ดูแลฟันหลังรักษารากฟัน

หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษารากฟันเสร็จสมบูรณ์แล้ว ขั้นตอน “การบูรณะฟันถาวร” จัดเป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งที่มีผลกำหนดชะตาชีวิตของฟันซี่ดังกล่าวว่าจะอยู่หรือจะแตก จนต้องถูกถอนออกไปในที่สุด

ทั้งนี้ จะเลือกการบูรณะฟันถาวรแบบใด ขึ้นกับเนื้อฟันที่เหลืออยู่หลังรักษารากฟันเสร็จแล้ว โดยฟันที่เหลือเนื้อฟันมาก สามารถบูรณะด้วยวัสดุอุดฟันได้ ส่วนฟันที่เหลือเนื้อฟันน้อย จะต้องบูรณะด้วยวัสดุบูรณะชนิดคลุมปุ่มฟัน เช่น ครอบฟัน หรือออนเลย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ฟันที่ได้รับการรักษารากฟันส่วนใหญ่มักจะเสียเนื้อฟันไปมาก ทำให้การบูรณะด้วย “ครอบฟัน” เป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับรักษารากฟันส่วนใหญ่ โดยเฉพาะฟันหลังซึ่งมีหน้าที่หลักในการบดเคี้ยวอาหาร

นอกจากการบูรณะฟันถาวรจะมีความสำคัญในด้านการป้องกันการแตกหักของฟันแล้ว ยังมีบทบาทในการป้องกันไม่ให้น้ำลายรั่วซึมผ่านวัสดุบูรณะชั่วคราวเข้าไปปนเปื้อนในตัวฟัน จนต้องรักษารากฟันใหม่อีกครั้ง ทำให้เสียทั้งเงินและเวลาอีกด้วย

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ “การบูรณะฟันถาวร” โดยเวลาที่เหมาะสมสำหรับการบูรณะฟันถาวรคือ ทำเร็วที่สุดที่เป็นไปได้หลังรักษารากฟันเสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งมักจะสามารถทำได้ทันทีหลังวัสดุอุดคลองรากฟันแข็งตัวดีแล้วในวันต่อมา เพื่อปกป้องฟันดังกล่าวจากการแตกหัก และการรั่วซึมของน้ำลาย

อย่างไรก็ตาม แม้จะรักษารากฟันและบูรณะฟันถาวรเรียบร้อยแล้ว ฟันดังกล่าวก็ไม่ใช่ฟันเหล็กที่จะไม่มีโอกาสเกิดการผุหรือการแตกหักได้อีก ดังนั้น แม้จะสามารถใช้ฟันดังกล่าวในการบดเคี้ยวอาหารได้เช่นเดียวกับฟันปกติ แต่ยังต้องระมัดระวังไม่เคี้ยวอาหารที่แข็งเกินไป เช่น กระดูกอ่อน ถั่ว หรือน้ำแข็ง และจะต้องทำความสะอาดในลักษณะเดียวกับที่ทำในฟันปกติโดยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน รวมถึงการใช้ไหมขัดฟันวันละครั้งตอนก่อนนอนเป็นอย่างน้อยด้วย

สุดท้ายนี้ หลังจากที่รักษารากฟันเสร็จประมาณ 1 ปี แนะนำให้กลับมาตรวจติดตามผลการรักษากับทันตแพทย์ที่รักษารากฟัน หากผลการรักษาไม่ดีขึ้น ทันตแพทย์จะพิจารณาให้การตรวจและรักษาเพิ่มเติมที่เหมาะสมต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน