ยกระดับศูนย์ข้าวชุมชน ด้วยเทคโนโลยีจากกรมการข้าว

การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตข้าวแก่เกษตรกรในพื้นที่ มีส่วนช่วยให้เกษตรกรสร้างผลผลิตได้จำนวนมากกว่าเดิม เหมือนดังที่ นายเฉลิมชาติ ฤาไชยคาม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี อธิบายว่า งานของศูนย์วิจัยข้าวลพบุรีมีด้วยกันหลายรูปแบบ ทั้งการผลิตเมล็ดพันธุ์ งานวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรในพื้นที่ ทั้งเรื่องการใช้น้ำในการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง รวมถึงเรื่องคาร์บอนเครดิต ที่นำไปถ่ายทอดให้กับพี่น้องเกษตรกร

ซึ่งในส่วนของงานวิชาการนั้น ก็มีทั้งเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ที่ทำเกี่ยวกับเรื่องพันธุ์ข้าวนาน้ำฝน ข้าวนาชลประทาน และงานเกี่ยวกับเรื่อง “อารักขาพืช” ที่เจ้าหน้าที่กรมการข้าวจะลงพื้นที่ไปสำรวจโรค-แมลงในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในจังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดสระบุรี

นายเฉลิมชาติ ฤาไชยคาม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี

ที่ศูนย์วิจัยข้าวลพบุรีแห่งนี้เป็นแปลงทดลองเกี่ยวกับเรื่องงานปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยนำพันธุ์ข้าวพันธุ์ต่างๆ มาทดสอบว่าข้าวเหล่านี้สามารถที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมของจังหวัดลพบุรีได้หรือไม่ เพราะเป็นพื้นที่ตัวแทนของข้าวนาน้ำฝน ซึ่งจะมีทั้งภาวะน้ำท่วมและฝนแล้ง พันธุ์ข้าวเหล่านี้จึงต้องผ่านสภาพจริงๆ ในพื้นที่ว่าจะมีความทนทานหรือไม่

หลังจากที่ได้เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมแก่พื้นที่แล้ว งานต่อไปของศูนย์วิจัยข้าวลพบุรีคือ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพเพื่อส่งต่อศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว โดยจะเน้นข้าวพันธุ์ “ข้าวดอกมะลิ105 เป็นเป้าหมายหลัก โดยในการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่เรียกว่า “ชั้นพันธุ์คัด” กับ “ชั้นพันธุ์หลัก” นั้น “ชั้นพันธุ์คัด” ถือว่าเป็นหัวเชื้อที่ต้องใช้แรงงานคนจะปักดำเพื่อให้ได้ผลผลิต แต่ “ชั้นพันธุ์หลัก” คือการใช้ “ชั้นพันธุ์คัด” ที่ทางศูนย์วิจัยข้าวลพบุรีผลิตขึ้นนำมาปลูกต่อ โดยมีเป้าอยู่ประมาณ 120 ตันต่อปี

เมล็ดพันธุ์ 120 ตันนี้ ศูนย์วิจัยข้าวลพบุรีจะส่งต่อให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวต่างๆ นำไปขยายในพื้นที่ เพื่อแต่ละที่จะได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ราคาถูก เพราะไม่ต้องไปซื้อมาจากไกลๆ เมล็ดพันธุ์ข้าวมีความบริสุทธิ์ ซึ่งมีราคาถูกกว่าร้านค้าทั่วไปที่เกษตรกรเคยซื้อ อีกทั้งยังผ่านการวิจัยมาแล้วว่าเหมาะกับพื้นที่เพาะปลูก

ขั้นตอนต่อไปคือการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ที่โรงงานการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี ซึ่งเพิ่งได้รับงบประมาณมาในปี 2567 วิธีการคือจะนำข้าวเข้าไปในเครื่องคัดเบื้องต้น เพื่อที่จะคัดแยกสิ่งเจือปนขนาดใหญ่ออกมาก่อน เมื่อคัดสิ่งเจือปนออกแล้วก็จะส่งข้าวไปตามสายพานเพื่อจะไปเข้าที่ถังอบเพื่อลดความชื้น เมื่อลดความชื้นเสร็จแล้วก็จะลำเลียงข้าวผ่านสายพานมาที่เครื่องคัดข้าว โดยใช้ตะแกรงและแรงลม ในการคัดเลือกนำเมล็ดข้าวที่ไม่ได้ขนาดมาตรฐาน ก้อนหิน และก้อนกรวดออกไป

Advertisement

เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะส่งข้าวไปที่ถังพักเพื่อรอการบรรจุ ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้ระบบแขนกล (Robot Arm System) ที่สามารถนำกระสอบมาใส่ตรงที่รับข้าว นำมาวางตรงสายพานลำเลียง นำไปชั่งน้ำหนัก และไปเรียงที่พาเลทเพื่อรอจัดส่ง การใช้แขนกลในขั้นตอนนี้ก็เป็นการช่วยลดใช้แรงงานคนได้

Advertisement

อีกเรื่องหนึ่งที่ศูนย์วิจัยข้าวลพบุรีกำลังดำเนินการคือ การสนับสนุนเครื่องมือให้กับเกษตรกร เช่น มีการอุดหนุนให้เกษตรกรสามารถที่จะมีรถปักดำ มีรถแทรกเตอร์ และโดรน ที่จะนำไปช่วยส่งเสริมการปลูกข้าวให้กับกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนต่างๆ ควบคู่กับการมอบความรู้และความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีที่เคยทำมาก่อน

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี กล่าวทิ้งท้ายว่า กับเสียงตอบรับที่ได้กลับมาจากชาวบ้านในหลายพื้นที่ก็คือ เมื่อทำงานด้วยความตั้งใจ พี่น้องเกษตรกรก็เห็นถึงความตั้งใจจริงในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรของกรมการข้าว ที่เข้าไปมีส่วนร่วมทำให้พี่น้องเกษตรกรทำงานได้ง่ายขึ้น ได้ผลผลิตมาก ขายได้ราคา ทำให้ได้รับความร่วมมือดีมาก