เผยแพร่ |
---|
เพราะว่า “ข้าว” คือปัจจัยหลัก และ “ชาวนา” คือกระดูกสันหลังของชาติ กรมการข้าวในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงตระหนักว่าการให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ผลิตข้าว จะมีส่วนช่วยในการสร้างผลผลิตเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น ลดการขาดทุน สร้างผลกำไร และทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผ่านการส่งมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวและการฝึกอบรม “โครงการสร้างการรับรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง สำหรับการขายคาร์บอนเครดิตในนาข้าว” ตามศูนย์ข้าวชุมชนต่างๆ
นายร่ม วรรณประเสริฐ ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี หนึ่งในผู้ร่วมโครงการ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมากรมการข้าวมีโครงการสนับสนุนศูนย์ข้าวชุมชนห้วยขมิ้น ในการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยสนับสนุนข้าว กข79 และ กข85 อย่างละ 1 ตัน มาขยายเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวในชุมชน เริ่มต้นจากการเตรียมแปลงข้าวให้ดี ไถหน้าดินหลายครั้งจนมั่นใจว่าไม่มีข้าวอื่นปลอมปน จึงจะได้แปลงข้าวที่สมบูรณ์ในการทำนาหว่าน
เมื่อถึงช่วงปลูกข้าว จะใช้การปลูกแบบ “เปียกสลับแห้ง” ตามที่ได้รับความรู้จากกรมการข้าว ซึ่งเป็นการบริหารจัดการการเข้าออกของน้ำในแปลงนา ให้มีทั้งช่วงที่ “แปลงเปียก” สลับกับช่วงที่ “แปลงแห้ง” แทนการทำนาในรูปแบบเดิมที่มีการขังน้ำในนาตลอดเวลา
หลักคิดของการทำนาเปียกสลับแห้งนั้นก็คือ ในช่วงเวลาที่เกษตรกรปล่อยให้น้ำในแปลงแห้ง จนหน้าดินเริ่มแตกระแหง รากข้าวในดินจะได้รับออกซิเจนในอากาศมากขึ้น เป็นการกระตุ้นให้รากข้าวแข็งแรง ดูดธาตุอาหารในดินได้ดีขึ้น ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยไปโดยปริยาย และเมื่อต้นข้าวแข็งแรงก็ลดการระบาดของโรคและแมลง ลดการใช้สารเคมี และเป็นการลดต้นทุนการผลิตไปด้วย
ผลลัพธ์จากการทำนาแบบ “เปียกสลับแห้ง” ทำให้ศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลห้วยขมิ้น ลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ลดต้นทุนในการประหยัดน้ำได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 30-50 เปอร์เซ็นต์ จนมีการตั้งเป้าหมายในปีหน้าว่าจะเพิ่มจำนวนไร่นาในชุมชมตำบลห้วยขมิ้น อีก 10 กว่าราย รวมพื้นที่ทั้งศูนย์ชุมชนประมาณ 200 ไร่
นายร่ม ยังกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มผลผลิตแล้ว กรมการข้าวยังรับซื้อในราคาที่แน่นอนและเป็นธรรม ทำให้ไม่ต้องเสี่ยงเหมือนกับตอนที่เกษตรกรทำเมล็ดพันธุ์ขายในตลาดเอง การขายข้าวให้ศูนย์เมล็ดข้าวของกรมการข้าว เกษตรกรจะได้เงินภายใน 15 วัน ในราคาที่พึงพอใจ ตนเองจึงอยากจะเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เตรียมแปลงนาของตนเองให้ดี ประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่กรมการข้าว หรือลองหาความรู้จากศูนย์ข้าวในพื้นที่ของตนเองที่เคยทำมาก่อน ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูงมากกว่า
ทางด้าน นายพานทอง สิงห์แก้ว ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า สำหรับข้อดีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ที่เห็นได้ชัดเจนเลยก็คือ ในด้านของการลดค่าใช้จ่ายในต้นทุน จากการทำนาในรูปแบบเดิมที่มีการขังน้ำในนาตลอดเวลา ซึ่งใช้น้ำต่อไร่ประมาณ 1,600 ลูกบาศก์เมตร ถ้าเปลี่ยนมาทำนาแบบเปียกสลับแห้ง จะลดปริมาณน้ำได้ถึง 20-40 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังลดต้นทุนในด้านแรงงาน ลดต้นทุนค่าน้ำมันสูบน้ำ ผลที่ได้คือทำให้ต้นข้าวแข็งแรง ต้านทานโรคแมลง ทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อยาฆ่าแมลงมาฉีดพ่น ช่วยให้การทำนาง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน และช่วยเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นอีกด้วย
ในปีนี้ ศูนย์ข้าวชุมชนของตำบลสวนดอกไม้ได้รับโครงการส่งเสริมเพิ่มศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวมาอีก 2 สายพันธุ์ คือ ข้าว กข79 และข้าว กข85 อย่างละ 1 ตัน เพื่อที่จะนำเมล็ดพันธุ์ไปแจกจ่ายให้กับสมาชิกไปทำการผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่
นายพานทอง ระบุว่า ส่วนใหญ่จะจำหน่ายแก่เกษตรกรในพื้นที่ เพราะว่าไม่ได้ผลิตเยอะเหมือนเอกชน คือเน้นในชุมชนของตนเองเป็นหลัก ถ้ามีเหลือค่อยเปิดขายให้ชุมชนรอบข้าง ข้อดีของการร่วมมือกับกรมการข้าวนั้นก็คือ แต่เดิมเกษตรกรก็ทำนาแบบปกติอยู่แล้ว เพียงแต่นำองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากกรมการข้าวไปปรับใช้ ว่าช่วงไหนที่เราสามารถบริหารจัดการในการเติมน้ำหรือปล่อยน้ำในนาข้าวอย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วยลดต้นทุนและช่วยเพิ่มผลผลิตได้จริง