เปิดตัว “ธรรมนูญเกาะหมาก” อีกก้าวของการท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน@เกาะหมาก

เมื่อ 31 สิงหาคม-1 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก จัดงาน “เกาะหมากสดใส ร่วมใจลดคาร์บอน KohMak… Low Carbon” มีกิจกรรมหลัก 3-4 อย่าง คือ สร้างการรับรู้ “ธรรมนูญเกาะหมาก” การมอบรถไฟฟ้าและจักรยานจำนวน 100 คัน ให้วิสาหกิจชุมชนพร้อมเปิดตัวเจ้าหน้าที่คาร์บอนต่ำที่ช่วยซ่อมบำรุงจักรยาน กิจกรรมปั่นจักรยาน ตามเส้นทางท่องเที่ยวหมาก และการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์สัตว์น้ำด้วยการปล่อยเต่ากระ และการกำจัดขยะร่วมกับ Trash Hero เก็บขยะชายหาด “ธรรมนูญเกาะหมาก”…สร้างการรับรู้ชุมชน-นักท่องเที่ยว

“เวทีเสวนาธรรมนูญเกาะหมาก”

ไฮไลต์ของงานคือการสร้างการรับรู้ “ธรรมนูญเกาะหมาก” ให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นเครือข่ายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากขั้นตอนทำประชาคมใช้เวลาร่วม 1 ปีเต็มกว่าจะถึงวันเปิดตัวครั้งนี้ ในการนี้ทาง อพท. มี คุณทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ รองผู้อำนวยการ อพท. ให้เกียรติมาร่วมงาน และในพื้นที่เกาะหมาก อำเภอเกาะกูด คุณพีระวัฒน์ วังรัตน์กุล นายอำเภอเกาะกูด ตัวแทนเจ้าบ้านให้การต้อนรับ วงเสวนาเล่าถึงความเป็นมาของธรรมนูญเกาะหมาก ประกอบด้วย คุณสุธารักษ์ สุนทรวิภาต รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 คุณนิพนธ์ สุทธิธนกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก คุณจักรพรรดิ ตะเวทิกุล ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก คุณธานินทร์ สุทธิธนกูล รองประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก และ คุณโรจมาน ศิริรัตน์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก เป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณนิพนธ์ สุทธิธนกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก เปิดเวทีเล่าว่า เกาะหมากทำการท่องเที่ยวมายาวนานถึง 40 ปี ด้วยเป็นเกาะเล็กๆ จึงไม่มีปัญหา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ 80% เป็นชาวต่างประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยุโรป ได้พูดคุยกับนักท่องเที่ยวว่าเขาต้องการอะไรเมื่อมาเที่ยวเกาะหมาก คำตอบมีเพียงต้องการมาเที่ยวในบรรยากาศของความเป็นมิตร สงบ เงียบ เสมือนเป็นครอบครัวของชาวเกาะหมาก ซึ่งทำให้เขาต้องกลับมาอีก ส่วนนักท่องเที่ยวไทยเพิ่งเริ่มมา 5-6 ปีหลังจาก อพท.เข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน ที่ผ่านมาการได้สัมผัสพูดคุยกับนักท่องเที่ยวโดยตรงทำให้เรียนรู้ถึงข้อผิดพลาดและความต้องการของชุมชนเกาะหมากจากการพัฒนาการท่องเที่ยว จึงเป็นที่มาของข้อสรุปเป็นธรรมนูญเกาะหมาก 8 ข้อ

คุณสุธารักษ์ สุนทรวิภาต รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 กล่าวว่า อพท.ได้เข้ามาส่งเสริมการสร้างการรับรู้การท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือโลว์คาร์บอนตั้งแต่ปี 2554 จนกระทั่งเกิดปฏิญญาเกาะหมากปี 2555 ทำข้อตกลงระหว่าง อพท.กับท้องถิ่นและภาคเอกชน  41 ราย ร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน รณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สร้างแบรนด์โลว์คาร์บอนให้เข้มแข็งโดยส่งเสริมการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมพายเรือคยัค วิ่ง-ขี่จักรยานรอบเกาะ แล่นเรือใบ และล่าสุดปี 2560 ได้ประสานเรื่องการจัดทำธรรมนูญเกาะหมาก ให้เป็นเรื่องความต้องการจากชุมชน ที่จัดทำประชาคมกันเอง และในที่สุดได้มีประกาศธรรมนูญเกาะหมากใช้ในปี 2561 นับจากนี้ไป

