เผยแพร่ |
---|
ด้วยน้ำพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ก่อกำเนิดเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ได้รับการฟื้นฟูสภาพป่าจนพลิกฟื้นเป็นป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลผลิตจากธรรมชาติ ชาวบ้านที่เคยทุกข์ยากเดือดร้อนก็ลืมตาอ้าปาก และพัฒนาต่อมาเป็นสหกรณ์การเกษตร สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
จากบ้านคำน้ำสร้าง-พื้นที่แห้งแล้งหนองอึ่ง สู่ ‘ป่าชุมชนดงมัน’
ย้อนไปเมื่อปี 2543 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านคำน้ำสร้าง ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ทรงรับทราบถึงปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานราชการให้การช่วยเหลือดูแลราษฎรให้อยู่ดีกินดี
ในคราวเสด็จเดียวกันนี้เอง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำริให้พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่สภาพดินรอบหนองอึ่ง ด้วยการขุดลอกพื้นที่สาธารณประโยชน์หนองอึ่ง ในพื้นที่ตำบลค้อเหนือ ปรับปรุงดินและพื้นที่แห้งแล้งด้วยการปลูกป่าและหญ้าแฝกรวมถึงการฟื้นฟูสภาพป่าโดยรอบหนองอึ่ง พื้นที่ 3,006 ไร่ ให้ราษฎร 7 หมู่บ้านรอบโครงการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์
ปี 2546 จัดตั้งเป็น “ป่าชุมชนดงมัน” สนองพระราชดำริ “ฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูล” โดยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น จังหวัดยโสธร กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงาน กปร. คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ
ผลจากการมีป่าชุมชน ทำให้เกษตรกรมีรายได้หลักที่เกิดขึ้น จากป่ามากมาย เช่น เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไค เห็ดก่อ จินูน จิ้งโก่ง ไข่มดแดง มันป่า โดยเฉพาะ “เห็ดโคนหยวก” ที่มีขนาดของดอกใหญ่และยาวกว่าเห็ดโคนที่อื่นๆ พัฒนาคลังอาหารชุมชนด้วยวิธีการสหกรณ์ ต่อมาชาวชุมชนดงมันได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ให้เป็น “คลังอาหารชุมชน” ด้วยวิธีการสหกรณ์ โดยได้รับการสนับสนุน จากสำนักงานโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร กรมป่าไม้ และสำนักงานสหกรณ์ จังหวัดยโสธร กรมส่งเสริมสหกรณ์
จัดตั้งเป็น “สหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัด” เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2552 โดยมีสมาชิกแรกตั้ง 67 คน ทุนเรือนหุ้นมูลค่า 14,000 บาท ดำเนินกิจการรับซื้อของป่าจากสมาชิกและเกษตรกร เฉลี่ยปีละ 5-6 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3-5 ล้านบาทต่อปี
ปัจจุบันนอกจากเห็ดโคนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แล้วยังมีสารพัดเห็ด และผลผลิตอื่นๆ จากป่าชุมชนดงมันที่นับวันมีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือฟื้นฟูสภาพป่าชุมชนของคนในพื้นที่และหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากป่าดงมันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
ของดีจากป่า พัฒนาเป็น ‘โอท็อป 5 ดาว’
สหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัด ได้นำของป่าที่รับซื้อจากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปมาแปรรูป และจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “วนาทิพย์” สินค้าโอท็อปชุมชนของคนรักษ์ป่า ซึ่งได้รับการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ และได้รับการยกย่องจากจังหวัดยโสธรให้เป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นของจังหวัด และ “รางวัลโอท็อป 5 ดาว” หลายปีติดต่อกันส่งผลให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้สมาชิกองค์กรป่าชุมชน และยังคืนกำไรเพื่อการคุ้มครองดูแลรักษาป่าโดยองค์กรชุมชน ปัจจุบันแบรนด์ “วนาทิพย์” มีผลิตภัณฑ์แปรรูปถึง 6 ชนิด ได้แก่ เห็ดโคนในน้ำเกลือ เห็ดเผาะในน้ำเกลือ แม่เป้งคั่วเกลือ ไข่มดแดง ในน้ำเกลือ เห็ดระโงกในน้ำเกลือ และเห็ดตับเต่าในน้ำเกลือ ในบางฤดูกาลดินฟ้าอากาศเป็นใจออกผลผลิตได้มาก ทำให้มีวัตถุดิบเข้ามามาก อย่างเช่นเห็ดโคนที่จะออกมากในช่วงหน้าฝนเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม สหกรณ์การเกษตรฯ ก็จะนำไปจำหน่าย ณ อาคารที่ทำการสหกรณ์ฯ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันเป็นบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรืองานแสดงสินค้าของหน่วยงานราชการ และร้านอาหารทั่วไป
กิจการแปรรูปอาหารจากป่าชุมชนดงมัน ภายใต้ “สหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัด” เติบโตก้าวหน้าเป็นลำดับ จากจุดเริ่มต้นการฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่หนองอึ่งที่ได้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ของป่า กลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญ
กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังได้นำแนวคิดต้นแบบโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร ขยายผลต่อไปยังพื้นที่โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี และนิคมสหกรณ์ 4 แห่ง ที่มีที่ดินเป็นที่สาธารณประโยชน์อยู่ในชุมชน ขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 15 ไร่ พัฒนาให้เป็นพื้นที่คลังอาหารชุมชนโดยวิธีการบริหารจัดการแบบวิธีการสหกรณ์