รัฐเดินหน้าเต็มสูบดึงยางใช้ในประเทศต่อเนื่อง ดันแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใช้งานภาครัฐ พร้อมเร่งขยายผล รณรงค์ทุกภาคส่วนร่วมมือใช้สินค้าที่มีวัตถุดิบยาง

กยท. เผยการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ หวังเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง คาดปี 61 รัฐจะใช้น้ำยางข้น และยางแห้ง รวมประมาณ 11,049 ตัน เพิ่มนวัตกรรม พร้อมหนุนผู้ประกอบการทุกระดับ รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพ ให้ต่อยอดสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มมูลค่าสู่การส่งออกระหว่างประเทศ   

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง เผยความคืบหน้าโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้นโยบายเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศของรัฐบาลว่า จากการบูรณาการของภาครัฐในการนำร่องนำยางพาราไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2559 มีการนำยางพาราไปใช้แล้วตามแผนของแต่ละกระทรวง เป็นน้ำยางข้น 22,321.54 ตัน และยางแห้ง 2,953.16 ตัน รวมงบประมาณกว่า 16,925 ล้านบาท เช่น การซ่อมแซมและปรับปรุงถนนบนคันคลองและถนนทางเข้าหัวงาน ฝายยาง แผ่นยางพาราปูคอกโคนม บล็อกยาง ปรับปรุงถนนผิวทางพาราแอสฟัลต์คอนกรีต ที่นอนและหมอนยางพารา ปูยางสระเก็บน้ำ ตลอดจนการทำสนามเด็กเล่น สนามฟุตซอล และยางล้อ เป็นต้น ภาครัฐมีการนำยางไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ อย่างเต็มที่ พร้อมทั้ง สานต่อนโยบายต่อเนื่องในปี 2561 รัฐจะใช้น้ำยางข้น 9,916.832 ตัน และยางแห้ง 1,132.390 ตัน รวมงบประมาณกว่า 11,589 ล้านบาท ซึ่งปริมาณส่วนใหญ่จะใช้สนับสนุนงานตามภารกิจของกระทรวงคมนาคม เช่น เสาหลักนำทางยางพาราที่จะดูดซับปริมาณยางออกจากระบบประมาณ 2,500 กว่าตัน ด้านกระทรวงกลาโหม แปรรูปทำหมอนที่นอนให้กับทหาร ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เน้นแก้ไขระบบการจัดการน้ำ เป็นหลัก

“กรณีนำยางพาราไปใช้ทำถนนที่ได้รับรองมาตรฐานแล้ว ได้แก่ ถนนลาดยางมะตอยผสมยางพาราชนิดผสมร้อน ใช้ยางประมาณ 3.6 ตันยางแห้งต่อกม. (ถนนกว้าง 12 เมตร)  ถนนพาราสเลอรี่ซีล ใช้ยางประมาณ 0.54 ตันยางแห้งต่อกม. (ถนนกว้าง 12 เมตร) ล่าสุด มีถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ ใช้ยางพารา 8.12 ตันต่อถนน 1 กม. (กว้าง 10 เมตร) อยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อให้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ซึ่ง กยท. ได้สนับสนุนทุนในการทดสอบเพื่อออกการรับรองมาตรฐาน และคาดว่า ในเดือนเมษายน 2561 จะสามารถเข้าสู่กระบวนการนำไปใช้จริง จะเพิ่มทางเลือกในการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ยางพาราได้เพิ่มมากขึ้น” นายณกรณ์ กล่าวย้ำ

นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาครัฐยังสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการ เพื่อช่วยดูดซับยางพาราเพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ด้วยเช่นกัน มีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 8,887 ล้านบาท (รัฐชดเชยดอกเบี้ยประมาณ 266 ล้านบาท/ปี) จะส่งผลทำให้ปริมาณการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 35,550 ตัน/ปี และเพื่อขยายผลให้เกิดผลิตภัณฑ์ยางในประเทศมากขึ้น ตลอดจนกลุ่มสตาร์ทอัพ ล่าสุดมี 44 บริษัท เป็นตัวแทนจากผู้ผลิต สหกรณ์สมาชิกทั่วประเทศร่วมหันมาเพิ่มมูลค่าในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ทาง กยท. ได้หาตลาดเพื่อให้เกิดการเจรจาซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางระหว่างประเทศและนำผู้ประกอบการไปเปิดตลาดในต่างประเทศ

“ภาครัฐเดินหน้าผลักดันนำยางพาราไปใช้ พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีกำลังในการผลิตแล้ว และเร่งคิดค้นวิจัยหาผลิตภัณฑ์ตัวอื่นที่สามารถปรับเปลี่ยนวัตถุดิบนำยางพาราไปเป็นส่วนผสมได้ เพื่อดูดซับปริมาณยางมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ในประเทศ แต่อยากให้เข้าใจถึงวงจรระบบผู้ผลิต-ผู้บริโภค สำคัญที่สุด คือ ความต้องการใช้ สิ่งที่ดำเนินการขณะนี้ จึงเป็นการผลักดันความต้องการใช้ยางในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่หน่วยงานรัฐ หรือผู้ประกอบการ แต่รวมถึงประชาชนทั่วทั้งประเทศจะต้องร่วมมือกัน” นายณกรณ์ กล่าวย้ำ

ทีมข่าวประชาสัมพันธ์การยางฯ