จากความชำนาญของชุมชน สู่ความยั่งยืนจากกรมการข้าว

เกษรตรกรที่ทำนา ต่างมีความรู้ในเรื่องการปลูกข้าวมาจากคนรุ่นก่อนแทบทั้งสิ้น แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและประสานข้อมูลที่จำเป็นให้แก่บรรดาเกษตรกรของกรมการข้าว ทำให้เกษตรกรหลายชุมชนผลิตข้าวได้มากขึ้น และสร้างความยั่งยืนแก่ชุมชนของตนเองได้

นายบุญชู วงษ์อนุ ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลโคกสะอาด อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ยอมรับว่า ในสมัยก่อน ตนเองและชาวบ้านในพื้นที่จะทำนาโดยไม่ได้อิงหลักวิชาการ ยังใช้วิธีทำนาแบบวิถีพื้นบ้านที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ด้วยเพราะแนวคิดและเทคโนโลยีต่างๆ ยังไม่เข้าถึง และสิ่งที่ไม่รู้คือ ขั้นตอนของการทำเมล็ดพันธุ์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการปลูกข้าว

นายบุญชู วงษ์อนุ

ตั้งแต่เข้าร่วม “โครงการสร้างการรับรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง สำหรับการขายคาร์บอนเครดิตในนาข้าว” กับกรมการข้าว ทำให้ตนเองและคนในชุมชนโคกสะอาดได้รู้จักกับนักวิชาการและผู้ที่มีประสบการณ์มาให้ความรู้กับในเรื่องการจัดทำแปลง และช่วยปรับปรุงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวจากเดิม ให้ได้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีสำหรับชุมชนแห่งนี้

สิ่งสำคัญคือการเตรียมแปลงปลูก ที่ทางชุมชนโคกสะอาดใช้พันธุ์เดิมอย่าง กข79 ดั้งเดิมมาตลอดอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้ได้ข้าวที่ไม่กลายพันธุ์ โดยได้รับเมล็ดพันธุ์มาจากกรมการข้าว ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาก็เป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งยังเน้นในคุณภาพของเมล็ดและการทำความสะอาด โดยจะมีเครื่องคัดเมล็ดเป็นแม่งานหลักในการคัดเศษวัชพืช ให้เหลือแค่เมล็ดพันธ์ุที่ไม่มีสิ่งเจอปนออก 100 เปอร์เซ็นต์

ผลลัพธ์ที่ได้คือผลผลิตค่อนข้างสูง ผลผลิต 1 ไร่ ได้ข้าวประมาณ 900-1,000 กิโลกรัม จากที่เคยใช้ กข31 เป็นตัวหลักปลูกในพื้นที่จะได้ผลผลิตประมาณ 800-900 กิโลกรัม แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นเมล็ดพันธุ์ กข79 กลับได้ผลผลิตมากกว่า 1 ตันต่อไร่ จึงปรับเปลี่ยนมาใช้เมล็ดพันธุ์ของกรมการข้าว มาผลิตเป็นข้าวเพื่อออกขายสู่ท้องตลาด

นายประสงค์ คำวีระ

ไม่เพียงแต่การได้ผลผลิตมากขึ้นเท่านั้น การได้รับความช่วยเหลือจากกรมการข้าว ยังทำให้ศูนย์ข้าวชุมชมสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนของตนเองได้ด้วย ดังเช่นที่ นายประสงค์ คำวีระ ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลท่าช้าง อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า แต่ก่อน ชุมชนแห่งนี้ก็มุ่งเอาข้าวไปขายที่โรงสีอย่างเดียว เพราะไม่มีทางเลือก โรงสีตีราคาให้เท่าไหร่ก็ต้องยอมขายเท่านั้น จนกระทั่งได้มารวมกลุ่มกันจริงๆ และได้รับองค์ความรู้จากเจ้าหน้าที่กรมการข้าวที่เข้ามาสอนทุกขั้นตอน พร้อมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านการวิจัยมาแล้วว่าเหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก ก็ช่วยให้ได้ผลผลิตมากขึ้น และประหยัดต้นทุนกว่าเดิม

Advertisement

เจ้าหน้าที่กรมการข้าวสนับสนุนทุกอย่างที่เกษตรกรมีความสนใจหรืออยากทำ ทั้งการให้องค์ความรู้เรื่องผลิตเมล็ดพันธุ์ หรือพันธุ์ข้าวที่ตรงต่อพื้นที่ จัดหาเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพมาให้ สอนการดูแล การตัดพันธุ์ปน วิธีการกำจัดวัชพืช และการตรวจสอบข้าวก่อนการจัดจำหน่าย โดยเกษตรกรจะใช้องค์ความรู้เหล่านี้จากเจ้าหน้าที่ มาผสานองค์ความรู้เดิมที่พวกตนเองมี ก็จะเป็นความรู้ใหม่ที่ช่วยทำให้การปลูกข้าวเพื่อจำหน่ายเป็นเรื่องง่ายขึ้น

Advertisement

ทุกวันนี้ ทางประธานศูนย์ข้าวชุมชนท่าช้าง ผลิตแต่ข้าว กข69 ซึ่งเป็นข้าวที่มีตลาดเฉพาะกลุ่ม มีกลุ่มลูกค้าประจำรองรับ และลงมือทำอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ การปลูกข้าว การเก็บเกี่ยว การอบข้าว และการแปรรูป ถึงแม้โรงสีชุมชนแห่งนี้จะเป็นโรงสีเล็กๆ แต่มีเทคโนโลยีแทบทุกอย่างที่ทัดเทียมกับโรงสีมาตรฐาน อีกทั้งเรายังทำบรรจุภัณฑ์กันเองในชุมชน ซึ่งมีทั้งการแพ็กสุญญากาศและแพ็กแบบธรรมดา นำไปสู่การจำหน่ายในตลาด ที่แม้จะไม่หวือหวา แต่ก็หาเลี้ยงตนเองได้ และดำเนินการต่อไปได้อย่างมีอนาคต