“ส้มตำ 90” สุดยอดมะละกอทานผลดิบ “ต้นกะเทย 90 เปอร์เซ็นต์” …ทนทานโรคไวรัสวงแหวน ผลดก เนื้อกรอบ

“มะละกอ” เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะมะละกอรับประทานผลดิบ ที่เป็นวัตถุดิบหลักของ “ส้มตำ” เมนูที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั่วทั้งประเทศ ทำให้สัดส่วนความต้องการมะละกอผลดิบมีมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการมะละกอทั้งหมด แต่ในแง่ของการผลิต เกษตรกรยังต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทั้งโรคระบาด สภาพอากาศที่แปรปรวน เมล็ดพันธุ์ด้อยคุณภาพ ตลอดจนปัญหาการปนเปื้อนของสายพันธุ์ที่ไม่ต้องการ ทั้งหมดล้วนส่งผลทั้งต่อปริมาณ คุณภาพและตลาดโดยตรง ด้วยเหตุนี้ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ศรแดง” จึงได้พัฒนามะละกอ “พันธุ์ส้มตำ 90” ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

คุณละไม ยะปะนัน ผู้จัดการงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด (ประเทศไทย) และในฐานะนักปรับปรุงพันธุ์ ให้ข้อมูลว่า เป้าหมายของการพัฒนามะละกอพันธุ์ส้มตำ 90 ก็เพื่อแก้ปัญหาด้านการผลิตให้กับเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรจะได้มีโอกาสเข้าถึงสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพที่ตรงตามของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันต้องปลูกและจัดการดูแลง่ายด้วย

“ส้มตำ 90” พันธุ์แรก! ของไทย ที่มีต้นกะเทย 90 เปอร์เซ็นต์

คุณละไมบอกว่า การพัฒนาพันธุ์มะละกอส้มตำ 90 ไม่ได้มุ่งไปที่ความต้องการของตลาดเท่านั้น หากแต่ต้องตรงความต้องการของเกษตรกรด้วย อย่างเรื่องผลผลิตต่อไร่ที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการแสดงลักษณะเพศของต้นมะละกอด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับลักษณะของผลผลิตโดยตรง ทั้งนี้หากมะละกอเป็นต้นกะเทยจะให้ผลผลิตที่ดี ทรงผลยาวตรงกับความต้องการตลาด ขณะที่หากเป็นต้นเพศเมียให้ผลผลิตที่กลมไม่เป็นที่ต้องการ

“โดยทั่วไปเมล็ดพันธุ์มะละกอที่เกษตรกรเก็บไว้เอง เมื่อนำมาปลูกมีโอกาสเป็นต้นกะเทยประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 30 เปอร์เซ็นต์เป็นต้นตัวเมีย เกษตรกรจึงต้องเพาะกล้าถุงละ 3 ต้น เพราะเมื่อนำไปปลูกในแปลงแล้ว พออายุได้ 3-4 เดือน เริ่มออกดอก ก็จะเห็นว่าต้นไหนเป็นกะเทยหรือต้นไหนเป็นตัวเมีย ซึ่งก็จะตัดต้นตัวเมียทิ้งให้เหลือแต่ต้นกะเทยหลุมละ 1 ต้น ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้ทั้งแปลงมีแต่ต้นกะเทยนั่นเอง”

เทคนิคนี้เป็นวิธีที่เกษตรกรใช้มาตลอด แม้ได้ผลในแง่ปฎิบัติ แต่ทว่าต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน ถึงจะทราบว่าต้นไหนเป็นกะเทย ซึ่งในระหว่างนี้เกษตรกรต้องเสียค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงงานในการจัดการดูแล รวมทั้งต้องใช้เมล็ดพันธุ์จำนวนมากด้วย ทั้งหมดล้วนเป็นต้นทุนทั้งสิ้น และการที่ปลูก 3 ต้นในหลุมเดียว มะละกอที่เบียดกันขึ้นมามีลักษณะเอนเอียง เมื่อตัด 2 ต้นทิ้งไป เหลือไว้หลุมละ 1 ต้น ต้นที่เอียงมักมีปัญหาช่วงติดลูกซึ่งรากยึดไม่ไหว ต้นไม่แข็งแรงเท่าที่ควร

“สำหรับมะละกอพันธุ์ส้มตำ 90 มีสัดส่วนของต้นกะเทยสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้เกษตรกรประหยัดค่าเมล็ดพันธุ์ลงไปได้มาก รวมทั้งค่าการจัดการดูแลในช่วงแรกด้วย เพราะหากเกษตรกรปลูกจำนวน 100 ต้น โดยใช้เมล็ดพันธุ์หลุมละ 1 ต้น ก็ทำให้ได้ต้นกะเทยแน่นอน 90 ต้น ซึ่งก็เป็นสัดส่วนที่พอรับได้ หรือลงปลูกหลุมละ 2 ต้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ต้นกะเทย 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งแปลงก็ได้ แต่อย่างไรพันธุ์ส้มตำ 90 ก็ยังใช้เมล็ดพันธุ์และปัจจัยการผลิตน้อยกว่าพันธุ์การค้าอื่นอยู่ดี” คุณละไม กล่าว

 

ส้มตำ 90 ตอบโจทย์ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

“ปัจจุบันชาวสวนมะละกอหรือผู้จำหน่ายต้นพันธุ์มักเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เอง ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่เก็บในสภาพแปลงปลูกทั่วไปมีการผสมข้ามกับพันธุ์อื่นๆ อยู่เสมอ ทำให้เมล็ดพันธุ์ที่ได้ไม่บริสุทธิ์ ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพไม่แน่นอน รวมทั้งปริมาณของผลผลิตก็ไม่ดีเท่าที่ควรด้วย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นข้อจำกัดของชาวสวนมะละกอมาโดยตลอด”

