สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 เผยเทคนิคการขับเคลื่อน ศพก. ให้ประสบความสำเร็จ

นายไพศาล สังข์มงคล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ศพก. หรือศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรคือแหล่งเรียนรู้การผลิตสินค้าเกษตรที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับชุมชน และเป็นศูนย์กลางการบริการและแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานต่างๆ กับเกษตรกรในชุมชน โดยดำเนินการในพื้นที่ของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ สามารถเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรในชุมชน ในการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตรที่สำคัญของพื้นที่ ตั้งแต่การผลิต การบริหารจัดการ จนถึงการตลาด ตั้งขึ้นตั้งแต่ ปี 2557 อำเภอละ 1 ศูนย์ มี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ เกษตรกรต้นแบบ หลักสูตรการเรียนรู้ ฐานการเรียนรู้ และแปลงเรียนรู้ตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ต้องการให้มีศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรในระดับชุมชนที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเกษตร ดูแลเกษตรกร และช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรต่างๆ ในพื้นที่ โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ดำเนินการ

การดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีการพัฒนา ศพก. ภายใต้หลักคิด “เกษตรกรพัฒนาเกษตรกรด้วยกันเองจึงจะเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน” มีการดำเนินงานที่สำคัญคือ 1) การพัฒนาศักยภาพของ ศพก. ให้พร้อมที่จะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) การให้บริการต่างๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรแก่เกษตรกรและชุมชน และ 3) การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของเกษตรกรตามแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการและสถานการณ์ในพื้นที่ ศพก. จะประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายได้ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลที่ ศพก. ตั้งอยู่ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน

ด้าน นางสาวกรณ์วดี ตุ้มทรัพย์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ เกษตรตำบล อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า  สำหรับการดำเนินงานขับเคลื่อนงานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2558 โดยได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการดำเนินงาน ศพก. อำเภอบางกรวย หมู่ที่ 1 ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง และมีสินค้าหลัก คือ ทุเรียน ซึ่งเป็นงานตามนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ดังนั้น จึงต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย คือ “ศพก. อำเภอบางกรวย ต้องเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับทุเรียนอย่างแท้” ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายได้ต้องอาศัยความตั้งใจ ทุ่มเท อดทน ของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และที่สำคัญที่สุดต้องอาศัยเกษตรกรผู้นำ โดยมีวิธีการ คือ 1. เริ่มต้นด้วยการศึกษาคู่มือการดำเนินงาน ศพก. ทำความเข้าใจ และดำเนินการตามคู่มือเนื่องจากคู่มือเป็นหัวใจของการทำงานโครงการ ส่วนไหนที่ไม่เข้าใจใช้วิธีการสอบถามจากเจ้าหน้าที่จังหวัด เขต และกรมส่งเสริมการเกษตร 2. ทำความเข้าใจและเรียนรู้งานร่วมกับเกษตรกรต้นแบบ โดยไปพบ จ.ส.อ. สมพงษ์ สกุลดิษฐ์ (เกษตรกรต้นแบบที่ได้รับการคัดเลือกในครั้งแรก) ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้นำของอำเภอบางกรวย ที่ได้รับการยอมรับ นับถือ และไว้วางใจของเกษตรกรในอำเภอบางกรวยเป็นอย่างมาก หลังจากชี้แจงทำความเข้าใจในรายละเอียดการทำงานและอนาคตของ ศพก. มีความเห็นร่วมกันกับ จ.ส.อ. สมพงษ์ สกุลดิษฐ์ ควรต้องเปลี่ยนตัวเกษตรกรต้นแบบคนใหม่ ได้แก่ นายกิตติ มั่นกตัญญู ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้เรื่องทุเรียนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจาก จ.ส.อ. สมพงษ์ สกุลดิษฐ์มีอายุมากแล้ว ไม่สะดวกที่ต้องเดินทางไปร่วมประชุมสัมมนากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับ ศพก. อำเภอบางกรวย เหมือนเดิม

สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานเริ่มจากแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน โดยให้มีตัวแทนจากทุกกลุ่มกิจกรรมทุกชุมชนเข้ามาร่วมบริหารจัดการเพื่อประสานงานและกระจายข่าวสารอย่างทั่วถึง จากนั้นก็ประชุมคณะกรรมการ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจบทบาทหน้าที่แก่คณะกรรมการโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อจัดทำแผนรายเดือนรายปีที่เรียกว่า “ร่วมคิดร่วมทำ”และดำเนินการตามมติที่ประชุมเท่านั้นคณะกรรมการ ศพก.จะไม่ทำงานที่ไม่อยู่ในแผนของ ศพก.และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการทำงานในพื้นที่ ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้โดยใช้ช่องทางกลุ่มไลน์เพื่อความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างเกษตรกรต้นแบบ คณะกรรมการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ศพก. จากนั้นก็จัดทำแผนกำหนดให้มีการพัฒนา ศพก. เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรได้มีการทำกิจกรรม และการปรับปรุงข้อมูลเกษตรกรอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ ฐานเรียนรู้ แปลงเรียนรู้ ข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะเกษตรกรต้นแบบ ที่พยายามผลักดันเข้าสู่การพัฒนาตนเองให้เป็นที่ยอมรับของคณะกรรมการ เกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการให้เข้าร่วมในงานเวทีต่างๆ ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด เขต และประเทศ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และทักษะ โดยเฉพาะการพูดและการเป็นผู้นำ พร้อมกับหาความรู้เรื่องทุเรียน เนื่องจากเป็นสินค้าหลักของ ศพก. แต่ตนจบการศึกษามาทางด้านพืชไร่นาจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีความรู้เรื่องทุเรียน โดยตั้งเป้าหมายว่า อย่างน้อยต้องมีองค์ความรู้เท่ากับเกษตรกร และต้องสามารถให้คำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอบางกรวย เนื่องจากต้องรับผิดชอบงานด้านไม้ผลด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้การดำเนินงานขับเคลื่อน ศพก. โดยเฉพาะงานส่งเสริมการเกษตรประสบความสำเร็จได้ต้องมีปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ 1. เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ต้องมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพของตนเอง เรียนรู้และศึกษางานที่รับผิดชอบ ให้เข้าใจ ลงมือปฏิบัติด้วยความอดทน มุ่งมั่น ตั้งใจ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา 2. การมีที่ปรึกษา หรือพี่เลี้ยงที่ดี ทำให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรได้เรียนรู้แบบอย่างที่ดีในการทำงาน 3. การออกพื้นที่เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เพราะทำให้เข้าใจพื้นที่ เกษตรกรกลุ่มเกษตรกร และสินค้า เพื่อวางรูปแบบการส่งเสริม และ 4.การทำงานส่งเสริมการเกษตรในชุมชนเมือง มีความแตกต่างจากชุมชนต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรต้องรู้จักปรับรูปแบบการทำงาน ซึ่งจากผลการดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลให้ ศพก. บางกรวย เป็นต้นแบบ ศพก. ที่มีความเข้มแข็งอีกหนึ่งแห่งสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรต่อไปในอนาคตได้