เผยแพร่ |
---|
บำรุงสุขฟาร์ม เพราะ “ป่า คน ผึ้ง และธุรกิจ” ไม่สามารถแยกออกจากกันได้
“น้ำผึ้ง” เป็นอาหารที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน รสชาติหวานหอมของน้ำผึ้งจากผืนป่า เป็นองค์ความรู้ด้านการใช้สอยประโยชน์จากธรรมชาติที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่ในอดีต ในปัจจุบันน้ำผึ้งไม่ได้เป็นเพียงผลผลิตจากธรรมชาติที่ใช้อุปโภคบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น แต่น้ำผึ้งได้กลายเป็นสินค้าที่ถูกขายอย่างแพร่หลายเพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้คนและชุมชน โดยน้ำผึ้งนั้นแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ “น้ำผึ้งป่า” น้ำผึ้งที่เก็บตามธรรมชาติตามป่าเขา และ “น้ำผึ้งเลี้ยง” การเก็บน้ำผึ้งที่ได้จากการเลี้ยงผึ้งแบบฟาร์ม วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านชวนมาทำความรู้จักกับ “บำรุงสุขฟาร์ม” ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ทำมากกว่าการขายน้ำผึ้งป่าจากธรรมชาติ
“บำรุงสุขฟาร์ม” ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอตาคลี ซึ่งดำเนินกิจการภายใต้การดูแลของ วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์ หรือ คุณเบนซ์ อดีตครูสอนว่ายน้ำที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรพร้อมทั้งบทบาทสุดท้าทายอย่างการเป็น “พ่อค้าขายน้ำผึ้ง” และ “นักสะสมน้ำผึ้งไทย”
ที่มาของบำรุงสุขฟาร์ม
คุณเบนซ์เล่าว่าภายหลังการประกอบอาชีพครูสอนว่ายน้ำจนอายุเริ่มมากขึ้น คุณเบนซ์ก็มองหาอาชีพใหม่ ที่จะสามารถให้ความมั่นคง ยั่งยืน และมอบเวลาอยู่ร่วมกันของครอบครัวได้ จุดนี้เองที่ทำให้คุณเบนซ์ตัดสินใจผันตัวมาเป็นเกษตกร เช่าพื้นที่กว่า 5 ไร่ของเพื่อนเพื่อลงมือทำการเกษตรอินทรีย์ โดยในการทำการเกษตรนี้ไม่ใช่เพียงการทำเกษตรเพื่อค้าขายผลผลิตอย่างยั่งยืน แต่ที่บำรุงสุขฟาร์มยังเป็นพื้นที่ให้ชุมชนในจังหวัดนครสวรรค์ได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรแบบออแกนิค การลดใช้สารเคมีด้วยการใช้จุลินทรีย์ ตลอดจนการทำการตลาดและการแปรรูป แต่ในปัจจุบันเนื่องด้วยการหันมาทำธุรกิจขายน้ำผึ้งอย่างจริงจัง ทำให้ตัวคุณเบนซ์และบำรุงสุขฟาร์มไม่มีเวลาในการทำกิจกรรมแบบเดิมนัก อย่างไรก็ดีคุณเบนซ์ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำเกษตรอินทรีย์อยู่เช่นเดิม
จากความสนใจสู่การเป็นนักสะสมและขายน้ำผึ้ง
ความสนใจเรื่องน้ำผึ้งของคุณเบนซ์ดำเนินมาต่อเนื่องเข้าปีที่ 8 โดยจุดเริ่มต้นนั้นเริ่มจากในช่วงที่คุณเบนซ์ทำเกษตรอินทรีย์ การทำงานเครื่องจักรสานเองก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาเดี๋ยวกัน ในช่วงเวลานั้นเอง เป็นช่วงที่คุณเบนซ์ได้ออกเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และพบเจอกับผู้คนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ภูเขาสูงทางแถบภาคเหนือ
คุณเบนซ์แบ่งปันกับเรา ว่าแรกเริ่มเดิมทีตัวเขาไม่ได้เป็นกูรูน้ำผึ้งตั้งแต่ต้น แต่อาศัยการเรียนรู้จากคนรอบข้างและการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ๆ คุณเบนซ์กล่าวว่า สำหรับตัวเขาแล้ว ในบางครั้งลูกค้าก็เปรียบเสมือนครูคนหนึ่งที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ “ในขณะที่เราแม่นยำเรื่องรสชาติและที่มาของน้ำผึ้ง ลูกค้าก็มีประสบการณ์ในการใช้น้ำผึ้งในสายงานของเขา บางคนเป็นเชฟ เป็นบาริสต้า เป็นบาร์เทนเดอร์ เขาก็เป็นเหมือนครูเราเหมือนกัน เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน”
