ห้ามพลาด !!! นวัตกรรมเด่นด้านเกษตร ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560

งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560” (Thailand Research Expo 2017) จัดโดยคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 23 – 27 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ได้จัดแสดงนิทรรศการผลงาน วิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศ มากกว่า 500 ผลงาน ที่มีศักยภาพ สามารถต่อยอดการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายรัฐบาล

สถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศได้จัดมุมนิทรรศการโชว์ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ภายในงานครั้งนี้ กันอย่างคึกคัก โดยผลงานที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงาน ซึ่งเป็นกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน เด็กเยาวชน อาจารย์ ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ได้แก่

เรือไฟฟ้าโซลาร์เซลล์สำหรับเก็บผักตบชวา

“ เรือไฟฟ้าโซลาร์เซลล์สำหรับเก็บผักตบชวา ” ผลงานชิ้นนี้ได้รับความสนใจจาก พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 ” เพราะเรือลำนี้ ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เคยเข้าร่วมโครงการประชารัฐร่วมใจกำจัดผักตบชวาตามนโยบายรัฐบาล ณ บึงขุนทะเล ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานีมาแล้ว เรือไฟฟ้าลำนี้ สามารถเก็บผักตบชวาได้สูงสุดชั่วโมงละ 1 ตัน ทำงานติดต่อกันได้ 5 ชั่วโมงต่อวัน สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ เป็นผลงานของ คุณวิมล พรหมแช่ม อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีไฟฟ้าอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.)

ผศ.ดร.อังคณา ใสเกื้อ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

“ ชีวภัณฑ์กรด 5-อะมิโนลีวูลินิก ” เป็นผลงานของ ผศ.ดร.อังคณา ใสเกื้อ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ชีวภัณฑ์ชนิดใหม่นี้ผลิตจากแบคทีเรียสังเคราะห์แสงด้วยนวัตกรรมการกักเก็บ/ห่อหุ้มสารออกฤทธิ์ให้มีความเสถียร คงทน อยู่ได้นาน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ให้สามารถปลดปล่อยสารได้ระยะเวลายาวนานยิ่งขึ้นและช่วยเร่งการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ ช่วยให้ใบพืชมีสีเขียวเข้ม สีสวย ผลใหญ่ เพิ่มผลผลิต กระตุ้นการแตกผล แตกตา แตกยอด แตกราก แตกดอก กระตุ้นให้พืชมีภูมิต้านทานต่อสภาพแวดล้อมที่กดดัน และยังเพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในลำต้น ราก ใบ ผล และหัว

ผลงานชิ้นนี้ เคยได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) และถ้วยรางวัลชนะเลิศด้านการเกษตร (The Top of Agriculture) ในงาน 2016 Kaohsiung International Inventional and Design EXPO (KIDE 2016) ที่เมืองเกาสง ประเทศไต้หวัน จากผลงานที่เข้าประกวดจากทั่วโลกกว่า 300 ผลงาน คาดว่า สารชีวภัณฑ์ตัวนี้จะมีบทบาทในอุตสาหกรรมการค้าปุ๋ยในอนาคต เพราะช่วยให้พืชเติบโตไว ให้ผลผลิตสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

โชว์ผลงาน เครื่องปั่นไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ

“ พลังงานทดแทนเพื่อชุมชน ” ในปีนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคามได้นำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับพลังงานทดแทน ประกอบด้วย “ เครื่องปั่นไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ และ เครื่องผลิตน้ำร้อนจากพลังงานแสดงอาทิตย์แบบแผ่นเรียบร่วมกับความร้อนทิ้งจากระบบปรับอากาศ และการทำน้ำร้อนแบบเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า รวมทั้ง นวัตกรรมใหม่ “ การสร้างไฟฟ้าจากน้ำ ” หรือ เครื่องสำรองไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิงชนิดเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอนผลิตไฟฟ้าจากน้ำ สำหรับใช้ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึง

โชว์ผลงานเครื่องสำอางจากหนามแดง ( มะม่วงหาวมะนาวโห่ )

“ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ” ในปีนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีได้นำเสนอนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรในชุมชน ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากหนามแดง ( มะม่วงหาวมะนาวโห่ ) “ เดอร์ปาริช” ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมและหนังศรีษะจากพืชสมุนไพรท้องถิ่นอีสาน และ น้ำปลาหวานจากก้างปลาส้ม ฯลฯ

การสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษเหลือกุ้งโรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี ก็ได้นำเสนอนิทรรศการผลงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษเหลือกุ้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยนำเปลือกกุ้งมาอบแห้งและบดเป็นผงสำหรับนำไปแปรรูปเป็นอาหารประเภทเส้นหมี่ ขนมปัง คุ๊กกี้ และเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์

นวัตกรรมปุ๋ยและวัสดุปลูก 6 ชนิด ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

“ นวัตกรรมปุ๋ยและวัสดุปลูก 6 ชนิด ” เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อชุมชนฐานราก ผศ.ดร.จิระ จิตสุภา สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ในปีนี้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เปิดตัวนวัตกรรมปุ๋ยและวัสดุปลูกจำนวน 6 ชนิดประกอบด้วย 1.ปุ๋ยนาโนซิลิคอน เป็นปุ๋ยที่มีอนุภาคขนาดเล็กระดับนาโน ช่วยให้มันสำปะหลังแข็งแรง ต้านทานต่อแมลงศัตรูพืช และมีผลผลิตสูงขึ้น 2. ปุ๋ยสวนดุสิตไบโอกรีน เป็นปุ๋ยชีวภาพที่มีส่วนผสมของแบคทีเรีย มีประสิทธิภาพในย่อยสลายพาราควอท (กรัมม็อกโซน) ช่วยให้พืชแข็งแรง เพิ่มผลผลิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3. ปุ๋ยชีวภาพละลายโพแทสเซียม เป็นปุ๋ยชีวภาพ มีความสามารถในการละลายธาตุโพแทสเซียมในดินดาน ทำให้พืชสามารถดูดไปใช้ได้โดยตรง ช่วยเพิ่มผลผลิต

4. ปุ๋ยเจลบีดควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหาร ช่วยลดการสูญเสียธาตุอาหารหลักในปุ๋ยเมื่อใส่ลงในดิน ทำหน้าที่ควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหาร ทำให้พืชได้รับธาตุอาหารอย่างต่อเนื่อง เพิ่มผลผลิต 5. เม็ดดินเผามวลเบา ใช้เป็นวัสดุสำหรับปลูกพืชหรือคลุมดิน สามารถดูดซับน้ำและปุ๋ยได้ดี ช่วยรักษาความชุ่มชื้นได้ดี 6. เม็ดดินอินทรีย์ เกิดจากการนำกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรมอาหารไปใช้เป็นส่วนผสมของเม็ดดินเผา ใช้เป็นวัสดุสำปรับปลูกพืช หรือคลุมดินคลุมดิน พื้นผิวมีรูพรุน น้ำหนักเบา สามารถดูดซับน้ำและปุ๋ยได้ดี ช่วยรักษาความชุ่มชื้นได้ดี

ผู้สนใจ สามารถแวะชมผลงานนวัตกรรมดังกล่าวได้ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560” ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2560