โรงเรียนบ้านหนองสะแก ท่าม่วง กาญจนบุรี ต่อยอดงบพัฒนาหมู่บ้าน ทำเกษตรในโรงเรียน

โรงเรียนระดับประถมศึกษา เกือบทุกแห่ง เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีแปลงสำหรับปลูกผักสวนครัว เพราะเกษตร เป็นหนึ่งในการเรียนการสอนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ

สำหรับโรงเรียนบ้านหนองสะแก หมู่ที่ 5 ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี แล้ว ก็มีพื้นที่สำหรับการเกษตรเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการเรียนการสอนเฉพาะระดับประถมศึกษา แต่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา  เปิดสอนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นด้วย

อาจารย์อาติม เค้าฉิม รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ

นักเรียนทั้งหมด 155 คน มีบุคลากรผู้สอน รวม 19 คน ตั้งอยู่บนพื้นที่ 37 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดกว่า 40 ไร่ แต่แบ่งให้กับหน่วยงานราชการในพื้นที่ใช้ประโยชน์

อาจารย์อาติม เค้าฉิม รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองสะแก บอกว่า จำนวนบุคลากรของโรงเรียนมี 19 คน แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอน เพราะอาจารย์หลายท่านไม่ได้อยู่ในตำแหน่งผู้สอน และต้องดูแลงานด้านอื่นของโรงเรียน แต่อาจารย์ที่มีก็ช่วยกันดูแลการเรียนการสอนให้นักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพไม่น้อยหน้าโรงเรียนในระดับเดียวกันแห่งอื่น

คุณอัศวิน ท้าววิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5

แม้จะเป็นโรงเรียนขยายโอกาส แต่ก็ไม่มีงบประมาณมากพอจะจัดสรรกิจกรรมทางการเกษตรได้มากพอ หากไม่ให้ความสำคัญ พื้นที่ทำการเกษตรอาจมีเพียงเล็กน้อย สำหรับศึกษาควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพเท่านั้น แต่เพราะโรงเรียนเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการทำการเกษตรในโรงเรียน เมื่อได้รับงบประมาณจากหน่วยงานภายนอกที่ส่งเสริมหรือสนับสนุน จะนำมาพัฒนาพื้นที่สำหรับทำการเกษตรในโรงเรียน โดยเฉพาะงบประมาณจากชุมชนโดยรอบโรงเรียนที่ชาวบ้านมีน้ำใจปันมาให้จำนวนหนึ่ง เมื่อโรงเรียนรับไว้ จึงเห็นตรงกันในครูผู้สอนว่า จะนำไปพัฒนางานเกษตรในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้จะเป็นการนำงบประมาณไปดำเนินกิจกรรมได้เหมาะสมที่สุด

อาจารย์ปภาดา สุขสวัสดิ์ ครูเพียงท่านเดียวที่จบมาทางด้านการเกษตรโดยตรง เล่าว่า โรงเรียนมีพื้นที่สำหรับทำการเกษตร ประมาณ 3 ไร่ แบ่งเป็น ไร่ข้าวโพด เลี้ยงกบ การปลูกผักกางมุ้ง การเพาะเห็ด และการทำสวนกล้วย

สวนกล้วย เป็นพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ เริ่มต้นจากอาจารย์ปภาดา และ อาจารย์ตรีธรพัชร วราวุธวิเชียร ตกลงกับเด็กนักเรียน ให้หาพันธุ์กล้วยที่มีความแตกต่างกันในชุมชน เพื่อนำมาสะสมสายพันธุ์และปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ของโรงเรียน เช่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก กล้วยไข่ เป็นต้น

ในการทำสวนกล้วย แม้จะดูเป็นเรื่องยาก แต่อาจารย์ทั้งสองท่านก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเด็กนักเรียน ที่หาพันธุ์กล้วยมาปลูก โดยให้เด็กนักเรียนเริ่มต้นทำสวนเองทุกกระบวนการ ตั้งแต่หาสายพันธุ์ เตรียมหลุมปลูก ลงปลูก ดูแลรดน้ำ ให้ปุ๋ย และเก็บผลผลิต

โรงเรือนเพาะเห็ด อาจารย์เป็นผู้เลือกเห็ดนางฟ้าภูฎานให้นักเรียนเพาะ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเห็ดที่เจริญเติบโตง่าย เป็นที่นิยมรับประทานทั่วไป

เริ่มต้นจากการซื้อก้อนเชื้อเห็ดในราคาก้อนละ 5 บาท จากนั้นเป็นหน้าที่ของนักเรียนในการรดน้ำ เปิดดอกเห็ด และเก็บผลผลิต