การเก็บน้ำผึ้งป่า
คุณเบนซ์เล่าว่า หากเป็นผึ้งที่อยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง คุณเบนซ์จะเดินทางไปเก็บด้วยตัวเอง โดยในการเก็บแต่ละครั้งต้องเริ่มจากทำความรู้จักกับชนิดของผึ้งเสียก่อน เพื่อจัดหาชุดป้องกันที่เหมาะสมกับผึ้งชนิดนั้น ๆ แต่ถ้าหากเป็นผึ้งที่มาจากป่าและพื้นที่อื่น ๆ ก็จะเป็นในส่วนของการรับซื้อน้ำผึ้งจากชาวบ้านแทน คุณเบนซ์ได้แบ่งปันกับเราอีกว่าในการเก็บน้ำผึ้งจะมี “หมอผึ้ง” และ “หมอดิน” โดยหมอผึ้งนั้นหมายถึงคนตีผึ้ง และหมอดิน คือ คนจัดเตรียมอุปกรณ์ ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป อย่างในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ แทนที่จะมีหมอดินและหมอผึ้ง จะใช้เป็นการทำพิธีไหว้เจ้าป่าเจ้าเขาและทำพิธีกรรมอื่น ๆ แทน
มิติของน้ำผึ้งและการใช้สอย
น้ำผึ้งในแต่ละพื้นที่ย่อมมีรสชาติต่างกัน คุณเบนซ์เล่าว่าความอุดมสมบูรณ์และที่ตั้งของป่าแต่ละพื้นที่มีผลอย่างมากต่อรสชาติของน้ำผึ้ง คุณเบนซ์เสริมว่า “ในบางแหล่งน้ำผึ้งจะมีกลิ่นพิเศษ น้ำผึ้งก็จะมีกลิ่นของป่าและแหล่งที่อยู่ เช่น น้ำผึ้งจากเทือกเขาบรรทัดก็จะมีกลิ่นของสมุนไพรในพื้นที่รวมอยู่ด้วย”
ซึ่งในปัจจุบันคุณเบนซ์ได้แบ่งน้ำผึ้งออกเป็น 10 มิติ คือ หวาน หวานหอม หวานนวล หวานเปรี้ยว หวานเค็ม หวานเย็น หวานเผ็ด และอีก 2 อย่าง คือ มิติของกลิ่นจากป่าพรุและป่าชายเลน แต่อย่างไรก็ตามคุณเบนซ์ก็ได้กล่าวต่อว่า มิติทั้ง 10 มิตินี้เป็นเพียงมิติเล็ก ๆ ในโลกของน้ำผึ้งเท่านั้น ยังมีมิติ รสชาติ และกลิ่นอีกมากที่ยังลองให้คุณเบนซ์และผู้คนได้แวดวงน้ำผึ้งได้ค้นพบ โดยน้ำผึ้งแต่ละมิตินั้นจะเหมาะกับการใช้สอยที่แตกต่างกันออกไป เช่น น้ำผึ้งจากเชียงของ จะให้กลิ่นที่มีความคาวเล็กน้อย จึงเหมาะกับการใส่เติมความหวานให้กับกาแฟคั่วกลาง
ป่า คน ผึ้ง และธุรกิจ
สำหรับคุณเบนซ์แล้วทั้ง 4 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้ เมื่อทำธุรกิจก็ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทั้ง ป่า คน และผึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ป่า’ ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อปริมาณและรสชาติของน้ำผึ้ง คุณเบนซ์เล่าว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงกับธรรมชาติและระบบนิเวศ จะทำให้น้ำผึ้งบางรสชาติหายไป เพราะดอกไม้ชนิดนั้น ๆ ไม่บานตามฤดูกาล เมื่อความหลากหลายทางธรรมชาติลดลง ความหลากหลายของน้ำผึ้งก็จะลดลงด้วยเช่นกัน และเช่นเดียวกับป่า หากป่าเสื่อมสภาพลงก็ย่อมหมายถึงการที่น้ำผึ้งจะลดจำนวนลงเช่นเดียวกัน ดังนั้น คุณเบนซ์จึงมองว่าในการเก็บน้ำผึ้ง เราควรเก็บอย่างยั่งยืนมากกว่าที่จะรีบเร่งทำกำไรจากน้ำผึ้งเพียงอย่างเดียว
การเก็บน้ำผึ้งอย่างยั่งยืน คือ การเก็บเพียงน้ำหวานจากผึ้ง แต่ยังคงปล่อยตัวอ่อนทิ้งไว้ เพื่อให้ผึ้ง สามารถกลับมาทำรังได้ต่อและสามารถเก็บน้ำผึ้งได้เรื่อย ๆ ตลอดทั้งปี โดยคุณเบนซ์ได้แบ่งปันกับเราว่า “เพราะถ้าเราเก็บแค่น้ำหวานเราสามารถเก็บน้ำหวานจากผึ้งได้ถึง 7 รอบ แต่ถ้าเราเก็บผึ้งไปทั้งรัง ผึ้งก็จะย้ายไปทำกินที่อื่น”
