หินปูนคืออะไร

หินปูน หรือ “หินน้ำลาย” คือ การตกตะกอนของแร่ธาตุของน้ำลาย หรือของเหลวในช่องปาก เช่น น้ำเหลืองเหงือก (Gingival crevicular fluid) ซึ่งหินปูนนั้น ประกอบด้วย สารอนินทรีย์มากมาย เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส คาร์บอเนต โซเดียม แมกนีเซียม เป็นต้น แร่ธาตุเหล่านี้จะก่อตัวเป็นผลึกรูปแบบต่างๆ ตามองค์ประกอบ และอายุของหินปูน เช่น Hydroxyapatite, Whitlockite, Brushite เป็นต้น

การเกิดหินปูนนั้น เริ่มจากไกลโคโปรตีนในน้ำลาย ที่เรียกว่า Pellicle จะเริ่มมาจุบที่ผิวฟันเกิดเป็นเค้าโครงซึ่งจะเหนี่ยวนำให้คราบจุลินทรีย์ (คราบพลัค) หรือ Dental plaque มาเกาะเป็นชั้นถัดไป คราบจุลินทรีย์นี้ มีแบคทีเรียมากมายหลายชนิดอาศัยอยู่ร่วมกัน และแบคทีเรียเหล่านี้จะสร้างสารต่างๆ มาเพื่อปกป้องตัวมันจากอันตราย รวมทั้งสร้างสารที่มีลักษณะเหนียวมาเพื่อยึดเกาะกับพื้นผิวฟันของเรา เนื่องจากในช่วงปากของเราเต็มไปด้วยจุลชีพ โดยเฉพาะแบคทีเรียมากมาย

เราสามารถสังเกตเห็นคราบจุลินทรีย์ได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งจะมีลักษณะเป็นแผ่นคราบบางๆ อยู่ที่ผิวฟัน โดยจะพบมากที่บริเวณคอฟัน และมักมีสีขาวขุ่น หรือเหลืองน้ำตาล เมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดการตกตะกอนของแร่ธาตุในน้ำลาย หรือของเหลวในช่องปากทำให้คราบจุลินทรีย์เริ่มแข็งกลายเป็นหินปูน ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

แท้จริงแล้วหินปูนไม่ใช่สาเหตุของโรคปริทันต์ หรือโรคเหงือกอักเสบ แต่เนื่องจากพื้นผิวของหินปูนมีลักษณะเป็นรูพรุน และขรุขระที่เกาะแน่นอยู่บริเวณฟันจึงส่งเสริมให้คราบจุลินทรีย์ ซึ่งคือสาเหตุหลักของโรคปริทันต์มาเกาะง่ายยิ่งขึ้น และสัมผัสกับเหงือกและฟันอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบของเหงือกขึ้น

การแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันทุกวัน จะช่วยกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้น แต่หากเราปล่อยปละละเลยจนคราบจุลินทรีย์ตกตะกอนแข็งกลายเป็นหินปูนแล้วก็จะไม่สามารถแปรงออกได้ต้องมาพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูน

ดังนั้นโรคปริทันต์ อันหมายรวมถึงโรคเหงือกอักเสบเป็นโรคที่ป้องกันได้หากเราใส่ใจดูแล แปรงฟันให้ถูกวิธี ใช้ไหมขัดฟันทุกวันและไปพบทนตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน

เพียงเท่านี้ เราก็จะมีสุขภาพเหงือและฟันที่แข็งแรง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561