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของชาวสวนมะละกอก็คือ พันธุ์ที่นำมาปลูกมีการปนเปื้อนของสายพันธุ์ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม หรือ ที่เรียกว่ามะละกอ GMO โดยที่เกษตรกรไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้มีผลผลิตที่ปนเปื้อนออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่มีการพัฒนามะละกอพันธุ์ส้มตำ 90 ขึ้นมา ให้เป็นพันธุ์ที่ปราศจากการตัดต่อพันธุกรรม (Non GMO) จึงสามารถที่เปิดตลาดต่างประเทศได้

 

 คัดเลือกกว่า 100 สายพันธุ์

ใช้เวลานาน 15 ปี ได้มะละกอพันธุ์ดี “ส้มตำ 90”

ทางศรแดงได้ปรับปรุงมะละกอพันธุ์ส้มตำ 90 ด้วยวิธีธรรมชาติ โดยเริ่มจากการรวบรวมสายพันธุ์มะละกอทั่วประเทศไทย รวมถึงสายพันธุ์ของต่างประเทศด้วย มากกว่า 100 สายพันธุ์ เพื่อเฟ้นหาลักษณะต่างๆ ตามที่ต้องการ ซึ่งในขั้นตอนนี้ทุกพันธุ์ที่คัดเลือกมาจะทำการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นสายพันธุ์ที่ปลอดจากการตัดต่อพันธุกรรมจริงๆ หากตรวจพบก็คัดทิ้งในทันที

“สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยก็คือ ต้องเป็นสายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อโรคไวรัสใบจุดวงแหวน ซึ่งทดสอบโดยการนำแต่ละพันธุ์ที่คัดเลือกมาไปปลูกในสภาพแปลงยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อไวรัสชนิดนี้ พันธุ์ไหนที่ไม่ทนทานก็ถูกคัดทิ้ง ทั้งนี้โรคไวรัสใบจุดวงแหวนสร้างความเสียหายที่รุนแรงให้กับมะละกอ หากมีการระบาดต้องตัดต้นทิ้งอย่างเดียว จึงต้องคัดเลือกพันธุ์ที่มีความทนทานตั้งแต่แรก”

ขณะเดียวกันก็พิจารณาทั้งเรื่องของความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ลักษณะของต้น ปริมาณผลผลิต รวมทั้งน้ำหนักผล ความกว้าง ความยาว รูปทรง ปริมาณเนื้อ ความแน่นของเนื้อ อายุหลังการเก็บเกี่ยว ความทนทานต่อโรค ตลอดจนให้คะแนนเรื่องของเนื้อสัมผัสและรสชาติด้วย โดยทุกสายพันธุ์ที่นำมาคัดเลือกจะนำมาขูดรับประทานพร้อมให้คะแนน เพื่อดูว่าพันธุ์ไหนกรอบและให้รสชาติที่ดีที่สุด แล้วก็คัดเลือกพันธุ์นั้นๆ มาพัฒนาต่อให้เป็นสายพ่อและแม่พันธุ์ ก่อนที่นำมาผลิตเป็นพันธุ์การค้าเพื่อให้ได้ลักษณะตรงตามที่ต้องการ

“มะละกอพันธุ์ส้มตำ 90 ใช้เวลาการปรับปรุงพันธุ์นานถึง 15 ปี เนื่องจากช่วงอายุที่เริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์มาปลูกต่อได้ต้องใช้เวลาถึง 1.5 ปี ดั้งนั้น 1 ปี จะได้ผลผลิตที่นำขยายพันธุ์ต่อเพียง 1 รุ่นเท่านั้น และการที่พัฒนาพันธุ์ทั้งฝั่งของพ่อและแม่พันธุ์เพื่อให้เป็นสายพันธุ์แท้ ตรงนี้ใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 ปีแล้ว จากนั้นก็นำพ่อแม่พันธุ์มาผลิตสายพันธุ์เพื่อการค้าที่มีลักษณะตรงตามความต้องการ และสุดท้ายก็ได้มะละกอพันธุ์ส้มตำ 90 ขณะนี้ขึ้นทะเบียนพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

มะละกอพันธุ์ส้มตำ 90 ที่ได้ มีลักษณะของลำต้นที่ใหญ่ แข็งแรง ข้อสั้น ไม่สูงมาก ทำให้เก็บผลผลิตได้ง่าย มีความทนสภาพอากาศร้อนจัดหรือหนาวจัดได้ดี ทำให้ปลูกได้ทั่วประเทศและปลูกได้ทุกฤดูกาล อีกทั้งไม่มีปัญหาการเปลี่ยนเพศของต้น (จากกะเทยเป็นตัวเมีย)ด้วย ให้ผลผลิตเร็ว เพียง 6-7 เดือน หลังย้ายกล้าเท่านั้น

มะละกอส้มตำ 90 ติดผลดกให้ผลผลผลิตสูงถึง 150-200 ลูก/ต้น/รอบการผลิต ผลผลิตรูปทรงสวย มีความยาว33-35 เซนติเมตร นํ้าหนัก 1.2-1.5 กิโลกรัม/ลูก เนื้อแน่น หนา กรอบ อร่อย เป็นที่ต้องการของตลาด เหมาะสำหรับทำส้มตำ มีอายุหลังการเก็บนาน 5-7 วันก็ยังมีคุณภาพที่ดีอยู่ ที่สำคัญมีความทนทานโรคไวรัสใบจุดวงแหวนได้ดี แม้มีการระบาดในแปลงแต่ก็ยังให้ผลผลิตได้ปกติ