เผยแพร่ |
---|
เชิญร่วมงานครบรอบ “ยนต์ผลดี 74 ปี แห่งประสบการณ์” องค์ประกอบสู่ความสำเร็จในการเป็นผู้ผลิตเครื่องสีข้าวแบรนด์ไทยอันดับหนึ่ง กับภารกิจนานัปการ อันเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมข้าวไทย
เปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว หรือ “โรงเรียนโรงสีแห่งแรก” ของประเทศไทย เนื่องในโอกาสที่บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ ฉลองครบรอบ 74 ปี และจับมือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ใช้เทคโนโลยี UTD RF ทำหมันมอด ปราศจากสารเคมีกำจัดมอดที่ก่อมะเร็งตกค้างอยู่ในข้าวสาร ยกระดับข้าวไทยให้เป็นข้าวที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ในแบรนด์ข้าวตรา “พลังนา” ด้วยแนวทางวิสาหกิจเพื่อสังคม
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ที่บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ ได้จัดพิธีเปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว โดย พลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ดร.วิสูตร จิตสุทธิภากร ประธานกรรมการ บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด เป็นประธานเปิดงาน ร่วมกับนายประสงค์ หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.กานต์ จิตสุทธิภากร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักและอบอุ่นอย่างยิ่ง
รายการ เกษตรช่อง 5 พัฒนาชุมชน วันอาทิตย์ 3 มีนาคม 2567
รับชมย้อนหลัง ทางเพจ
https://www.facebook.com/share/v/5eZ17evEguBraBHD/?mibextid=oFDknk
รับชมย้อนหลัง ทางยูทูบ
https://youtu.be/cW1XfOGc0C4?feature=shared
รู้จัก บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด
โอกาสนี้ พลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความยินดีและชื่นชม บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ที่ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมข้าว ที่มีมาอย่างยาวนาน มาเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์แก่วงการข้าวไทย นั่นคือ การก่อตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว หรือ “โรงเรียนโรงสีแห่งแรกของประเทศไทย” ขึ้น และให้ความสำคัญในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาพัฒนาธุรกิจโรงสีข้าว ด้วยการใช้เทคโนโลยี UTD RF ในการทำหมันมอดในข้าวสาร ทดแทนการรมยาฆ่ามอด ซึ่งถือเป็นการช่วยยกระดับการผลิตข้าวไทยให้เป็นข้าวที่ปลอดภัย ปราศจากสารเคมีกำจัดมอดที่ก่อมะเร็ง จนเกิดเป็นแบรนด์ข้าวตรา “พลังนา” ด้วยแนวทางวิสาหกิจเพื่อสังคมและชุมชน ผมขอชื่นชมจากใจจริง และขอเป็นกำลังใจให้ ผู้บริหารและพนักงาน บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อเกษตรกรและชุมชน เช่นนี้ตลอดไปครับ
ในส่วน ดร.วิสูตร จิตสุทธิภากร ประธานกรรมการ บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด กล่าวว่า ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว หรือ “โรงเรียนโรงสี” จัดตั้งโดย บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรสีข้าวและอุปกรณ์โรงสีข้าว มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการพัฒนาเครื่องจักรสีข้าวโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจโรงสีข้าวให้ทันสมัยอยู่เสมอ ด้วยความรู้และประสบการณ์ ที่มีมานาน 74 ปี ในด้านการสีแปรรูปข้าว อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เล็งเห็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการสีแปรรูปข้าว มีเครื่องจักรและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องมีแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ในการส่งเสริมขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการโรงสี รวมถึงผู้ที่สนใจ จึงได้สร้างหลักสูตร “การบริหารจัดการโรงสีข้าวทันสมัย” สำหรับผู้บริหารโรงสีข้าวเป็นแห่งแรกของประเทศไทยขึ้นมา
