เนื้อหมูปลอดภัย ไม่มีสารเร่งเนื้อแดง

ข้อสงสัยว่าทำไม? จึงมีการแอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในฟาร์มปศุสัตว์ คำตอบ ก็คือ เป็นความต้องการของผู้บริโภคนั่นแหละที่ต้องการเนื้อสัตว์ที่มีมันน้อย เนื้อสีแดงสวย ที่กังวลกันมากคือ การลักลอบนำมาใช้กับสุกร วัว และสัตว์ปีก เพราะสารนี้จะทำให้สัตว์เลี้ยงสะสมไขมันได้น้อยลง และช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อแดงเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศต่างๆ กว่า 196 ประเทศทั่วโลก เช่น ยูโรป จีน รัสเซีย รวมทั้งประเทศไทย ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการผลิตอาหารสัตว์โดยเด็ดขาด โดยในประเทศไทยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta – agonists) กำหนดให้อาหารทุกชนิด ต้องไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่ม  Beta – agonists และเกลือของสารกลุ่มนี้ ตัวอย่างเช่น สาร Ractopamine จะมีเกลือคือ สารแรคโตพามีน ไฮโดรคลอไรด์ (Ractopamine Hydrochloride) รวมถึงสารที่เกิดขึ้นในกระบวนการสร้างและ/หรือสลาย (Metabolite) ของสารดังกล่าว เช่น Metabolite ของสาร Ractopamine ได้แก่ แรคโตพามีน กลูโคโรไนด์ (Ractopamine Glucoronide) และแรคโตพามีน ไดกลูโคโรไนด์ (Ractopamine Diglucoronide)

ความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภค กรมปศุสัตว์ของไทยจึงห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ผสมในอาหารสัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นซัลบูทามอล เคลนบูเทอรอล และแรคโตพามีน ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 เนื่องจากหากใช้เกินขนาดจะทำให้สัตว์อยู่ในสภาพถูกทรมานและส่งผลร้ายต่อผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการปราบปรามการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างเข้มงวดและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง

ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคถึงวิธีดูว่าเนื้อสัตว์ที่บริโภคใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือไม่ ให้สังเกตจากสีของเนื้อที่จะคล้ำกว่าปกติ เวลาหั่นทิ้งไว้เนื้อสัตว์จะแห้ง ผิดกับเนื้อสัตว์ปกติที่เมื่อหั่นแล้วจะมีน้ำซึมออกมาบริเวณผิว และในส่วนของหมูสามชั้น หมูปกติจะมีเนื้อแดง 2 ส่วน ต่อมัน 1 ส่วน (33%) แต่สำหรับหมูใช้เร่งเนื้อแดงจะมีปริมาณเนื้อสูงถึง 3 ส่วนต่อมัน 1 ส่วน (25%) นั่นคือ มีเนื้อแดงมากกว่ามัน

นอกจากนี้ เพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค ก่อนเลือกซื้อเนื้อหมูมาบริโภค ควรเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ มีมาตรฐานในการผลิตเนื้อหมูตั้งแต่ ฟาร์ม อาหารสัตว์ ระบบการเลี้ยง การดูแลสุขภาพ ตลอดจนถึงกระบวนการเชือดและชำแหละที่ได้มาตรฐานสากล หรือซื้อจากร้านค้าที่มีป้ายรับรองจากหน่วยงานราชการ เช่น ป้ายทอง สัญลักษณ์อาหารปลอดภัย (Food Safety) หรือตรารับรองของกรมปศุสัตว์ เครื่องหมาย “ปศุสัตว์ OK” เป็นต้น

ยังมีประเด็นที่กระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หากมีการเปิดให้มีการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐอเมริกา เพราะการเลี้ยงหมูในสหรัฐฯ มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (แรคโตพามีน) แต่ไทยมีกฎหมายที่ห้ามการใช้สารแรคโตพามีนและสารเร่งเนื้อแดงอื่นๆ ในการเลี้ยงโดยเด็ดขาด ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภค

ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

www.cpfworldwide.com

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 – วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน 2561