นอกจากป่าที่สำคัญแล้ว ความยั่งยืนของคุณเบนซ์ยังรวมไปถึงความยั่งยืนทางรายได้ของชุมชนที่อยู่รอบด้านอีกด้วย โดยคุณเบนซ์มองว่าการทำธุรกิจและการค้าขายไม่ใช่แค่เรื่องกำไร แต่ชุมชนต้องอยู่ได้ด้วย ราคาซื้อราคาขายต้องมีความเป็นธรรม เป็นการอยู่ร่วมกันของธุรกิจและชุมชน คุณเบนซ์ได้เน้นย้ำว่า “การทำธุรกิจเราต้องมองที่ชุมชนด้วย ถ้าป่าดี ป่าก็ดูแลชุมชน ถ้าชุมชนมีรายได้ ชุมชนก็อยู่ได้ ตัวเราเองก็พยายามทำให้คนรู้จักน้ำผึ้งไทย ในขณะเดียวกันเราก็เข้าหาชุมชนด้วย พยายามทำให้มันยั่งยืน”
ความยั่งยืนในรูปแบบของการแปรรูปและการจัด workshop
น้ำผึ้ง ไม่ใช่สินค้าเพียงอย่างเดียวที่บำรุงสุขฟาร์มจำหน่าย แต่ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “ฮันนี่ไซรัป” หรือน้ำผึ้งหมักด้วยผลไม้ โดยคุณเบนซ์มักจะเลือกผลไม้พื้นบ้านและผลไม้ประจำฤดูกาลต่าง ๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในการทำฮันนี่ไซรัป เนื่องจากเจ้าฮันนี่ไซรัปนี้มักจะไปปรากฎตัวในร้านอาหารและคาเฟ่ต่าง ๆ ในฐานะส่วนผสมของเครื่องดื่ม ซึ่งคุณเบนซ์มองว่าการเลือกใช้ผลไม้ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักจะเป็นช่องทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ชนิดนั้น ๆ ได้
นอกจากนี้ที่บำรุงสุขฟาร์มยังมีการจัดกิจกรรม workshop ให้กลุ่มคนที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องน้ำผึ้งจากสถานที่จริง เพื่อให้คนได้เห็นว่ากว่าจะได้น้ำผึ้งมานั้นต้องผ่านขั้นตอนและกระบวนใดบ้าง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักถึงปัญหาทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่อาจทำให้ผึ้งที่ผลิตน้ำหวานนั้นหายไปจากป่าอีกด้วย
การตลาดของบำรุงสุขฟาร์ม
การตลาดของบำรุงสุขฟาร์มไม่ได้เน้นที่การโปรโมทสินค้าหรือยิงโฆษณา แต่เน้นการพูดคุยและขยายความรู้ความเข้าใจต่อน้ำผึ้งไทย โดยคุณเบนซ์มองว่าแม้ว่าการเล่าและอธิบายเรื่องน้ำผึ้งจะใช้เวลานาน และไม่ได้แปลว่าทุกคนที่ฟังจะสนใจซื้อสินค้าจากบำรุงสุขฟาร์ม แต่คุณเบนซ์บอกกับเราว่า “ขาดทุนคือกำไร” แม้ว่าในการอธิบายหนึ่งครั้งจะมีลูกค้าซื้อสินค้าเพียง 2-3 คน แต่ก็ถือว่าได้ทำให้คนรู้จักน้ำผึ้งไทยแล้ว คุณเบนซ์มองว่าสิ่งนี้ต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ
น้ำผึ้งไทยและบำรุงสุขฟาร์มในอนาคต
คุณเบนซ์มองว่าน้ำผึ้งของไทยนั้นมีประสิทธิภาพสูงมากและมีเอกลักษณ์ที่เด่นชัด เนื่องจากประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง ทำให้น้ำผึ้งไทยนั้นมีความหลากหลายตามจำนวนดอกไม้ต่าง ๆ ที่ขึ้นในประเทศไทย ในอนาคตคุณเบนซ์ก็หวังว่า ประเทศไทยจะสามารถจัดตั้งสมาคมน้ำผึ้งเพื่อเป็นประโยชน์กับวงการน้ำผึ้งต่อไปได้ อีกทั้งในด้านอนาคตของบำรุงสุขฟาร์ม คุณเบนซ์ก็ได้พูดถึงความหวังของตัวเองไว้ว่า “ถ้ามีคู่ค้าสนใจทำธุรกิจร่วมกับเรา เราอยากมีหน้าร้านน้ำผึ้งในแต่ละภูมิภาค อยากจะมีการนำเสนอน้ำผึ้งในแต่ละพื้นที่ อยากให้คนรู้ว่าน้ำผึ้งแต่ละพื้นที่มีดียังไง ถึงอย่างนั้น เราก็อยากจะธุรกิจของเราเป็นการโตอย่างช้า ๆ แต่มั่นคง”
นอกจากนี้ที่บำรุงสุขฟาร์ม ยังมีจัดเดินทางจัด private group ชิมน้ำผึ้งทั่วประเทศ ซึ่งราคาอยู่ 1,800 บาทต่อ 1 คน ขั้นต่ำในการจัด workshop 10 คนต่อหนึ่งครั้ง โดยหากเป็นพื้นที่ต่างจังหวัด ผู้เข้าร่วมต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายและค่าที่พักให้ทีมงาน และหากสนใจพูดคุยเรื่องน้ำผึ้งหรือติดต่อการทำ workshop สามารถติดต่อได้ที่ BUM RUNG SUUK artisan natural honey