มา ‘ชุมพร’ ต้องไม่พลาด ‘กาแฟถ้ำสิงห์’ ‘ปลูก-คั่ว-อบ’ จากท้องถิ่น-สู่แบรนด์ระดับชาติ

ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่่ผ่านมา “พล.อ.ดนัย มีชูเวท” ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ปธ.กมธ.กษ.สนช.) นำคณะลงพื้นที่ จังหวัดชุมพร หนึ่งในโปรแกรมการเดินทาง คือ การเข้าเยี่ยมชมกิจการของ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟถ้ำสิงห์” ที่ ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โดยมี “พล.ต. กลชัย สุวรรณบูรณ์” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) “เลิศพรไชย ไชยฤทธิ์” รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การต้อนรับ และ “ณปพน พรหมมณี” ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟถ้ำสิงห์ กล่าวบรรยายสรุป ก่อนนำคณะเข้าชมขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่สวนกาแฟ โรงคั่วบดกาแฟ และโรงอบเมล็ดกาแฟด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟถ้ำสิงห์

พล.อ. ดนัย กล่าวว่า นำคณะ กมธ.กษ.สนช.มาศึกษาดูงานการผลิตกาแฟชุมพรที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟถ้ำสิงห์ ทำให้ทราบว่ากาแฟพันธุ์โรบัสต้าของชุมพรถือเป็นสมบัติล้ำค่าและเป็นเสน่ห์ของท้องถิ่น ซึ่งนอกจากปลูกกาแฟแล้วยังมีการปลูกผลไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ทุเรียน รวมอยู่ในสวนกาแฟในลักษณะของสวนผสมด้วย ส่วนรสชาติของกาแฟชุมพรถือว่ามีรสชาติที่สามารถพัฒนาเป็นกาแฟระดับโลกได้ หากต่อยอดจากกาแฟ 3 in 1 เป็น 4 in 1 คืออาจใส่พืชสมุนไพรของชุมพรลงไปเหมือนที่ภาคเหนือใส่ดอกคำฝอยลงไปในกาแฟ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กาแฟชุมพร แต่ทั้งนี้ต้องรักษาเอกลักษณ์ของกาแฟชุมพรเอาไว้ นั่นคือรักษารสชาติให้กลมกล่อม ไม่เปรี้ยว มีรสขมแบบพอเหมาะ รู้สึกดีใจที่เห็นกาแฟชุมพรหลายยี่ห้อไปวางจำหน่ายที่ตลาดกรุงเทพฯ เช่น ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเคยชิมมาแล้ว

“ปกติผมไม่ใช่นักดื่มกาแฟ แต่เมื่อได้ดื่มกาแฟชุมพรรู้สึกติดใจในรสชาติของกาแฟชุมพรแล้ว ดังนั้น จึงแนะนำวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟถ้ำสิงห์ว่าทำอย่างไรจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนเพิ่มขึ้นมากเกินไป และมีราคาที่เกษตรกรต้องอยู่ได้ หากสามารถส่งขายต่างประเทศได้ จะทำให้วงการกาแฟชุมพรสามารถสร้างตลาดในต่างประเทศได้ เหมือนที่ขณะนี้ประเทศเวียดนามเพื่อนบ้านเรากำลังทำ หรือประเทศบราซิลกำลังคุมตลาดโลกเรื่องกาแฟอยู่ ยิ่งตอนนี้มีการเปิดประตู AEC การแข่งขันเรื่องคุณภาพของผลผลิตจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ

รู้สึกดีใจที่ทราบว่ากำลังมีการผลักดันกาแฟชุมพรให้เป็นสินค้าเชิงเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ โดยเริ่มที่กาแฟถ้ำสิงห์ก่อน หากทำสำเร็จจะถือเป็นแบรนด์ของชาวชุมพรได้ทันที สิ่งที่ตามมาคือมูลค่าของกาแฟที่จะเพิ่มขึ้น และจังหวัดใกล้เคียงจะหันมาทำตาม” พล.อ.ดนัย กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณข้อมูลจาก ทวีลาภ การะเกด