สุธารักษ์ สุนทรวิภาต รองผจก.อพท.3

“อพท.เป็นเพียงเวทีให้ชุมชนคิดกันเอง ว่าควรจะมีหรือไม่มีอะไร เป็นแนวทางที่ทุกคนยอมรับ ธรรมนูญเกาะหมากทั้ง 8 ข้อ แม้จะไม่มีบทลงโทษ แต่น่าจะมีความศักดิ์สิทธิ์ สิ่งสำคัญคือการประชาสัมพันธ์สื่อสารสร้างความรับรู้ ทั้งผู้ประกอบการ ชุมชนและนักท่องเที่ยว โดยผ่านสื่อเป็นเครือข่าย แนวทางความสำเร็จยั่งยืนหรือไม่ อยู่ที่ความเข้มแข็งของชุมชนชาวเกาะหมาก” คุณสุธารักษ์ กล่าว

คุณธานินทร์ สุทธิธนกูล รองประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก กล่าวว่า ด้วยเกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวมายาวนานร่วม 40 ปีเศษมาแล้ว นักท่องเที่ยวเกาะหมากส่วนใหญ่มาซ้ำ หรือซื้อบ้านพักมาใช้ชีวิตอยู่นานๆ ด้วยเหตุผลความสงบ เงียบ อยู่แล้วมีความสุข และอดีตเกาะหมากเคยผ่านเส้นทางที่การท่องเที่ยวโตเร็วมาแล้ว ได้เรียนรู้การท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสมกับแนวทางของเกาะหมาก เช่น เมื่อปี 2548 กลุ่มผู้ประกอบการทั้งหมดปฏิเสธไม่เห็นด้วยที่จะมีแหล่งบันเทิงบาร์เที่ยวกลางคืน ซึ่งนักธุรกิจชาวต่างประเทศพยายามที่จะมาขอลงทุน ต่อมาปี 2552 มีคนไทยมาลงทุนเรือสปีดโบ๊ต เจ๊ตสกี บานาน่าโบ๊ต ทำได้ 2 ปีต้องเลิกเพราะผู้ประกอบการตอนนั้นมี 10-20 รายรวมตัวกันไม่ส่งนักท่องเที่ยวให้ และครั้งที่ 3 มีการนำรถเอทีวี เข้ามาพวกเราไล่ไป ในทางกลับกันปี 2554 อพท. และ ททท. ได้เริ่มเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน ปี 2554 จนกระทั่งมีการลงนามปฏิญญาโลว์คาร์บอนร่วมกัน ปี 2555 เราจึงเริ่มมองเห็นทิศทางการท่องเที่ยวชัดเจนขึ้น

“เกาะหมากยอมรับข้อตกลงปฏิญญา กิจกรรมโลว์คาร์บอนคือการเปิดหน้าต่างว่าเราชาวเกาะหมากชอบแบบนี้ เป็นการ put the like peple on the like place สิ่งเหล่านี้จึงได้ประมวลกำหนดไว้ในธรรมนูญเกาะหมาก สิ่งสำคัญคือ การสร้างความรับรู้ให้กับชุมชน ให้นักท่องเที่ยว ให้ร่วมมือยอมรับข้อปฏิบัติธรรมนูญเกาะหมาก ไม่ให้รู้สึกมีความขัดแย้งเมื่อเดินทางมาเที่ยว” คุณธานินทร์ กล่าวย้ำ

จักรพรรดิ ตะเวทิกุล ที่ปรึกษาชมรมวิสาหกิจฯ

ทางด้าน คุณจักรพรรดิ ตะเวทิกุล ที่ปรึกษาชมรมวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก กล่าวว่า ได้ผ่านประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวบนเกาะหมากมานาน 30-40 ปี เห็นจุดเปลี่ยนของการท่องเที่ยวที่นักธุรกิจคิดจะมาลงทุนที่ทำให้การท่องเที่ยวแบบเงียบสงบของเกาะหมากเปลี่ยนไปเหมือนแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ และการรวมตัวกันต่อต้านของผู้ประกอบการเกาะหมาก ซึ่งไม่อยากให้มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ทิศทางของธรรมนูญจะช่วยกำกับได้ แม้ว่าการบังคับใช้ตามกฎหมายทำไม่ได้ แต่ชุมชนต้องเข้มแข็งจึงจะทำให้ยั่งยืน หรือท้องถิ่น อบต.เกาะหมาก อาจจะมีเทศบัญญัติที่สอดคล้องกัน

“ช่วงระยะเวลา 2548-2561 ช่วงแรกต้องรวมตัวกันต่อต้านกลุ่มนักธุรกิจใหม่ เมื่อ อพท.เข้ามาช่วยพัฒนาเกาะหมาก ในทิศทางการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรารอเวลาที่จะมีธรรมนูญเพราะทิศทางการท่องเที่ยวมีกรอบการพัฒนาชัดเจน การใช้ธรรมนูญให้เกิดผลบังคับใช้ขึ้นอยู่กับชุมชนเกาะหมากที่พร้อมใจกัน ช่วงเวลานี้โชคดีที่ผู้ประกอบการ เจ้าของที่ดินเป็นญาติพี่น้องกันคุยกันได้ ปี 2561 มีโรงแรม รีสอรต์เพิ่มขึ้น 3-4 แห่งตามคอนเซ็ปต์แล้วไม่น่ามีปัญหา เชื่อว่าอนาคต 10-15 ปี เกาะหมากจะโตไปไม่ได้มากเพราะเป็นเกาะขนาดเล็กและมีธรรมนูญควบคุม” คุณจักรพรรดิ กล่าว

