กรมส่งเสริมการเกษตร ดันแปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ สู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง

กรมส่งเสริมการเกษตร เข้าพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนกาแฟบ้านมณีพฤกษ์ สู่แปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ และมุ่งเป้าพัฒนาสู่เกษตรมูลค่าสูง ภายใต้แนวคิด ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ จึงได้คัดเลือกเลือกแปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ เป็นต้นแบบพัฒนาให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้ เพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี

นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การส่งเสริมสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยการวิเคราะห์และประเมินความเหมาะสมทางกายภาพและชีวภาพ เพื่อวางแผนการผลิต ดำเนินการส่งเสริมการยกระดับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับกาแฟ (GAP) และมาตรฐานกาแฟ โดยสมาคมกาแฟพิเศษ (SCA หรือ Specialty Coffee Association)

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงตลาดกาแฟพิเศษที่มีมูลค่าตลาดภายในประเทศประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปีนั้น ซึ่งจะต้องมีระบบการควบคุมคุณภาพมาตรฐานและมีข้อมูลที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่กระบวนการคัดสรรสายพันธุ์ จนถึงกระบวนการแปรรูปกาแฟ ส่งเสริมการปลูกกาแฟสายพันธุ์พิเศษให้เหมาะสมกับพื้นที่ ปัจจุบันมุ่งขับเคลื่อนผ่านการส่งเสริมความรู้ความสามารถทั้งประธานแปลงใหญ่ สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ เพื่อเป็นต้นแบบผลิตและแปรรูปกาแฟให้มีคุณภาพ นำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ – สร้างแบรนด์ รวมถึงพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ให้มีแนวคิด – ทักษะที่พร้อมสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าที่มีอยู่ เมื่อผนวกกับการมีเกษตรกรต้นแบบมากประสบการณ์ด้านกระบวนการผลิตกาแฟคุณภาพ โดยเฉพาะ Specialty Coffee ส่งผลให้สินค้าของกลุ่มแปลงใหญ่ฯ ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

บ้านมณีพฤกษ์อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ถือว่าเป็นแหล่งปลูกกาแฟชั้นยอด ตั้งอยู่บนดอย ความสูง 1,400-1,600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล จึงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกกาแฟ โดยปัจจุบัน แปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ มีการนำกาแฟสายพันธุ์ดังจากทั่วทุกมุมโลกมาเพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อาราบิกา และสายพันธุ์พิเศษ คาติมอร์ (Cartimor) ทิปิก้า (Typica) จาวา (Java) เซริน่า (Syrina) เยลโล่เบอร์บอน (Yellow Bourbon) โดยเฉพาะ เกอิชา (Geisah) ซึ่งขายได้กว่ากิโลกรัมละ 8,000 บาท เป็นผลจากกระบวนการ Process ที่แตกต่างจากแหล่งอื่นๆ คือ แบบ Anaerobic Process หรือกระบวนการหมักแบบไม่ใช่ออกซิเจน คือการหมักในน้ำหมักในที่ไม่มีอากาศ หรือการหมักในถังที่มีคาร์บอนไดออกไซน์ ทำให้ได้กรด Lactic ทำให้กาแฟมี Body ที่สูงขึ้น นอกจากการหมักจะส่งผลต่อรสชาติของกาแฟแล้ว ยังส่งผลต่อลักษณะทางกายภาพอื่นๆ อีกด้วย เช่น มีสีที่เข้มขึ้น มีความหนาแน่นมากขึ้น รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในกระบวนการผลิตกาแฟ โดยการผลิตปุ๋ยหมักจากการใช้จุลินทรีย์ Bacilus เพื่อย่อยวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตกาแฟจนได้สารอาหารที่เหมาะสมในการดูแลต้นกาแฟด้วยรสชาติที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ รวมถึงกรรมวิธีการปลูกกาแฟในป่าควบคู่กับการอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมกัน ส่งผลให้กาแฟจังหวัดน่าน กลายเป็นที่นิยมของคอกาแฟเรื่อยมา ขณะเดียวกัน ภาพรวมปัจจุบันของตลาดกาแฟพบว่า ตลาดกาแฟพรีเมียมราว 2 หมื่นล้านบาท คิดเป็น กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 10 ของตลาดทั้งหมด ดังนั้น หากมองในมุมมองการเติบโตของตลาดกาแฟไทย จึงเป็นโอกาสดีของกาแฟบ้านมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน ที่จะสร้างอาชีพและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี

Advertisement