เผยแพร่ |
---|
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก อาจจะด้วยอิทธิพลของพลังสื่อสารมวลชนอิสระหลายแพลทฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือ ทวิตเตอร์ ซึ่งมีผลทำให้ผู้ชี้นำ (trendsetter) การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเปลี่ยนไปจากเดิม คือ ภาคอุตสาหกรรมฝ่ายเดียว แต่อินฟลูเอนเซอร์ (influencer) บล็อกเกอร์ (blogger) มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคตามไปด้วย
ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความต้องการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ผ่านการปรุงแต่งที่น้อย ใช้สารเคมีน้อย ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ “Less is more, more is more” เป็นอย่างมาก กล่าวคือ ความนิยมในการบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก ขนมขบเคี้ยว เบเกอรี่ ฯลฯ ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันน้อย ปราศจากไขมันทรานส์ (Trans Fat) ลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว (Simple Carbohydrates) และปริมาณโซเดียมน้อย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ต้องการควบคุมอาหาร อาจเนื่องจากโรคความดันโลหิต หรือ ควบคุมน้ำหนัก เป็นต้น
นอกจากกลุ่มอาหารที่กล่าวข้างต้น ผลิตภัณฑ์ธัญพืช โปรตีนจากพืชและกลุ่มผลิตภัณฑ์ “Vegan” เป็นที่นิยมมากในประเทศแถบยุโรป และคาดว่าจะขยายตัวมายังประเทศไทยในไม่ช้า เช่น โปรตีนจากถั่วลันเตา (pen protein) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในผู้บริโภคกลุ่มนิยมการออกกำลังกาย ได้ให้ความสนใจกับโปรตีนถั่วลันเตาแทน โปรตีนเวย์ (whey protein) และ โปรตีนถั่วเหลือง (soy protein) เป็นอย่างมากและมีแนวโน้มที่จะสามารถแทรกตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มโปรตีน
อีกผลิตภัณฑ์ คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติหรือสารสำคัญจากธรรมชาติที่ออกฤทธิ์ทางยา ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เรียกว่า “Nutraceutical” หรือ อาหารโอสถ นั่นเอง เกิดจากคำผสมระsว่างคำว่า “Nutrition” แปลว่าโภชนาการ และคำว่า “Phamaceutical” ที่แปลว่ายา เข้าด้วยกัน อาหารกลุ่มนี้หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่อยู่ในรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม หรือขนมขบเคี้ยวทั่วไป จนถึงผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเม็ดที่คุ้นเคย
เมื่อกล่าวถึงข้อกฎหมายของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้จัดกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในหมวดหมู่ของ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 293) พ.ศ. 2548 เรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ได้มีคำนิยามของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารว่า “ผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ ซึ่งมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ อยู่ในรูปแบบเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลวหรือลักษณะอื่น ซึ่งมิใช่รูปแบบอาหารตามปก9b (conventional foods) สำหรับผู้บริโภคที่มีสุขภาพปกติ (มิใช่ผู้ป่วย) ใช้รับประทานโดยตรง นอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติ โดยคาดหวังทางด้านส่งเสริมสุขภาพ”
ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง คำชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 309) พ.ศ. 2550 เรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 โดยกำหนดให้มีข้อแนะนำในการบริโภคและคำเตือนเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดในการบริโภคไม่ถูกต้อง ดังนี้ ข้อ 2 ให้แสดงข้อแนะนำในการบริโภค ว่า “ควรกินอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นประจำ” ด้วยสีและขนาดของตัวอักษรเห็นได้ชัดเจน ข้อ 3 ให้แสดงคำเตือน “ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค” ด้วยตัวอักษรหนาทึบเห็นได้ชัดเจนโดยแสดงอยู่ในกรอบ และสีของตัวอักษรตัดกับสีพื้นของกรอบ
อาจกล่าวได้ว่า ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีแนวโน้มการเติบโตสูง โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอัดเม็ดหรือแคปซูลบรรจุขวด ซึ่งเป็นการกำหนดกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) แต่ได้แทรกตัวเป็นส่วนหนึ่งของส่วนแบ่งการตลาดของผลิตภัณฑ์บริโภคปกติ (mass market) เช่น เครื่องดื่มเสริมเปปไทด์ เครื่องดื่มเสริมคอลลาเจน กาแฟผสมถั่งเช่า กาแฟผสมคอลลาเจน โยเกิร์ตเสริมแอลคาร์นิทีน (L-camitine, อนุพันธ์ของกรมอะมิโนชนิดหนึ่ง) นมสดพาสเจอไรซ์เสริมโปรตีนเวย์ นมสดพาสเจอไรซ์เสริมคอลลาเจน เป็นต้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคได้หันมาทุ่มเทกับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน มากกว่าการรักษาตัวหลังป่วยมากยิ่งขึ้น และผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์จากความเชื่อในคุณสมบัติของส่วนประกอบเป็นแรงผลักดันในการทำการตลาด ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จึงมีโอกาสที่จะเติบโตในตลาดสูง
อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคควรบริโภคเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ควรบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทดแทนอาหารปกติ การได้รับอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นประจำยังเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ร่างกายต้องการ
ดร.อรไท สวัสดิชัยกุล
หน่วยอาหารเชิงพันธภาพ ฝ่ายโภชนาการและสุขภาพ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
www.cpfworlwide.com
ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 8 – วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม 2561