เผยแพร่ |
---|
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการประชุมเชื่อมโยงการดำเนินงานของคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และแปลงใหญ่ระดับประเทศ ครั้งที่ 4/2567 ณ จังหวัดสุโขทัย คณะกรรมการฯ มุ่งเน้นการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยจะค้นหาปัญหา อุปสรรค โอกาส และแนวทางการพัฒนา สินค้าเกษตรใน 4 กลุ่มสินค้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ 1. ข้าว (เมล็ดพันธุ์ GAP) 2. มันสำปะหลัง 3. โค 4. พืชผัก ผลไม้ พืชสวน (การผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่าย) เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง การขาดแคลนแรงงาน การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ โรค สภาพอากาศแปรปรวน โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ และหาตลาดที่เหมาะสมให้เกษตรกร
ด้านคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ ระดับประเทศ ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาให้เกษตรกรใน 3 ประเด็นหลัก คือ ลดการเผา มาตรฐาน GAP และการขาดแคลนน้ำ ดังนี้ 1. ผลักดันให้รัฐบาลส่งเสริมให้เกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรมาทำปุ๋ย/ชีวมวลมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและลดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม 2. ขับเคลื่อนมาตรฐาน GAP ของกลุ่มแปลงใหญ่ที่เป็นพืชอาหาร โดยตั้งเป้าผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP 100% ภายในปี 2570 และ 3. จัดทำแผนขอรับการสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูการผลิต
สำหรับการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2567 พบว่า จากการรับรองแปลงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวนแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 10,692 แปลง เกษตรกร จำนวน 571,189 ราย และพื้นที่ 9,011,291 ไร่ ผลสรุปการดำเนินงานสะสม 8 ปีพบว่า มีมูลค่าเพิ่มรวม 137,213.18 ล้านบาท แบ่งเป็นจากการลดต้นทุนการผลิต 44,378.77 ล้านบาท และจากการเพิ่มผลผลิต 92,834.41 ล้านบาท สามารถพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตรวม 203,665 ราย สำหรับโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด กรมส่งเสริมการเกษตรได้ติดตามการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ได้รับจากการสนับสนุน จำนวน 3,377 แปลง ด้านผลการดำเนินงานพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้จัดการแปลง ปีงบประมาณ 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้จัดการแปลงได้ 712 ราย
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า คณะกรรมการเครือข่าย (ศพก.) ระดับประเทศ ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพของ ศพก. และศูนย์เครือข่าย กิจกรรมโครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2567 ประกอบด้วย 1. ด้านการพัฒนาศักยภาพ ศพก. และศูนย์เครือข่าย โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิตและปรับปรุงฐานเรียนรู้ แปลงเรียนรู้ ให้มีความพร้อมสำหรับการให้บริการ ได้แก่ พัฒนาศักยภาพ ศพก. จำนวน 882 ศูนย์ และพัฒนาศักยภาพศูนย์เครือข่าย จำนวน 1,764 ศูนย์ 2. ด้านพัฒนาเกษตรกร ได้แก่ พัฒนาศักยภาพประธาน ศพก. จำนวน 160 ราย พัฒนาศักยภาพเกษตรกรต้นแบบ จำนวน 4,410 ราย (อำเภอละ 5 ราย) และเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรผู้นำ จำนวน 8,820 ราย (อำเภอละ 10 ราย)
นอกจากนี้ คณะกรรมการเครือข่าย ศพก. ยังเน้นย้ำแนวทางการพัฒนา ศพก. ปี 2568-2570 เกษตรกรยุคใหม่ 5 บทบาท 3 รู้ 3 เก่ง คือ “5 บทบาทเกษตรยุคใหม่” ประกอบด้วย 1. ต้องทำหน้าที่เป็นนักส่งเสริมแทนนักวิชาการ 2. เป็นผู้ประกอบการเกษตร 3. เป็นนักจัดการเกษตรเพิ่มมูลค่า 4. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และ 5. เป็นแม่แบบเกษตรกรให้มั่นคง ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับ “3 รู้” คือ บทบาทด้านการรับรู้ต่อข้อมูลเชิงลึกด้านการเกษตร ประกอบด้วย รู้เร็ว รู้ลึก รู้จริง และ “3 เก่ง” ประกอบด้วย เก่งคน เก่งงาน เก่งประสาน