การเลี้ยงกบ เริ่มจากการที่โรงเรียนมีโอ่งขนาดใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงตัดครึ่ง แล้วใส่น้ำ เพื่อเลี้ยงปลาดุก ต่อมาพบว่าการเลี้ยงปลาดุกมีต้นทุนสูง จึงปรับเปลี่ยนจากการเลี้ยงปลาดุกเป็นการเลี้ยงกบแทน เมื่อกบมีน้ำหนักมากพอขายได้ ก็นำไปขายให้กับชุมชน ครู ผู้ปกครองที่สนใจ

การทำไร่ข้าวโพด บนพื้นที่ 1 ไร่ อาจาย์ปภาดา บอกว่า การทำไร่ข้าวโพด เปรียบเสมือนแปลงเรียนรู้ที่ไม่ได้ให้นักเรียนลงมือทำเองทั้งหมด อาศัยแรงงานจากนักการภารโรงของโรงเรียน เพราะการทำไร่ข้าวโพดเป็นงานหนัก แต่ที่เลือกการทำไร่ข้าวโพดมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำการเกษตรในโรงเรียน เพราะครอบครัวของนักเรียนส่วนใหญ่ทำไร่ข้าวโพด นักเรียนจะมีพื้นฐานส่วนหนึ่งอยู่บ้าง แต่ไม่รู้ทุกกระบวนและขั้นตอนของการทำไร่จึงมีขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้จากแปลงจริง

การปลูกพืชสวนครัวลงดิน มีตะไคร้เพียงชนิดเดียวที่ปลูกไว้ เพราะการดูแลค่อนข้างง่าย

นอกจากนี้ ยังปลูกผักกางมุ้งในโรงเรือน จำนวน 5 แปลง ประกอบด้วยแปลงผักสลัด 2 แปลง และ แปลงผักสวนครัว 3 แปลง

ผักสวนครัวที่ปลูกในโรงเรือนกางมุ้ง จะเลือกผักที่เจริญเติบโตง่ายและรับประทานง่าย เหมาะกับเด็กนักเรียนทุกระดับชั้น เนื่องจากผลผลิตทั้งหมดจากผักกางมุ้ง จะนำเข้าโครงการอาหารกลางวัน เพื่อเป็นอาหารให้กับเด็กนักเรียน ไม่เฉพาะระดับชั้นประถมศึกษาที่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐเท่านั้น แต่เด็กนักเรียนระดับอนุบาล และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ก็ได้รับประทานอาหารกลางวันฟรีด้วยเช่นกัน

 

รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ให้ข้อมูลตั้งแต่แรกเริ่มแล้วว่า โรงเรียนไม่มีงบประมาณในการจัดการการเกษตรภายในโรงเรียน แต่อาศัยงบประมาณจากหน่วยงานที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนงานเกษตรในโรงเรียนมาใช้ โดยเฉพาะงบประมาณสำหรับพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชนได้นำงบประมาณจำนวนหนึ่งแบ่งมาให้กับโรงเรียน โรงเรียนจึงนำมาพัฒนาในเรื่องของเกษตร เมื่อได้ผลผลิตทุกอย่าง จึงนำกลับไปตอบแทนน้ำใจของชุมชน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และแบ่งส่วนหนึ่งไว้ขาย โดยอิงราคาท้องตลาดและไม่หวังผลกำไร แต่เก็บเป็นต้นทุนสำหรับต่อยอดกิจกรรมการเกษตรของโรงเรียนไว้ส่วนหนึ่งด้วย

“ราคาขาย ก็ขายต่ำกว่าท้องตลาดบ้าง เงินที่ได้จากการขาย ก็นำมาเป็นต้นทุนหมุนเวียน เพราะเรามีต้นทุนสำหรับการต่อยอดหรือลงทุนครั้งใหม่หมุนเวียนไป เช่น การเพาะเห็ด จำเป็นต้องซื้อก้อนเชื้อเห็ดในรอบต่อไป ผลผลิตก็แบ่งให้กับโครงการอาหารกลางวัน แบ่งให้ชุมชน และขายให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง”

คุณอัศวิน ท้าววิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลวังศาลา ให้ข้อมูลว่า ชุมชนมีงบประมาณส่วนหนึ่งที่ได้รับมาพัฒนาหมู่บ้าน ในชุมชนได้พูดคุยกันและเห็นพ้องต้องกันว่า แบ่งเงินจำนวนหนึ่งมาให้กับโรงเรียน เพื่อนำมาพัฒนางานด้านการเกษตรในโรงเรียนให้กับเด็กนักเรียน เพราะทราบดีว่างบประมาณส่วนนี้โรงเรียนไม่มี ซึ่งทางชุมชนได้ตกลงรับซื้อสินค้าจากโรงเรียนไปวางขายในร้านค้าของชุมชน เพื่อช่วยกระจายสินค้าให้กับโรงเรียนอีกทางหนึ่ง

