เผยแพร่ |
---|
ภารกิจหนึ่งของ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. คือ การปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อขยายโอกาสให้กับประชาชนผู้เป็นเกษตรกร ให้ได้รับประโยชน์จากการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.
โดยการปรับปรุงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” ที่สามารถโอนสิทธิในที่ดินและใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงิน เพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น
และได้เปิดให้เกษตรกรยื่นความประสงค์ขอออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรม โดยเปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด ทั่วประเทศ ณ ที่ตั้ง ส.ป.ก.จังหวัด, หน่วยบริการเคลื่อนที่ของ ส.ป.ก.จังหวัด (Mobile Unit) และระบบออนไลน์ ได้ที่เว็บไซต์ ส.ป.ก. www.alro.go.th
เอกสารที่ต้องเตรียม มีดังนี้
1. ส.ป.ก.4-01 (ฉบับผู้ถือ) หรือสำเนาสัญญาเงินกู้ ธ.ก.ส. (กรณีกู้เงิน ธ.ก.ส.)
2. บัตรประจำตัวประชาชน
3. สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
สำหรับผู้มีสิทธิยื่นคำขอ ต้องเป็นเกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ไม่น้อยกว่า 5 ปี (วันที่ระเบียบใช้บังคับ) อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1. วันที่ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด มีมติอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ (นับต่อเนื่องจากคนที่ได้รับอนุญาตครั้งแรก)
2. วันที่ ปฏิรูปที่ดินจังหวัด มีมติอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ (นับต่อเนื่องจากคนที่ได้รับอนุญาตครั้งแรก)
ทั้งนี้ การนับ 5 ปี สามารถตรวจสอบได้จากหลายช่องทาง อาทิ รายชื่อที่ประกาศ ณ ที่ทำการผู้ปกครองท้องที่/วันที่ลงใน ส.ป.ก.4-01 ฉบับแรก ก่อนแบ่งแยก หรือสอบถามได้ที่ ส.ป.ก.จังหวัด
โดย ส.ป.ก. มีเป้าหมายดำเนินการออกเอกสารสิทธิรูปแบบโฉนดเพื่อการเกษตรในทุกจังหวัดภายใน 1 ปี และจะปรับปรุงเอกสารสิทธิให้กับเกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบถ้วนภายใน 5 ปี
พื้นที่นำร่องเริ่มจากพื้นที่ภาคกลางก่อนและจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งการเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรผู้ที่ทำประโยชน์ตามระยะเวลาได้เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงสิทธิจากการได้รับการจัดที่ดิน สร้างความมั่นคงด้านที่ดินให้กับเกษตรกร ให้มีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพได้มากขึ้น แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบติดตามการใช้ประโยชน์ด้วย
จากข้อมูลพบว่า เมื่อช่วงต้นปี 2567 มีเกษตรกรยื่นขอออกโฉนดไป 203,300 ราย คิดเป็น 280,191 แปลง/เรื่อง หรือเป็นเนื้อที่ ประมาณ 3,146,786 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 72 จังหวัดทั่วประเทศ 22 ล้านไร่ จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ
โดยพื้นที่ 5 จังหวัด ที่มายื่นขอโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. มากที่สุดอยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ
1. จังหวัดบุรีรัมย์ 19,481 เรื่อง/ฉบับ
2. จังหวัดเลย 11,153 เรื่อง/ฉบับ
3. จังหวัดพะเยา 10,871 เรื่อง/ฉบับ
4. จังหวัดเชียงราย 10,379 เรื่อง/ฉบับ
5. จังหวัดอุบลราชธานี 9,661 เรื่อง/ฉบับ