“การปรับปรุงพันธุ์ข้าว” ภารกิจเบื้องหลังชาวนาและวงการข้าวไทย

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการผลิตข้าวมากที่สุดในโลก และมีมูลค่าการส่งออกหลักแสนล้านบาทต่อปี โดยเบื้องหลังความสำเร็จนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจาก “เมล็ดพันธุ์ข้าว” ที่มีคุณภาพ ให้ผลผลิตต่อไร่สูงตอบสนองความต้องการของเกษตรกร และเป็นที่ต้องการของท้องตลาด ถูกใจผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

โดย “กรมการข้าว” มีบทบาทสำคัญในการอยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ ภารกิจของกรมนั้นครอบคลุมหลายด้าน ทั้งการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าว การสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตข้าว การให้ความรู้และฝึกอบรมเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภารกิจด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ท้าทายและต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอ

คุณมาริสา แย้มสาหร่าย

คุณมาริสา แย้มสาหร่าย นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนงานวิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวเผยว่า เส้นทางการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวแต่ละสายพันธุ์ถือเป็นภารกิจที่ยาวนาน ศูนย์วิจัยข้าวแต่ละแห่งนั้นไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง แต่ต้องมีการร่วมมือกัน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวให้รองรับการทำนาของเกษตรกร ซึ่งข้าวสายพันธุ์ใหม่นั้นจะต้องเป็นข้าวที่สายพันธุ์ดีกว่าเดิมที่เคยมี ทั้งในแง่ของผลผลิต ความต้านทานต่อโรคและแมลง และทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ทนร้อน ทนแล้ง ทนหนาว ทนน้ำท่วม เป็นต้น

กว่าจะมาเป็นพันธุ์ข้าว
ที่ได้รับการรับรองโดยกรมการข้าว

คุณมาริสา เผยว่า การปรับปรุงพันธุ์ข้าวแต่ละสายพันธุ์นั้นใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีคุณลักษณะดี พอได้ลูกมาก็ต้องมาคัดเลือกกันต่อว่าได้ผลผลิตดีหรือไม่ และที่สำคัญคือต้องมีการทดสอบผลผลิตในพื้นที่ที่หลากหลาย เช่น สมมติว่าเราทดลองปลูกข้าวพันธุ์ A ที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วไปปลูกที่จังหวัดอื่นในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วยังจะให้ผลผลิตดีหรือไม่ ซึ่งเงื่อนไขคือต้องใช้พื้นที่ในการทดสอบประมาณ 7-10 แห่ง และต้องทดสอบไม่น้อยกว่า 4 ฤดูปลูก เท่ากับว่ากินระยะเวลาประมาณ 2 ปีแล้ว

จากนั้นก็ต้องทดสอบในเรื่องการตอบสนองต่อปุ๋ยแต่ละสูตรว่าตอบสนองอย่างไร มีความต้านทานต่อโรคและแมลงสำคัญในเขตภาคกลางหรือไม่ เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคขอบใบแห้ง โรคไหม้ เป็นต้น มีคุณลักษณะทางกายภาพและเคมีเป็นอย่างไร ซึ่งหากเราคัดเลือกข้าวพันธุ์ A ที่ให้ผลผลิตสูง แต่อ่อนแอต่อโรคและแมลงที่สำคัญเราก็ไม่สามารถแนะนำให้เป็นพันธุ์ใหม่ได้ เพราะฉะนั้นขั้นตอนในการปรับปรุงพันธุ์จึงใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี

ดังที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวนจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิปรับตัวสูงขึ้น แมลงหลายชนิดจึงปรับพฤติกรรมและหาแหล่งอาหารใหม่ ส่งผลให้เกิดการระบาดของแมลงได้ง่ายมากขึ้น งานด้านการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวนั้นก็ต้องตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน

Advertisement

คุณมาริสา เผยว่า กรณีที่มีการระบาดของแมลงหวี่ขาวในนาข้าวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็เป็นประเด็นที่กรมการข้าวต้องวางแผนรับมือเรื่องการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวให้มีความต้านทานเช่นกัน แต่เนื่องจากเป็นโรคแมลงอุบัติใหม่ การป้องกันแก้ไขเฉพาะหน้าก็อาจจะไม่ทันการณ์ แต่เพื่อการรับมืออย่างยั่งยืนในอนาคต นักวิจัยและนักปรับปรุงพันธุ์ก็ได้นำพันธุ์ข้าวเดิมที่มีลักษณะดี เช่น ให้ผลผลิตดี มาทดสอบความต้านทานกับแมลงหวี่ขาว เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่ตอบโจทย์ที่สุดในอนาคต