เด็กหญิงมุกตาภา แซ่ตัน หรือ น้องหมิว นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่าว่า ครอบครัวปลูกผักขายส่งให้กับตลาดสด ประสบการณ์การปลูกผักจากที่บ้านมีบ้างไม่มาก เพราะทำไม่มาก และเป็นผักที่โรงเรียนไม่ได้ปลูก จึงเป็นประสบการณ์การปลูกผักคนละแบบกับที่โรงเรียน อย่างไรก็ตาม การปลูกผักก็ไม่แตกต่างกัน เพราะผักก็คือผัก การดูแลพืชไม่ว่าชนิดใดก็ตามก็ควรให้ความสำคัญเหมือนกันและดูแลอย่างใกล้ชิดเท่าๆ กัน

ด้าน เด็กหญิงวรรณวิสา แย้มมา หรือ น้องแก้ม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 บอกว่า ครอบครัวเลี้ยงวัว ไม่ได้ปลูกพืช เมื่อได้ดูแลแปลงผักกางมุ้งกับโรงเรียน รู้สึกชอบการปลูกผัก เพราะดูแลง่ายกว่าการเลี้ยงสัตว์

ส่วน เด็กหญิงดาว (ไม่มีนามสกุล) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กล่าวว่า ครอบครัวรับจ้างทั่วไป ไม่เคยได้ทำการเกษตรมาก่อน แต่มาเรียนรู้จากโรงเรียนทั้งหมด ชอบการเกษตร ชอบการปลูกผัก โดยเฉพาะการเลี้ยงกบ เคยลงไปล้างบ่อกบ ไม่รู้สึกรังเกียจ และอยากปลูกผักไว้รับประทานเองที่บ้าน เพราะนอกจากจะได้ผักปลอดสารไว้รับประทานแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย

เด็กหญิงสิริวรรณ อดทมพร หรือ น้องกิ๊ก นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บอกว่า ชอบในวิชาเกษตร แม้ว่าครอบครัวจะไม่ได้ทำการเกษตรก็ตาม แต่ก็ได้ลองปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง เช่น กะเพรา ผักบุ้ง พริก และตะไคร้ ทั้งหมดก็ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการประกอบอาหารในครัวเรือนได้มาก

เด็กชายกิตติศักดิ์ แซ่ตัน หรือ น้องปลาย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เล่าว่า ยังเด็ก พ่อกับแม่จึงไม่ให้ช่วยงานเกษตรที่บ้าน แต่ก็ช่วยทำงานบ้าน และเรียนรู้การทำการเกษตรจากโรงเรียน ส่วนตัวชอบการปลูกผักกางมุ้ง เพราะเป็นเรื่องง่าย เช่น การปลูกผักบุ้งก็นำเมล็ดผักหว่านให้ทั่วแปลง รดน้ำ รอให้ผักบุ้งงอกขึ้นมา เมื่อได้เวลาเก็บไปรับประทานก็ถอนออกมาทั้งราก นำไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปขาย

สำหรับ เด็กชายธนภัทร สุขแสง หรือ น้องบีม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กล่าวว่า ครอบครัวปลูกผักไว้รับประทานเองในครัวเรือน ได้แก่ ผักชีฝรั่ง กะเพรา ตะไคร้ ส่วนตนไม่ได้ช่วยดูแลเพราะยังเล็ก จึงช่วยเฉพาะงานบ้าน แต่เรียนรู้จากการปลูกผักจากโรงเรียน และนำไปลองเป็นแนวทางในการปลูกแตงโมที่เพาะจากเมล็ดด้วยตนเอง ก็ประสบความสำเร็จ แตงโมให้ผลผลิตนำมารับประทานได้ด้วย

เสียงหัวเราะจากนักเรียนที่เป็นตัวแทนของโรงเรียน ในการพูดคุยและให้ข้อมูลการทำการเกษตรในโรงเรียนแห่งนี้ และเป็นเรื่องโชคดีที่ชุมชนให้ความสำคัญกับการเกษตรในโรงเรียน มีการส่งเสริมสนับสนุนในส่วนที่ชุมชนดำเนินการได้ และโรงเรียนก็ต่างตอบแทนให้กับชุมชน จึงเป็นหมู่บ้านที่มีความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนในอนาคตอย่างแน่นอน