ดาวเรือง

น้าชาติ อยากทราบเกี่ยวกับดอกดาวเรืองค่ะ

วรวรรณ ตอบ วรวรรณ
ดาวเรือง ชื่อวิทยาศาสตร์ Tagetes erecta L. ชื่อสามัญ African marigold, American marigold, Aztec marigold, Big marigold จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ดาวเรืองใหญ่, คำปู้จู้หลวง (ภาคเหนือ), พอทู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), บ่วงซิ่วเก็ก (จีนแต้จิ๋ว), ว่านโซ่วจวี๋ (จีนกลาง), บ่วงลิ่วเก็ก เฉาหู่ย้ง กิมเก็ก (จีน) เป็นต้น
เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของเม็กซิโก จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้ราว 1 ปี ลำต้นตั้งตรงมีความสูงประมาณ 60-100 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านมากที่โคนต้น ลำต้นเป็นสีเขียวและเป็นร่องทั้งต้น

เมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นเหม็น จึงทำให้แมลงไม่ค่อยมารบกวน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเป็นหลัก (อาจใช้การปักชำก็ได้ แต่ต้นที่ได้จะมีขนาดเล็กกว่า) เจริญเติบโตได้เร็ว ชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี มีความชื้นปานกลาง ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน

ดาวเรืองที่พบเห็นและปลูกกันมากในปัจจุบันมี 5 ชนิด ได้แก่ ดาวเรืองอเมริกัน (Tagetes erecta) ดาวเรืองฝรั่งเศส (Tagetes patula) ดาวเรืองนักเก็ต (Triploid Marigold) ดาวเรืองซิกเน็ต (Tagetes tenuifolia หรือ Tagetes signata pumila) และดาวเรืองใบ (Tagetes filifolia)
นางเอกของดาวเรืองคือดอกสวยงาม ดอกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายยอด สีเหลืองสดหรือเหลืองปนส้ม กลีบดอกมีขนาดใหญ่เรียงซ้อนกันหลายชั้นเป็นวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกเป็นฟันเลื่อย มีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน
ดอกจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ดอกวงนอกมีลักษณะคล้ายลิ้นหรือเป็นรูปรางน้ำซ้อนกันแน่น บานแผ่ออก ปลายม้วนลง มีจำนวนมาก เป็นดอกที่ไม่สมบูรณ์เพศ โคนกลีบดอกเป็นหลอดเล็ก ส่วนดอกวงในเป็นหลอดเล็กอยู่ตรงกลางช่อดอก มีจำนวนมากและเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวเชื่อมติดกันหุ้มโคนช่อดอก ก้านชูดอกยาว
ประโยชน์ ที่โดดเด่นคือนำดอกมาใช้ในงานการมงคลต่างๆ รวมถึงร้อยห้อยคอเป็นการต้อนรับบุคคล และปลูกประดับที่ทางให้สวยงามขึ้น ทั้งยังอาจปลูกเป็นเกราะป้องกันแมลงศัตรูพืชให้แก่พืชอื่นๆ ได้อีกด้วย เพราะดาวเรืองมีสารที่มีกลิ่นเหม็นฉุน แมลงไม่ชอบ
นอกจากนี้ ต้นและรากของดาวเรืองมีสารที่ช่วยป้องกันและกำจัดไส้เดือนฝอยในดิน โดยใช้วิธีการไถกลบทั้งต้นและรากลงในแปลงปลูกพืชที่มีปัญหาดังกล่าว เช่น แปลงยาสูบ มะเขือเทศ เยอบีร่า สตรอเบอร์รี่ และต้นดาวเรืองสามารถสะสมสารหนูได้มากถึง 42% จึงมีประโยชน์ในการนำมาฟื้นฟูดินที่มีการปนเปื้อนสารหนูได้ดี
ดอกยังนำมาประกอบอาหารรับประทานได้ เช่น ดอกตูมลวกจิ้มกับน้ำพริก แกล้มกับลาบ หรือใช้ดอกบานปรุงแบบยำใส่เนื้อ ทำน้ำยำแบบรสหวานคล้ายน้ำจิ้มไก่หรือน้ำจิ้มทอดมัน เป็นต้น

ทางภาคใต้นิยมนำเป็นผักผสมในข้าวยำ ทั้งนี้ ดาวเรืองมีสารเบตาแคโรทีนจากธรรมชาติ ซึ่งคุณสมบัติของเบตาแคโรทีนจะทำหน้าที่โปรวิตามินเอ เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ทั้งยังเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งในตับและปอด
นอกจากนี้ ดอกยังสามารถนำมาสกัดทำเป็นสีย้อมผ้า โดยจะให้สีเหลืองทอง และปัจจุบันยังมีการปลูกดาวเรืองเพื่อนำมาผลิตเป็นดอกดาวเรืองแห้ง ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารของไก่ไข่ จากที่มีผลงานวิจัยระบุว่า อาหารไก่ที่ผสมดอกดาวเรืองแห้งจะช่วยเพิ่มความเข้มสีของไข่แดง

รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]