ทางด้าน ดร.กานต์ จิตสุทธิภากร ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนั้น มีการดำเนินการสีข้าวสารจำหน่ายในตรา “พลังนา” เพื่อเป็นต้นแบบในธุรกิจโรงสีข้าวในแนวทางวิสาหกิจเพื่อสังคม ด้วยการแบ่งผลกำไรที่ได้จากการสีข้าวมาพัฒนาแหล่งน้ำให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกข้าวด้วยวิธีการเปียกสลับแห้ง ไม่เผาฟาง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้โลกร้อน นอกจากนี้ ข้าว “พลังนา” ทุกเมล็ดจะผ่านกระบวนการกำจัดมอด ด้วยเทคโนโลยี UTD RF เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้าวสารมีความปลอดภัยกับผู้บริโภค ปลอดจากสารเคมีตกค้าง 100% และมุ่งหวังให้เป็นตัวอย่างของโรงสีข้าวที่สามารถดำเนินธุรกิจพร้อมกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันครับ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแถลงข่าวพิธีลงนามความร่วมมือ “การสนับสนุนส่งเสริมศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว” ระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ และบริษัท ยนต์ผลดี จำกัด โดย ดร.กานต์ จิตสุทธิภากร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ในโอกาสครบรอบ 74 ปีนี้ด้วย
โดย รศ.ดร.ปิติวัฒน์ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ มีทั้งสิ้น 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. ร่วมกันดำเนินงานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี UTD RF รวมถึงงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่วมวิจัยพัฒนาระบบกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการใช้งานเชิงพาณิชย์ของโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ในการขยายกำลังการผลิตการกำจัดแมลงด้วยเทคโนโลยี UTD RF จากเดิม 1 ตัน/ชั่วโมง/ยูนิต เป็น 3-5 ตัน/ชั่วโมง/ยูนิต เป็นต้น 2. ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ฯ ให้แก่ผู้ประกอบการโรงสี วิสาหกิจชุมชน และผู้บริโภค 3. ร่วมกันดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องทั้งจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าว รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 4. ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนและประชาสัมพันธ์เทคโนโลยี UTD RF ให้เป็นที่รู้จักแก่กลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง และ 5. ร่วมกันแลกเปลี่ยนการใช้ทรัพยากร บุคลากร เครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ และโครงสร้างพื้นฐาน
ด้าน ดร.กานต์ กล่าวปิดท้ายว่า บริษัทได้ลงนามถ่ายทอดเทคโนโลยีและอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยี เครื่องกำจัดมอดและไข่มอดด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ UTD RF (Uniform Thermal Distribution Radio Frequency) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ในตรา ไบโอ-คิว (BiO-Q) ตั้งแต่ปี 2560 เทคโนโลยี UTD RF นี้สามารถใช้กำจัดมอดและไข่มอดได้อย่างสมบูรณ์ในเมล็ดข้าวสาร ปัจจุบันเครื่องไบโอ-คิวได้รับการพัฒนารูปแบบเครื่องจักรให้มีความเหมาะสมในการใช้งานในโรงสีข้าว และได้นำไปผ่านการทดสอบความปลอดภัยด้านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สวทช. (PTEC) รวมถึงผ่านการขึ้นบัญชีนวัตกรรมของสำนักงบประมาณ และร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเลขที่ มอก.3127-2563 ส่งผลให้ข้าวสารบรรจุถุงมีคุณภาพดี ปราศจากมอดจนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคเรื่องความสะอาด ปราศจากสารเคมีกำจัดมอดที่ก่อมะเร็งตกค้างอยู่ในข้าวสาร
ผู้สนใจเข้ารับการอบรมกับศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (โรงเรียนโรงสี) ซึ่งกำลังเปิดรับสมัครรุ่นที่ 7 อบรมวันที่ 26-28 เมษายน พ.ศ. 2567 (มีค่าใช้จ่าย)
สนใจสมัครอบรม กดลิงก์
https://forms.gle/7JbWBExnK5GZbAfJ9 หรือติดต่อสอบถามได้ที่ บริษัท ยนต์ ผลดี จำกัด https://www.yontpholdee.com/
ติดตามรับชมบรรยากาศสุดประทับใจ ได้ในรายการ “เกษตรช่อง 5 พัฒนาชุมชน” รายการสาระความรู้ด้านการเกษตร งานด้านอาสา สิ่งแวดล้อม และพลังงานสะอาด สนับสนุนโดย ปุ๋ยเรือใบไข่มุกและปุ๋ยรุ่งอรุณสินค้าคุณภาพ จากบริษัทเครือประวิทย์กรุ๊ป ด้วยความปรารถนาดียิ่ง จากบริษัท ยนต์ผลดี จำกัด และ แบรนด์ข้าวตรา “พลังนา” ข้าวสารปลอดยารมมอด ด้วยวิธีการ UTD RF (ทำหมันมอด) ของเกษตรกรนครสวรรค์
ติดต่อประสานงานได้ที่ ผู้ดูแลรายการ “เกษตรช่อง 5 พัฒนาชุมชน” อาจารย์ ดร.เกวลิน ศรีจันทร์ และ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ (อาจารย์แมว) ผู้อำนวยการ ศูนย์ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ อีเมล [email protected]