มะม่วงนาทับ ใกล้สูญพันธุ์ สวนลุงม่อน แห่งเดียวในประเทศ

นาทับ เป็นชื่อตำบล ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

อำเภอจะนะ มีไม้ผลที่ขึ้นชื่อ เป็นที่รู้ คือ ส้มจุกจะนะ

ตำบลนาทับ ก็มีมะม่วงเป็นผลไม้เฉพาะถิ่น หากจะเรียกมะม่วงจะนะ ก็คงจะดูคล้าย ไม่มีเอกลักษณ์ จึงเรียกมะม่วงที่มีความเฉพาะถิ่นนี้ว่า มะม่วงนาทับ ตามชื่อตำบลที่พบ

คุณม่อน สุภารัตน์

คุณอาซราน เต๊ะสอ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอจะนะ บอกกับเรา (เทคโนโลยีชาวบ้าน) ว่า ไม่มีใครรู้ว่ามะม่วงนาทับ แท้จริงเกิดจากการกลายพันธุ์หรือการผสมระหว่างมะม่วงพันธุ์ใด เพราะมะม่วงชนิดนี้มีอยู่คู่กับตำบลนาทับมานานแล้ว นานเกินกว่าที่ผู้คนรุ่นปู่ในปัจจุบันจะบอกได้ เท่าที่ทราบ คือ มะม่วงชนิดนี้ ผลมีขนาดใหญ่ ทรงคล้ายมะม่วงน้ำดอกไม้ แต่ไม่มีจงอย เมื่ออ่อนมีรสเปรี้ยวมาก เมื่อแก่จะมีรสหวานจัด ผิวเมื่อแก่จะออกเหลืองอมส้มค่อนไปทางแดง ผิวมีกลิ่นหอม นิยมรับประทานสุกมากกว่า

มะม่วงนาทับ เมื่อสุก

แม้จะได้ยินชื่อมะม่วงนาทับมานาน แต่ในหลายพื้นที่ของประเทศ ก็มีจำนวนน้อยคนที่มีโอกาสเห็นผลมะม่วงนาทับ เพราะเมื่อผลผลิตออกมาก็ถูกซื้อ-ขายกันในหมู่บ้านและตำบลเกือบหมด บางส่วนถูกเก็บไว้ขายนอกตำบล แต่ก็หมดลงภายในพื้นที่อำเภอจะนะ ด้วยรสชาติหวานถูกใจของคนในพื้นที่ อีกทั้งผลผลิตมะม่วงนาทับที่ได้ในแต่ละปีมีจำนวนไม่มาก เพราะเกษตรกรที่ทำสวนมะม่วงนาทับหันไปทำบ่อกุ้งกันเกือบทั้งหมด เหลือรายที่เรียกได้ว่าเป็นเกษตรกรทำสวนมะม่วงนาทับรายใหญ่ที่สุดของจังหวัดสงขลา คือ สวนของ คุณม่อน สุภารัตน์ พื้นที่ 5 ไร่ ที่เหลือมีปลูกประปรายไว้กินเองในครัวเรือน หลังละ 1-2 ต้น เท่านั้น

กิ่งพันธุ์ขนาดใหญ่

คุณม่อน เดิมไม่ได้ทำสวน แต่ประกอบอาชีพรับจ้างเดินเรือที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อกลับมาบ้านเกิดที่ตำบลนาทับ เห็นเกษตรกรรายหนึ่งทำสวนมะม่วงนาทับได้ผลผลิตดี ขายได้กำไร จึงเข้าไปขอศึกษาเรียนรู้ เพราะต้องการทำสวนมะม่วงนาทับเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวบ้าง เกษตรกรรายนั้นใจดี สอนให้แม้กระทั่งการติดตามะม่วงเพื่อการขยายพันธุ์ จึงเป็นที่มาขอสวนมะม่วง บนพื้นที่ 6 ไร่ ของคุณม่อน และลดจำนวนลงเหลือ 5 ไร่ ในปัจจุบัน

หากต้องการแบบนำไปปลูกลงดินได้เลยก็มี

จากประสบการณ์ที่เรียนรู้จากเกษตรกรรายแรกที่ปลูกมะม่วงนาทับ ทำให้คุณม่อน หันมามองพื้นที่ตนเองที่มีอยู่ เริ่มลงมือปลูกมะม่วงจริงจัง โดยเริ่มจากนำมะม่วงป่า หรือมะม่วงคัน ซึ่งเป็นมะม่วงในพื้นที่จังหวัดสงขลา นำมาปลูกเป็นต้นตอ เมื่อเจริญเติบโตได้ 1 ปี จึงนำมะม่วงนาทับไปติดตาที่ต้นตอ