 

ธรรมนูญเกาะหมาก…บ้านที่ 2@เกาะหมาก

คุณธานินทร์ เล่าว่า แนวทางการทำการตลาดของเกาะหมาก มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เมื่อก่อนโรงแรมรีสอร์ตเกาะหมากต้องแย่งลูกค้ากัน แต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจองที่พักเองไม่ผ่านเอเย่นต์ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ ที่ชอบความเป็นส่วนตัวสามารถจะเลือกที่พักได้ทุกแห่งผ่านทางโซเชียลมีเดีย เพราะแต่ละแห่งมีความสวยงามอัตลักษณ์ของตัวเอง เพียงแต่มีหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยดูแลเรื่องขยะ ระบบสาธารณูปโภค ถนน นักท่องเที่ยวจะเข้าไปเอง

ธานินทร์ สุทธิธนกูลรองประธานวิสาหกิจชุมชนฯ

“ทิศทางการท่องเที่ยวของเกาะหมาก 10-15 ปีข้างหน้า เกาะหมากจะไม่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ จะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ ที่มีคุณภาพและมีเนเจอร์รักธรรมชาติ ชาวต่างประเทศนิยมพักแบบเรสิเด้นต์ระยะยาว 6 เดือน-2 ปี ธรรมนูญจะทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าเกาะหมากเป็นบ้านที่ 2 มีความเงียบสงบ ปลอดภัย การทำตลาดของเกาะหมากจากนี้ไปน่าจะทำการตลาดเล็กๆ ย้อนกลับไปหากลุ่มลูกค้าเดิมๆ ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปที่เคยมาเที่ยว 10-20 ปีมาแล้ว ไปหาเขาที่บ้าน ไปเยี่ยมเยียนและนักท่องเที่ยวเดิมๆ และให้เขาเป็นผู้ชักชวนนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่มาเพิ่มขึ้น จากการทดลองเดินทางไปยุโรป 40 วันได้ลูกค้าเยอรมนีจองมา 2 ครอบครัว กลุ่มคนเหล่านี้เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ มีกำลังซื้อสูงจะช่วยรักษ์ธรรมชาติโดยนิสัยอยู่แล้ว” คุณธานินทร์ กล่าว

นี่คือข้อสรุปในวงเสวนาธรรมนูญเกาะหมาก…“เกาะหมากมีขีดความสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้จำกัด ผู้ประกอบการและชุมชนได้รับรู้ร่วมกัน จึงมั่นใจว่าการท่องเที่ยวจะไม่กระทบกับแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม และเรายังปลูกฝังแนวคิดสู่รุ่นว่า เกาะหมากไม่จำเป็นต้องเจริญมากแต่สามารถอยู่ได้และให้ความรู้สึกเหมือนนักท่องเที่ยวกลุ่มเก่าที่พาลูกๆ มาเที่ยว และบอกว่าที่นี่เหมือนเมื่อก่อนที่เคยมา ไม่เปลี่ยนแปลง”

 

ปั้นเกาะหมากโลว์คาร์บอนต่อ…เทียบ GSTC มาตรฐานสากลโลก

ทางด้าน คุณทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ รองผู้จัดการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ธรรมนูญเกาะหมากเป็นจุดเริ่มต้นของ อพท.ที่ร่วมมือกับชุมชนและผู้ประกอบการที่ช่วยกันรักษาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป็นความเข้มแข็งของชุมชนที่ต้องสร้างการรับรู้กับนักท่องเที่ยวพัฒนาการท่องเที่ยวในทิศทางเดียวกัน ซึ่งกิจกรรมโลว์คาร์บอนต่างๆ เช่น การปั่นจักรยานเที่ยว การจัดทำอาหารเมนูโลว์คาร์บอน ทำให้มีการกระจายรายได้ในพื้นที่ชุมชนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าเกาะหมากน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น

ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ รองผอ.อพท.

ด้าน คุณสุธารักษ์ สุนทรวิภาต กล่าวในตอนท้ายว่า ต่อจากนี้ ปี 2562 อพท.จะนำหลักเกณฑ์การประเมินการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของ อพท. ภายใต้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก GSTC (Global Sustainable Tourism Criteria) ใช้ประเมินเกาะหมาก ซึ่งประเด็นธรรมนูญเกาะหมากจะได้รับการประเมินด้วย เป็นการขยายผลของ อพท.ด้านการท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของเกาะหมาก จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของเกาะหมากและสามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพได้มากขึ้น