กรมหม่อนไหมเปิดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้านหม่อนไหม หัตถศิลป์ชุมชนโนนตูม-ฅญาบาติก จังหวัดนครราชสีมา

วันที่ 19 กันยายน 2560 นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้านหม่อนไหมหัตถศิลป์ชุมชนโนนตูม-ฅญาบาติก ณ ฅญาบาติกและ Serina Silk Protien อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับ

นางชนัญญา ดรเขื่อนสม เจ้าของแบรนด์ ‘ฅญา’ เปิดเผยว่า สำหรับ “ฅญาบาติก” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้านหม่อนไหม ที่มีการสาธิตการผลิตผ้าไหมบาติก เป็นงานแฮนด์เมดที่ใช้ผ้าไหม 100% ใส่ลวดลายบาติก และตัดเย็บเป็นสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ หมอนรองคอ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ หมอนอิง และกระเป๋าคล้องมือ โดยสินค้าทุกชิ้นเน้นการออกแบบและลงสีให้สะท้อนเอกลักษณ์วิถีชีวิตตามแบบฉบับคนอีสาน และได้มีการจัดวางจำหน่ายในร้านค้าปลอดภาษี KING POWER ทำให้การผลิตเพิ่มขึ้น และโอกาสข้างหน้าจะมีการขายในระบบ e-commerce ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างมากในยุคไทยแลนด์ 4.0

นอกจากนี้ ฅญาบาติก มีผลงานการนำนวัตกรรมมาผสมผสามต่อยอดเป็น “กี่ต้นแบบทอมืออัตโนมัติ” โดยกรมหม่อนไหม ร่วมกับกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ และสวทช. เป็นผู้สนับสนุน โดยกี่ต้นแบบทอมืออัตโนมัตินี้ เป็นกี่ทอผ้าที่ติดตัวระบบคลายเส้นยืนและม้วนเก็บผ้าได้เองในระหว่างการทอ เช่นเดียวกับเครื่องทอผ้าในอุตสาหกรรม เป็นกี่ทอผ้าที่ได้รับการพัฒนาจาก สวทช. มาใช้ต่อยอดโดยการนำเส้นไหมดิบสีเหลือง มาขึ้นทอบนกี่ดังกล่าว เพื่อให้ได้เนื้อผ้าที่มีความแน่นสม่ำเสมอ ไม่เกิดอาการหนาบางในขณะทอเช่นกี่ปกติทั่วไป หลังจากได้ผ้าที่มีความหนาแน่นสม่ำเสมอแล้ว ยังสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋า ในรูปแบบของ ฅญาบาติก โดยเป็นการนำผ้าไหมดิบสีเหลืองทอมือมาทำบาติกโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการฟอกย้อม เป็นการลดปริมาณของเสียของน้ำไปอีกหนึ่งกระบวนการ และเมื่อนำผ้าไหมที่ได้ไปเขียนลายบาติก จะทำให้เกิดเทกเจอร์ใหม่ของพื้นผิวเส้นใยไหมไทยทอมือ และเพิ่มลูกเล่นด้วยสีแปรเปลี่ยนตามอุณหภูมิ ร้อนและเย็น หรือ Collection Bag โดยอธิบดีกรมหม่อนไหมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ลงนามเป็นที่ระลึกลงบนผืนผ้าในกี่ทอมือต้นแบบอัตโนมัติ และมอบกระเป๋าจากเส้นไหมดิบสีเหลืองทอมือที่ใช้นวัตกรรมเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิร้อน-เย็นใบแรกของประเทศไทยให้กับอธิบดีกรมหม่อนไหมด้วย

ด้านนางวิจิตรา กาญจนวัฒนา ประธานกลุ่มหัตถศิลป์ชุมชนโนนตูม กล่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้านหม่อนไหมกลุ่มหัตถศิลป์ชุมชนโนนตูม จะได้ศึกษาถึงการนำสารสกัดจากกาวไหม มาสกัดเป็นส่วนผสมในรูปของผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ซึ่งจากการศึกษาทำให้รู้ว่ากาวไหมที่ได้จากรังไหมมีโปรตีนบริสุทธิ์จากธรรมชาติมากถึง 18 ชนิด มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มสารอาหารให้เซลล์ที่สร้าง Collagen และ Elastin ซึ่งเป็นสารใยโปรตีนที่ช่วยบำรุงผิว ทำให้ริ้วรอยต่างๆลดลงและโปรตีนจากกาวไหมยังช่วยต้านแบคทีเรียและต้านไวรัสลดอาการอักเสบของเซลล์ ลดปริมาณเชื้อโรคที่ผิวหนัง ส่งผลให้แผลหายเร็ว ลดอาการอักเสบจากสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ จึงเกิดไอเดียนำกาวไหมมารีไซเคิลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่มากมาย อาทิ ชุดบำรุงผิวหน้า ประกอบด้วย สบู่โปรตีนไหมน้ำแร่ผสมขมิ้น สบู่โปรตีนไหมผสมเปลือกมังคุด สบู่โปรตีนไหมผสมสารสกัดมัลเบอรี่ ครีมบำรุงผิวโปรตีนไหม และรังไหม สครับผิว ขจัดสิวเสี้ยน ส่วนชุดบำรุงผิวกาย ประกอบด้วย โลชั่นบำรุงผิวโปรตีนไหม ผสมสารสกัดจากมัลเบอรี่ รากหม่อน โลชั่นบำรุงผิวโปรตีนไหม โลชั่นบำรุงผิวโปรตีนไหม ผสมมะหาด นอกจากจะนำกาวไหม ที่ได้จากรังไหมมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวแล้ว กาวไหมยังสามารถแปรูปนำมาผสมในอาหารได้อีก อาทิ กาแฟ และไอศกรีม ซึ่งกาวไหมมีโปรตีนสูง ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้ง กาวไหมยังสามารถนำมาเป็นส่วนผสมกับสมุนไพรใช้ในการนวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อและคลายเครียดได้อีกด้วย