Advertisement

ปรับปรุงพันธุ์ข้าวหนีน้ำท่วม

โจทย์ใหญ่ศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา ศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยานั้นมีหน้าที่รับผิดชอบวิจัยพัฒนาข้าวชลประทาน ข้าวทนน้ำท่วม ข้าวน้ำลึก และข้าวขึ้นน้ำเป็นหลัก ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีนิเวศการปลูกข้าว 2 นิเวศ โดย นิเวศที่หนึ่ง คือข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง หรือระบบการทำนาแบบนาปี-นาปรังตามปกติ กับ นิเวศที่สอง คือการปลูกข้าวในพื้นที่น้ำท่วมถึง หรือที่เราเรียกว่าข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึก

การเลือกพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้นมีผลต่อผลผลิตมาก เนื่องจากสภาพพื้นที่การปลูกข้าวในแต่ละนิเวศจะเหมาะกับการเจริญเติบโตเฉพาะข้าวบางสายพันธุ์ เช่น ในเขตภาคกลาง หรือพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง โดยปกติแล้วข้าวพันธุ์ กข ทั่วไป ก็สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีได้

แต่ในกรณีของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีน้ำท่วมในฤดูนาปี ดังนั้น ระยะปลูกข้าวก็จะมีรูปแบบที่แตกต่างไปกับภูมิภาคอื่น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ จะต้องปลูกข้าวให้หนีน้ำท่วม เพราะว่าช่วงฤดูที่น้ำหลากตั้งแต่เดือนตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นจะปลูกข้าวไม่ได้ ดังนั้น เกษตรกรต้องปลูกข้าวก่อนน้ำท่วม และหลังน้ำลดไปเลย

โดยคุณมาริสา เผยว่า ในกรณีของการปลูกข้าวในพื้นที่น้ำท่วมนั้น พันธุ์ข้าวปกติจะไม่สามารถปลูกได้ เพราะข้าวเหล่านั้นไม่มีความสามารถในการยืดปล้องเพื่อหนีน้ำได้ และมักจมน้ำตายเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่ดังกล่าวมี 2 ชนิด คือ และข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึกเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันนั้นศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา ยังคงพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวเพื่อตอบโจทย์เกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวรับรองและเป็นพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น กข31 กข41 กข85 กข95 ปทุมธานี1 พิษณุโลก2

ทั้งนี้ นอกจากการเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสมแล้ว การวางแผนปลูกข้าวก็มีความสำคัญมากไม่แพ้กัน เช่น ในการปลูกรอบแรก เกษตรกรอาจเลือกปลูกข้าวที่มีอายุยาวประมาณ 120 วัน ส่วนในการปลูกรอบที่ 2 อาจจะเลือกปลูกข้าวสายพันธุ์ที่อายุสั้นลงเหลือประมาณ 100-110 วัน โดยการวางแผนแบบนี้จะทำให้เกษตรกรมีเวลาเหลือสำหรับการเตรียมแปลงระหว่างการทำนารอบที่หนึ่งและสองประมาณ 1 เดือน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่กระชั้นชิดจนเกินไป

มีคำถาม-ข้อสงสัยเรื่องสายพันธุ์ข้าว
หาความรู้เพิ่มเติมข้าวได้ที่ไหน

โดยปกติแล้วสายพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวรับรองนั้นจะมีการแนะนำอยู่แล้วว่าเหมาะกับพื้นที่ใด สมมติในพื้นที่อยุธยานั้นมีข้าวที่เหมาะแก่การปลูกทั้งหมด 10 สายพันธุ์ ซึ่งในจำนวนทั้งหมด 10 สายพันธุ์นั้นเกษตรกรก็ต้องมาเลือกอีกทีว่าจะปลูกสายพันธุ์ใด

ทั้งนี้ ธรรมชาติของเกษตรกร มักใช้วิธีสังเกตกับเพื่อนบ้านว่าปลูกพันธุ์ใดแล้วได้ผลผลิตดี จากนั้นจะมีการนำข้อมูลไปสืบค้นต่อ เพราะปัจจุบันเกษตรกรนั้นเก่งและมีการเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องข้าวดีกว่าสมัยก่อนมาก แต่หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเรื่องสายพันธุ์ เกษตรกรสามารถติดต่อเข้ามาที่ศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยาโดยตรง หรือสามารถติดต่อไปยังหน่วยงานที่ใกล้พื้นที่ที่สุดอย่างเกษตรตำบลหรือเกษตรอำเภอได้ ซึ่งโดยปกติทางศูนย์วิจัยข้าวฯ นั้นมีการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว หากมีการประสานขอความช่วยเหลือเข้ามา ทางศูนย์วิจัยข้าวฯ ก็พร้อมสนับสนุนข้อมูลและลงพื้นที่เพื่อไปให้ความรู้แก่เกษตรกร

นอกจากนี้ หากมีการรวมกลุ่มในรูปแบบ “ศูนย์ข้าวชุมชน” อยู่แล้ว ก็ยิ่งมีบทบาทในการแลกเปลี่ยนกันภายในกลุ่มได้ง่ายขึ้น เช่น ตอนนี้มีพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ออกมา หรือจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความรู้ ข้อมูลตรงนี้ก็จะถูกกระจายและแลกเปลี่ยนกันได้ทั่วถึงมากขึ้น