กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว ยกระดับข้าวไทย เพิ่มมูลค่าด้วยเรื่องราวและเอกลักษณ์ข้าวพื้นเมือง

‘ข้าว’ เป็นมากกว่าอาหารหลักที่คนไทยคุ้นเคยและบริโภคกันทุกวัน แต่เมื่อพูดถึงข้าวหลายคนอาจจะคุ้นเคยแต่เพียง ข้าวสวย ข้าวเหนียว หรือข้าวกล้อง แต่ยังไม่รู้ว่าข้าวในประเทศไทยมีความหลากหลายนับร้อยพันธุ์ ทั้งในด้านชนิด สี กลิ่น และรสชาติ ซึ่งแต่ละพันธุ์ไม่เพียงแต่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สะท้อนถึงภูมิประเทศ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความเชื่อที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน

เพื่อทำความรู้จักกับพันธุ์ข้าวไทยให้มากขึ้น ดร.โอวาท ยิ่งลาภ ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว ได้ฉายภาพให้เห็นถึงความหลากหลายของข้าวไทย โดยกล่าวว่า ข้าวแต่ละพันธุ์ที่เราปลูกกันในประเทศไทย ไม่ได้มีดีแค่รสชาติ แต่ยังมีเรื่องราวและคุณค่าทางวัฒนธรรมแฝงอยู่ในทุกเมล็ด

เริ่มต้นจากข้าวพันธุ์พื้นเมืองซึ่งหมายถึงสายพันธุ์ข้าวที่ได้รับการคัดเลือกและปลูกในท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน มีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น เช่น ข้าวเหนียวที่ใช้ในประเพณีบุญข้าวจี่ในภาคอีสาน ขณะที่ข้าวพันธุ์อื่นๆ อาจมีคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นอกเหนือจากคุณสมบัติที่โดดเด่นของข้าวพันธุ์พื้นเมืองแล้ว ยังมีข้าวอีกประเภทที่อยากให้รู้จักคือ ข้าวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) (ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้าว GI

ซึ่งข้าว GI ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ที่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสหภาพยุโรป (EU) และอื่นๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น นอกจากนั้น ยังมีข้าวพื้นเมืองอื่นๆ อาทิ ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์, ข้าวรอดหนี้, ข้าวหอมมะลิอุบล, ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงเมืองเลย, ข้าวหอมดง, ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย, ข้าวหอมแม่จัน, ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์, ข้าวหอมหัวบอน, ข้าวไร่ดอกข่าพังงา ซึ่งล้วนช่วยสะท้อนวัฒนธรรมของท้องถิ่น ข้าวเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชน แต่ยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้ข้าวไทยในตลาดโลกอีกด้วย

ดร.โอวาท ยิ่งลาภ ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว

ดร.โอวาท ขยายความต่อว่า กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวเล็งเห็นถึงความหลากหลายของข้าวไทย และตระหนักดีว่าในยุคสมัยปัจจุบันการบริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องราวและคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในแต่ละเมล็ดข้าวมากขึ้น ไม่ได้เน้นแค่การกินให้อิ่มเหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่ยังสนใจในแหล่งที่มาของข้าว วิธีการปลูก และคุณสมบัติพิเศษของข้าวพันธุ์ต่างๆ

ด้วยความตระหนักถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงแต่มีรสชาติอร่อย แต่ยังมีเรื่องราวที่มีความหมาย เช่น การบอกเล่าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคกับสินค้าที่เลือกซื้อ นอกจากนี้ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและสื่อสารถึงเรื่องราวของข้าวพันธุ์นั้นๆ ช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกถึงคุณค่าและมีความภาคภูมิใจในการเลือกข้าวที่มีความพิเศษและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

Advertisement
โจ๊กจากข้าวหอมแม่จันและโจ๊กจากข้าวบือกี

“ปัจจุบันกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวพันธุ์พื้นเมืองไทย โดยปีที่ผ่านมาเรามีผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นประมาณ 3-4 ตัวจากพันธุ์ข้าวที่มีอยู่ เช่น โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปจากข้าวหอมแม่จัน ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากเชียงราย โดยการนำข้าวหอมแม่จันมาแปรรูปเป็นโจ๊กไม่เพียงแต่เพิ่มมูลค่าให้กับข้าว แต่ยังสามารถสร้างเรื่องราวที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน

