ชม ‘กิ้งกือมังกรสีชมพู’ สุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตอันดับ 3 ของโลก ที่หุบป่าตาด

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ช่วงเข้าใกล้ปลายฝนต้นหนาว ที่บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน หมู่ 1 ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี จุดบริเวณหุบป่าตาด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกหนึ่งแห่งของจังหวัดอุทัยธานี

ที่ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่บรรดากลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติและสัตว์ป่า ต่างรอคอยกันเดินทางมาที่หุบป่าตาดเพื่อเข้าไปชม สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ สัตว์หาชมยากอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ใน 1 ปี จะมีให้ได้เห็นกันแค่ในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้เท่านั้น คือ กิ้งกือมังกรสีชมพู เป็นอีกหนึ่งสุดยอดสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทย ในอำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี

ที่มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ประกาศให้ กิ้งกือมังกรสีชมพู เป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ในอันดับที่ 3 ของโลก ซึ่งถือว่าการค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพูนั้นได้สร้างชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทย

เนื่องจากแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย ยังคงมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์อีกมาก และเหตุที่ได้ชื่อว่ากิ้งกือมังกรสีชมพูนั้น เพราะอยู่ในวงศ์กิ้งกือมังกร หรือ พาราดอกโอโซมาติเดีย และมีสีชมพูสดใสแบบช็อกกิ้งพิงค์ อีกทั้งยังมีลักษณะโดดเด่นด้วยลวดลายและปุ่มหนาคล้ายกับมังกร ซึ่งเมื่อโตเต็มวัย กิ้งกือมังกรสีชมพู จะมีลำตัวยาวประมาณ 7 เซนติเมตร มีปล้องราว 20-40 ปล้อง และสามารถขับสารพิษประเภทไซยาไนด์ เพื่อป้องกันตัวได้อีกด้วย

นายสุชาติ หิรัญ พนักงานพิทักษ์ป่า กล่าวว่า กิ้งกือมังกรสีชมพูนั้น จะพบได้ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน แต่ด้วยในช่วงนี้ มีฝนตกชุกทำให้สภาพป่ามีความชุ่มชื้นเป็นอย่างมาก จึงทำให้ในช่วงนี้จึงมีนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศเดินทางมาเป็นหมู่คณะ และเป็นครอบครัว เข้ามาศึกษาเรียนรู้และชมความงามทางธรรมชาติที่หุบป่าตาดกันอย่างคึกคัก และเพื่อหวังเข้าไปเจอกับกิ้งกือมังกรสีชมพู

โดยก่อนที่จะเข้าไปภายในหุบป่าตาดนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ ภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน คอยประจำการในการให้ข้อมูลข่าวสารความรู้ต่างๆ พร้อมกับ เป็นไกด์นำพาประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าไปศึกษาธรรมชาติภายในหุบป่าตาดอีกด้วย และหากเป็นในช่วงวันหยุด ที่นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการแล้วนั้น ยังมีมัคคุเทศก์น้อยจิตอาสา ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนในพื้นที่ชุมชนบริเวณโดยรอบ เข้ามาเป็นมัคคุเทศก์น้อยในการให้บริการและให้ข้อมูลตลอดเส้นทางการเดินทางดังกล่าว

Advertisement

การเดินทางเข้าไปในหุบป่าตาดนั้นจะมีระยะทางเดินไปกลับอยู่ที่ประมาณ 700 เมตร คือระยะทางเดินเข้า 350 เมตรและระยะทางเดินออกอีก 350 เมตร และตลอดเส้นทางเดินนั้นจะมีจุดที่น่าสนใจอยู่หลายอย่าง

Advertisement

โดยจุดแรกที่เดินเข้าไปนั้น จะพบกับถ้ำที่มีความมืด หรือที่เรียกว่า อุโมงค์แห่งกาลเวลา ซึ่งมีความยาวประมาณ 50 เมตร ภายในถ้ำจะมีความมืดสนิท เป็นที่อาศัยของค้างคาวจุดที่ 2 เมื่อเดินทะลุจากถ้ำอุโมงค์แห่งกาลเวลาแล้วนั้น จะพบกับป่าดึกดำบรรพ์ หรือเป็นจุดชมวิวอีกหนึ่งจุด ซึ่งเมื่อเราเดินเข้าไปในจุดนั้นแล้วจะเป็นจุดที่ไม่สามารถใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตได้ แต่จะได้พบกับธรรมชาติและความร่มเย็นของผืนป่า ที่ทั้งสงบและร่มรื่น กว่าป่าด้านนอกเป็นอย่างมาก

“ตลอดระยะเวลาทางเดิน จะพบกับพืชพันธุ์ไม้หายากนานาชนิด โดยเฉพาะพืชต่างๆ โดยเฉพาะป่าตาด ซึ่งถือเป็นต้นไม้ และพันธุ์พืชที่อยู่ในยุคดึกดำบรรพ์หรือยุคไดโนเสาร์ ซึ่งเติบโตขึ้นได้อย่างอุดมสมบูรณ์มากในหุบป่าตาด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจ ที่แม้จะเป็นป่าเล็กๆ แต่กลับมีต้นไม้ พืชพันธุ์ และสัตว์ป่า นานาชนิด เจริญเติบโตอยู่ภายในถ้ำ ให้เราได้ชมความงดงามและความตื่นตา ตื่นใจ ที่ให้เราได้สัมผัสสิ่งที่เรียกว่าความเป็นธรรมชาติจริงๆ ยังคงมีอยู่ให้เราได้ช่วยกันปกป้องและรักษาไว้ให้คงอยู่ไปนานๆ” นายสุชาติ กล่าว