกรณีก่อสร้างล่าช้า ใน KEY DATE 1-3 ซึ่งส่งผลต่อสภาพคล่องของเอกชนจะมีผลต่อความสำเร็จตามแผนงานใหม่หรือไม่ น.ส.ลัลลิฬา กล่าวยืนยันว่า ที่ผ่านมา ถูก กทท. ปรับรวมกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งมาตรการช่วยเหลือโควิด-19 ไม่ครอบคลุม
ขณะนี้ กลุ่ม CNNC ได้ทำหนังสือผ่านคณะกรรมการตรวจการจ้างเพื่อขอให้พิจารณารับสิทธิ์ยกเว้น ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงาน
พร้อมยืนยันว่า กรณีดังกล่าวไม่มีผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทเนื่องจากมีกลุ่มผู้ร่วมทุนที่สามารถระดมทุนเข้ามาดำเนินการให้งานแล้วเสร็จตามแผนได้
รายงานข่าวจากการท่าเรือแห่ง ประเทศไทย ระบุว่า หากหลังจากนี้ หากเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป มีเงื่อนไขว่า 1. หากผลงานไม่ถึง 25% ของวงเงินตามสัญญา โดยในเดือนมิถุนายน 2567ต้องได้ตามแผน 37.7% 2. มีผลงานรายเดือน ไม่ถึง 50% ของแผนใหม่ และมีผลงานสะสมไว้ถึง 50% ของวงเงินตามสัญญา ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 มีผลงานสะสมไม่ถึง 65% ของวงเงินตามสัญญา ก็จะถูกบอกเลิกสัญญาตาม ว.1459