ผลิตภัณฑ์โจ๊กจากข้าวหอมแม่จันนั้นไม่ได้เพียงแค่ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสรสชาติอร่อย แต่ยังได้กินเรื่องราวของข้าวพันธุ์นี้ที่มีการปลูกเฉพาะในพื้นที่นี้เท่านั้น และในแต่ละปีจะมีการผลิตได้เพียงครั้งเดียว เมื่อผลิตภัณฑ์มีการพัฒนาและบรรจุในแพ็กเกจที่น่าสนใจ ก็จะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าขึ้นไปได้อีกมาก”

Advertisement

“อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เราพัฒนาคือ โจ๊กจากข้าวบือกี ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นข้าวที่เมล็ดมีลายมีสารโอเมก้า และ GABA (สูงถึง 98 ppm ซึ่งสูงกว่าข้าวทั่วไป) ช่วยบำรุงสมองและระบบประสาทได้ดี โดยเรานำรสชาติของเห็ดหอมมาเพิ่มในโจ๊กนี้ เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปจากข้าวเบายอดม่วง ข้าวพันธุ์พื้นเมืองและข้าว GI ของจังหวัดตรัง ที่แม้จะปลูกในปริมาณที่จำกัด แต่ยังสามารถพัฒนามูลค่าให้เพิ่มขึ้นได้โดยการผสมผสานส่วนผสมกลายเป็นกาแฟที่มีกลิ่นหอม นำเสนอรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ โดยยังคงคุณค่าสารอาหารจากข้าวพันธุ์พื้นเมือง” ดร.โอวาท กล่าว

ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว เผยต่ออีกว่า การนำแนวคิดเรื่องราวทางวัฒนธรรมมาผสานในข้าวไทยนั้นเกิดจากแรงบันดาลใจในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ยกตัวอย่างแนวทางการเกษตรของญี่ปุ่น ที่แม้จะมีพื้นที่การเกษตรจำกัด แต่เกษตรกรสามารถสร้างความแตกต่างได้ผ่านการสร้างอัตลักษณ์และเรื่องราวของสินค้า ทำให้ผู้บริโภคยอมจ่ายในราคาสูงขึ้น เช่นเดียวกับสินค้าแบรนด์เนม

“เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถสร้างมูลค่าให้กับข้าวที่ปลูกได้ กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวจึงมุ่งเน้นการศึกษาและพัฒนาความรู้ร่วมกับเกษตรกร โดยสำรวจความเป็นตัวตนและจุดเด่นของสายพันธุ์ข้าวในท้องถิ่น เช่น สี กลิ่น และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านเข้าใจคุณค่าของผลิตภัณฑ์ตนเองและสามารถเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจ ได้การสร้างเรื่องราวให้ข้าวไทยจึงไม่เพียงทำให้ข้าวมีความพิเศษ แต่ยังเสริมสร้างความภาคภูมิใจให้กับเกษตรกร และช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกถึงคุณค่าและความแตกต่างของข้าวไทยในตลาดที่แข่งขันสูง นี่คือการนำวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสาน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเกษตรกรรมของประเทศไทยในอนาคต”

ผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง

การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวไทยไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน แต่ยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมคุณค่าของข้าวพันธุ์ไทยในระดับสากล เมื่อผู้บริโภคได้มีโอกาสสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องราวและภูมิหลังที่ชัดเจน จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจและการสนับสนุนในการเลือกซื้อข้าวไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวยังมีแผนจะขยายการพัฒนาและการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างโอกาสให้เกษตรกรไทยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงแต่ทำให้พวกเขาได้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ยังช่วยรักษาและสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ให้คงอยู่สืบไป เพื่อให้ข้าวไทยไม่เพียงแต่เป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวัน แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมและความยั่งยืนในอนาคต

สรุปภาพรวมข้าวพื้นเมืองและสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาตร์ (Geographical Indication : GI)

ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์

ข้าวรอดหนี้

ข้าวหอมมะลิอุบล

ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงเมืองเลย

ข้าวหอมดง

ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย

ข้าวหอมแม่จัน

ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์

ข้าวไร่ดอกข่าพังงา

ข้าวหอมหัวบอน