เผยแพร่ |
---|
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีนโยบายจัดทำโครงการ “โฉนดต้นไม้” สำหรับต้นไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นยางพาราที่ปลูกบนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ สร้างโอกาสในการมีอาชีพ รายได้ และความมั่นคงในชีวิต
โดยรัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน มีชีวิตที่มั่นคง ด้วยการพิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ และนำมาพัฒนาที่ดินเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว
ประกอบกับนโยบายที่ต้องการเปลี่ยนเอกสารสิทธิที่ดินจากหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร พร้อมขยายสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้อย่างกว้างขวาง
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จึงได้เตรียมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาแนวทางการจัดทำ (ร่าง) กรอบการดำเนินงาน หลักเกณฑ์เงื่อนไข ขั้นตอน และรูปแบบโฉนดต้นไม้ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งยังเป็นการยกระดับมูลค่าที่ดินและสินทรัพย์ในพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรจากการปลูกไม้มีค่าในอนาคต อาทิ การซื้อขายคาร์บอนเครดิต การค้าเนื้อไม้ทั้งในและต่างประเทศ (EUDR) และเป็นแหล่งเรียนรู้/ท่องเที่ยวในเขตปฏิรูปที่ดิน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเป็นการขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยใช้ไม้เศรษฐกิจอายุ 3 ปีขึ้นไป มีความสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร และเป็นพันธุ์ไม้ 58 ชนิด ตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัติสวนป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 หรือพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 หรือเป็นพันธุ์ไม้ตามเกณฑ์มาตรฐานการประเมินมูลค่าต้นไม้เป็นหลักทรัพย์อีกด้วย
ทั้งนี้ ภารกิจของ ส.ป.ก. ในด้านการจัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรนั้น มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการจำแนกผู้มีสิทธิที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ ซึ่งได้เน้นย้ำในเรื่องกฎระเบียบและความเหมาะสมในการขอใช้พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อป้องกันการเสียประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรให้ได้มากที่สุด
และในฐานะผู้รับผิดชอบการเปลี่ยนเอกสารสิทธิที่ดินจาก ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ส.ป.ก. จึงได้ดำเนินการแก้ไขระเบียบให้รองรับโฉนดเพื่อการเกษตร ตลอดจนสิทธิและการใช้ประโยชน์ส่วนเพิ่มเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะการใช้โฉนดเพื่อการเกษตรเป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ปัจจุบันมีเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินใช้เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เป็นหลักประกันสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. ตามบันทึกข้อตกลงฉบับเดิม (ยังไม่ครอบคลุมถึงโฉนดเพื่อการเกษตร) ประมาณ 350,000 ราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 130,000 ล้านบาท และจากบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่นี้จะทำให้ผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากวงเงินสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 80 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินกรมธนารักษ์
โดยเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร จำนวน 1 ล้านแปลง ในปี 2567 คิดเป็นวงเงินสินเชื่อประมาณ 490,000 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าจากโฉนดเพื่อการเกษตรที่ค้ำประกันอยู่กับ ธ.ก.ส.เดิม ที่จะได้รับวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 170,000 ล้านบาท และมูลค่าเพิ่มจากวงเงินกู้ใหม่ของโฉนดเพื่อการเกษตรที่จะการออกในปี 2567 จำนวน 650,000 แปลง ประมาณ 320,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถนำไม้ยืนต้นที่ปลูกในที่ดิน ส.ป.ก. ในรูปของ “โฉนดต้นไม้” มาเป็นหลักประกันสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ได้อีกทางหนึ่ง นับเป็นการขับเคลื่อนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินได้มากขึ้น ซึ่ง ส.ป.ก. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะมีกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับต้นไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นยางพารา อาทิ การขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ Carbon Credit ในสวนยางพารา การส่งเสริมการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ฯลฯ ซึ่งจะนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรไทยได้ในระยะยาว