แนะเมนู “ไข่ เนื้อ ปลา เนื้อไก่” เพื่อสุขภาพที่ดี

ในยุคที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพ การรู้จักเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย เป็นปัจจัยที่ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตและมีสุขภาพแข็งแรง นักกำหนดอาหารวิชาชีพมีข้อแนะนำสำหรับการเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี สร้างบริโภคนิสัยที่ดี ป้องกันการเกิดโรค ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

อาจารย์แววตา เอกชาวนา นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ให้คำแนะนำวิธีการเลือกรับประทานอาหารในแต่ละมื้อว่า อาหารในมื้อเช้าของแต่ละวันควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ข้าวสวย ผักต้ม ผัดผัก แกงจืดเต้าหู้ ข้าวต้มปลา โจ๊กหมู ที่สำคัญไม่ควรอดอาหารมื้อเช้า เพราะการอดอาหารมื้อเช้ามักทำให้เราบริโภคมากขึ้นในมื้อต่อไป ความหิวจะทำให้การตัดสินใจเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายลดน้อยลง นอกจากนี้ ผู้บริโภคควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยและดูดซึมอาหาร ซี่งจะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานอย่างพอเหมาะ เพราะตามกลไกการทำงานของร่างกาย จะใช้เวลาประมาณ 20 นาทีหลังรับประทานอาหารจึงจะรู้สึกอิ่ม ดังนั้นหากในช่วงระหว่างเวลาดังกล่าว ผู้บริโภคเคี้ยวอาหารเร็ว จะมีผลต่อการบริโภคอาหารมากเกินไป

มื้อกลางวัน เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย มีไขมันน้อย หรืออาหารที่ย่อยง่าย ประเภท ไข่ ปลา กุ้ง อกไก่ที่ไม่มีหนัง เพราเส้นใยไม่เหนียว เนื้อนุ่ม เคี้ยวง่าย ช่วยให้ระบบย่อยของร่างกายไม่ต้องทำงานหนัก ซึ่งควรรับประทานควบคู่ไปกับการรับประทานผักและผลไม้ โดยเมนูแนะนำสำหรับอาหารกลางวัน เช่น ก๋วยเตี๋ยวยน้ำไก่ตุ๋น ข้าวสวย ผัดบวบกุ้ง แกงจืดวุ้นเส้นไก่สับ ผลไม้สด ข้อแนะนำสำหรับการนำเนื้อหมูหรือเนื้อวัวมาประกอบอาหาร ควรหั่นตามขวางแส้นใยของเนื้อ หรือควรสับหรือบดให้ละเอียด เพราะจะช่วยให้ย่อยได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การปรุงอาหารจากเนื้อสัตว์ก็มีความสำคัญ ควรเลือกการปรุงแบบ ต้ม ปิ้ง ย่าง หรือนึ่ง แทนการทอดกรอบ เพราะน้ำมันจากการทอดเนื้อสัตว์จะทำให้เนื้อสัตว์ที่ย่อยยากอยู่แล้ว เมื่อผ่านกระบวนการทอด ทำให้เนื้อสัตว์แข็งและย่อยยากขึ้น และน้ำมันซึ่งเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงและย่อยยาก เมื่อเข้าสู่ระบบการย่อยของร่างกายจะต้องใช้เวลานานในการย่อยไขมันที่อยู่ในร่างกายของเราเป็นเวลานานก็จะมีผลต่อร่างกาย อาทิ เกิดอาหารท้องอืด แน่นท้อง

อาหารเย็นแนะนำให้รับประทานเหมือนกับมื้อกลางวัน เลือกเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย ปรุงรสไม่จัด เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ให้หลากหลาย เช่น กลางวันกินปลา มื้อเย็นกินเนื้อไก่ เมนูแนะนำสำหรับมื้อเย็น ข้าวสวย ไข่ตุ๋น ผัดผักกาวขาว ปลานึ่งซีอิ๊ว ข้าวต้มปลา ผลไม้สด

การเตรียมพร้อมด้านโภชนาการ จะช่วยให้อิ่มกาย อิ่มใจ และต้องไม่ลืมว่าร่างกายของเราต้องการอาหารครบทั้งห้าหมู่ในทุกมื้อ โดยควรเน้นการกินผักและผลไม้ให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม หรือเทียบเท่ากับผักต้มสุกวันละ 3 ทัพพี และผักสดประมาณวันละ 2-3 อุ้งมือ หรือถ้วยกาแฟพูนๆ 1-2 ถ้วย ผลไม้ขนาดเท่ากำปั้น 2-3 ถ้วย ผลไม้ขนาดเท่ากำปั้น 2-3 ผล หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัด มันจัด และเค็มจัด กินอาหารครบมื้อโดยเฉพาะมื้อเช้าและออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้มีสุขภาพแข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกวัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2560 – วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2560