ท้าพิสูจน์…เปลือกทุเรียน ใช้ซักผ้าได้ ในงานสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา 6-7 พ.ค. นี้ ที่โคราช

กระแสทุเรียนหมอนทองไทยที่กำลังมาแรง สร้างปรากฏการณ์ขายดีขายได้มากกว่า 80,000 ลูก ทางเว็บไซต์ในเวลาเพียง 1 นาที จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปหลายแง่มุม แต่อย่างไรก็ดี ทุเรียน ก็เป็น “ราชาแห่งผลไม้ไทย” ที่มีชื่อเสียง เป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญที่มีการผลิตและจำหน่ายเป็นจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ

กระแสขายทุเรียนออนไลน์ยังได้สร้างกระแสรับรู้ให้เกิดการบริโภคภายในประเทศมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับชาวสวนทั้งหลาย แต่ปัญหาสิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกพื้นที่ชุมชนก็คือ การเพิ่มพื้นที่ขยะจากเปลือกทุเรียน ที่นอกเหนือจากกลิ่นแล้ว ก็ยังมีหนามแหลมคม เป็นปัญหาตามมาซึ่งเป็นหน้าที่ของเทศบาล อบต. ชุมชนต่างๆ ในการกำจัดดูแล

นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุรนารี จ.นครราชสีมา ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และเป็นที่มาให้เกิดการค้นคว้าจนกระทั่งพบว่า เปลือกทุเรียนหมอนทอง มีปริมาณเซลลูโลสซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของผนังเซลล์พืชอยู่ถึง 30% และสามารถนำเซลลูโลสมาแปรคุณสมบัติเป็น “คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส หรือ CMC (Carboxymethy Cellulose)” ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารลดแรงตึงผิว สามารถใช้เป็นส่วนผสมในการทำผงซักฟอกและน้ำยาซักฟอกได้

 

น.ส. ญาณิศา ด้วงคำจันทร์ นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุรนารี จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมผู้วิจัยโครงการผลิตน้ำยาซักฟอกจากเปลือกทุเรียนหมอนทอง กล่าวว่า แต่ละปีจะมีเปลือกทุเรียนถูกกองทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก  จากข้อมูลการใช้ทุเรียนสดเพื่อแปรรูปหนึ่งตัน จะมีปริมาณเปลือกเหลือทิ้ง เกือบ 600 กก. หรือกว่า 58 % ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะกองทิ้งไว้ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการกำจัด และเมื่อทดลองนำเปลือกทุเรียนหมอนทองมาทดลองผลิตน้ำยาซักฟอก ผลการทดสอบพบว่า

“…การสกัดเซลลูโลสสามารถใช้ทุกส่วนของเปลือกทุเรียนโดยไม่เหลือทิ้ง ทั้งนี้ประสิทธิภาพการขจัดคราบของน้ำยาซักฟอกจากเปลือกทุเรียนนี้ สามารถขจัดคราบสิ่งสกปรกเช่นเหงื่อ โคลน ลิปสติก และคราบกาแฟบนเสื้อผ้าได้ดีกว่าถ้าวัดกันตัวต่อตัวเปรียบเทียบกับ น้ำยาซักฟอกที่ใช้ส่วนผสมแบบเดียวกันแต่ใช้สาร CMC ที่มาจากท้องตลาด แต่ทั้งนี้ไม่นับรวมผลิตภัณฑ์ซักฟอกยี่ห้อดังต่างๆ ในซุปเปอร์มาร์เก็ตเพราะมีส่วนผสมที่แตกต่างกัน

ด้านนางชุติมา โชคกนกวัฒนา ครูที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า “…หมู่คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส หรือ CMC ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างแพร่หลาย อาทิ อุตสาหกรรมซักฟอก สี กาว สิ่งทอ กระดาษ เซรามิค เครื่องสำอางอาหารและยาเนื่องจากไม่มีกลิ่น ไม่มีสี ไม่มีรส ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ สารลดแรงตึงผิดบางชนิดที่เข้มข้นเกินไป หรือมาจากการปล่อยน้ำซักผ้าหรือน้ำยาล้างจานที่เข้มข้นซึ่งมีสารลดแรงตึงผิวเป็นส่วนประกอบลงในแม่น้ำลำคลอง อาจส่งผลต่อทัศนียภาพและกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ซึ่งก็เป็นที่น่าคิดต่อไปว่าสารลดแรงตึงผิวจากเปลือกทุเรียนธรรมชาตินี้จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมหรือคุณค่าทางเศรษฐกิจได้เพียงใด…”

พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า นี่คือ จุดเริ่มต้น และเป็นหนึ่งในหลายผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ผลงานของเหล่านักเรียนอาชีวศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการได้นำมาจัดแสดงเพื่อเปิดให้ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถเจรจาให้คำแนะนำเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ในระดับต่อไป

สำหรับครั้งนี้ ได้จัดขึ้นเป็น ครั้งที่ 2 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังนำร่องโครงการขับเคลื่อนนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบธุรกิจจริง โดยการจัดกิจกรรมให้อาชีวศึกษาภาคตะวันออกทั้งหมดรวมถึงพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นำนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลระดับภาค กว่า 100 ผลงาน มาจัดแสดง พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม มาชมและร่วมเจรจาจับคู่ธุรกิจ ณ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อไม่นานนี้

การจัดงานดังกล่าวได้ผลการตอบรับจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมากให้ความสนใจมีทั้งการซื้อขายสิ่งประดิษฐ์ แนะนำการผลิตเพื่อต่อยอดใช้จริงในระบบอุตสาหกรรม ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ จึงขยายผลกิจกรรมดังกล่าวทั้ง 6 ภาค ทั่วประเทศ หวังเพิ่มโอกาสการพัฒนาต่อเชื่อมกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาประเทศและเจริญเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน

” กระทรวงศึกษาธิการ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการทั้งที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือประชาชนที่สนใจทั่วไป สามารถเข้าชมนิทรรศการ เลือกซื้อ หรือเจรจาธุรกิจ ในกิจกรรมโครงการขับเคลื่อนนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม โดยสถาบันอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด จะนำผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลระดับภาค ปี 2559 และ ปี 2560 รวมจำนวนเกือบ 200 ผลงาน ที่มีทั้งภาคเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีต่างๆ มาจัดแสดง ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ระหว่าง วันที่ 6-7 พฤษภาคม 2561 ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวในที่สุด