กรมส่งเสริมการเกษตร ดันลำไยสู่แปลงใหญ่เกษตรมูลค่าสูง

ลำไย เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ มีพื้นที่ปลูกมากในจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ เป็นพืชที่ส่งออกโดยเฉพาะประเทศจีน เนื่องจากชาวจีนมีความเชื่อว่าลำไยเป็นผลไม้มงคล ตรงกับคำในภาษาจีน หลงเหยียน ที่หมายถึง ตามังกร จึงทำให้ชาวจีนส่วนใหญ่นิยมรับประทาน ปัจจุบันลำไยไทย เผชิญความท้าทายในหลายรูปแบบ ทั้งสภาพการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ แต่ยังมี ‘โอกาส’ ที่สดใสที่ตลาดจีน โจทย์ที่สร้างความท้าทายให้กับลำไยไทยในตลาดจีนคือ เราจะครองการส่งออกอย่างไรให้ยั่งยืน สอดคล้องกับการขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 เกษตรมูลค่าสูง โดยกรมส่งเสริมการเกษตร วางแนวทางให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงานเชิงรุก

นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาลำไยแปลงใหญ่สู่แปลงเกษตรมูลค่าสูง กรมส่งเสริมการเกษตร มีแนวทางให้แปลงวิเคราะห์และประเมินความเหมาะสมทางกายภาพและชีวภาพเพื่อวางแผนการผลิต ศึกษาสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยการเก็บตัวอย่างดินก่อนเริ่มฤดูกาลผลิตจากแปลงลำไย ที่อายุต้นไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อนำไปวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และความต้องการธาตุอาหารของพืช เพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน ศึกษาสภาพความเหมาะสมของแหล่งน้ำที่ใช้ เพื่อประเมินระดับความต้องการน้ำ คุณภาพของน้ำที่ใช้ ตลอดจนวางแผนการใช้น้ำได้อย่างเพียงพอตลอดฤดูกาลผลิต รวมทั้งศึกษาสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลผลิต มีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร และต้องมั่นใจว่าการพัฒนาศักยภาพสินค้าเป้าหมายจะไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อระบบนิเวศธรรมชาติ

นอกจากนี้ ส่งเสริมการผลิตลำไยคุณภาพเพื่อจำหน่ายแบบช่อสด ถ่ายทอดความรู้ โดยนำเทคโนโลยีการผลิตลำไยคุณภาพ มาเพิ่มสัดส่วนของผลผลิตจากลำไยเกรด A เป็นเกรด AA ส่งเสริมการใช้ศัตรูธรรมชาติ และชีวภัณฑ์ในการควบคุมกำจัดศัตรูพืช ทดแทนการใช้สารเคมี รวมถึงพัฒนางานวิจัยและพัฒนาสินค้าเกษตร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตลำไยเกรด AA ในสัดส่วนที่สูงขึ้น เนื่องจากลำไยเกรด AA และเกรด A มีราคาแตกต่างอย่างชัดเจน รวมถึง พัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ลำไย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ลำไยอบแห้ง ลำไยกระป๋อง ลำไยแช่แข็ง และเครื่องสำอาง รวมถึงการส่งเสริมงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่โลจิสติกส์ เช่น กระบวนการกำจัดแมลงศัตรูพืช การคัดบรรจุ และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่า (Value added) ให้กับตัวสินค้าแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์และค่านิยมของลำไยที่มีคุณภาพและความสดใหม่ให้กับผู้บริโภค รวมถึงการรักษามาตรฐานด้านสุขอนามัยในกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพและความปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเรื่องการตรวจพบแมลงศัตรูพืช (เพลี้ยแป้ง) และสารตกค้าง (ซัลเฟอร์)

ขณะนี้เป็นช่วงที่ลำไยให้ผลผลิต ซึ่งคาดว่าปีนี้ปริมาณผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้นำ Model การกระจายผลผลิตลำไยในฤดูกาลมาเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านการตลาดสินค้าเกษตร เพื่อกระจายผลผลิตสินค้าลำไย (ผลผลิตช่อสด) รวมถึงส่งเสริมการผลิตลำไยคุณภาพต่อไป

Advertisement