เริ่มจากพื้นที่ปลูก 6 ไร่ ระยะห่างระหว่างต้นและแถวในการปลูก อยู่ที่ 8 x 9 เมตร หากใกล้กันมากไปจะให้ผลผลิตน้อย และเกิดโรคได้ง่าย

ทรงต้นขนาดเล็ก เพราะใช้วิธีติดตา

หลุมปลูกขุด ขนาด 1 x 1 เมตร

พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกมะม่วงได้ 20-25ต้น

ดูแลรดน้ำเฉพาะช่วงฤดูแล้งมาก หากสภาพอากาศปกติ ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ

เหตุเพราะสภาพดินที่ตำบลนาทับ เป็นดินทรายดำ เก็บความชื้นได้ดี เมื่อฤดูฝน น้ำฝนตกลงมาจะซึมอยู่ในดิน เมื่อฤดูแล้งน้ำจะยังคงอยู่ในดิน ต้นมะม่วงจะกินน้ำจากดินทรายดำที่มีน้ำสะสมอยู่ ทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องรดน้ำ หากไม่มีภาวะแล้งจริงๆ

ควรใส่ปุ๋ยต้นละ 1 กระสอบ โดยขุดหลุมรอบลำต้น นำปุ๋ยกระสอบไปเทไว้รอบโคนต้นในลักษณะของการฝัง ก่อนเข้าฤดูฝน เมื่อฝนตกน้ำฝนจะชะปุ๋ยให้ซึมลงไปในดินได้ง่าย รากมะม่วงจะได้ประโยชน์จากปุ๋ยที่ฝังไว้ และรากไม่ลอยขึ้นหาอาหาร

ในแต่ละปี ใส่ปุ๋ยคอกเพียง 1 ครั้ง เท่านั้น

ส่วนปุ๋ยเคมี ก็ให้ปีละ 1 ครั้ง เช่นกัน โดยหว่านบนดินรอบโคนต้น

หลังหมดฤดูฝน เข้าสู่ฤดูแล้ง ก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ ปล่อยให้มะม่วงเจริญเติบโตตามธรรมชาติ ให้ผลผลิตตามฤดูกาล โดยติดผลในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม สุกเก็บขายได้ในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี

คุณม่อน บอกว่า ภาคใต้ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ฝนตกชุก เป็นการให้น้ำมะม่วงที่ดี เป็นช่วงที่ปล่อยให้มะม่วงเจริญเติบโตตามธรรมชาติจริงๆ โดยไม่ต้องทำอะไร เมื่อหมดฤดูฝนเข้าสู่ฤดูแล้ง สภาพอากาศแล้งเพียง 15-20 วัน จะส่งผลให้มะม่วงติดดอก และติดผลตามมา ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

เมื่อมะม่วงเริ่มติดผล ควรแต่งผล ไว้ผลเพียง 2-3 ผล ต่อช่อ เพราะมะม่วงมีขนาดผลใหญ่ หากไว้ผลจำนวนมากจะหลุดหล่นจากช่อ เพราะน้ำหนักมาก ผลที่เอาไว้ควรเป็นผลที่มีรูปทรงสวย เมื่อผลมีขนาดประมาณ 3 นิ้ว ควรห่อผลป้องกันแมลงวันทอง

เมื่อถามถึงปัญหาโรคและแมลง คุณม่อน บอกว่า ที่พบคือ

แมลงวันทอง จะสร้างปัญหา ทำให้ผลมะม่วงเสีย วิธีป้องกันคือ การห่อผลมะม่วง

แมลงศัตรูของมะม่วงอีกชนิด คือ หนอนไชลำต้น หนอนชนิดนี้จะเจาะลำต้นจากกิ่งอ่อน ฝังตัว แล้วทำลายกิ่งมะม่วงไปเรื่อยๆ หากพบช้าจะทำให้กิ่งนั้นหัก จากนั้นจะลามจากกิ่งเล็กไปกิ่งใหญ่ หากยังไม่กำจัดกิ่งใหญ่ของต้นก็จะหักตามไปอีก ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตหากพบว่ามีหนอนเจาะรูเข้าไปอยู่ในกิ่งมะม่วง ควรหยอดยาหรือสารกำจัดแมลงเข้าไปที่รูให้หนอนตาย หรือเลื่อยกิ่งนั้นๆ ทิ้ง นำไปทำลายให้ไกลต้นก็ได้

มะม่วงนาทับ เป็นมะม่วงที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนักผลโดยทั่วไปไม่ต่ำกว่า 500 กรัม โดยเฉลี่ยน้ำหนักอยู่ที่ 700-800 กรัม ต่อผล

คุณม่อน บอกว่า เพราะให้ธรรมชาติดูแล ต้นทุนการผลิตจึงมีไม่มาก แต่ก็ส่งผลให้มะม่วงนาทับที่ได้แต่ละปีให้ผลผลิตที่ไม่แน่นอน มากบ้างน้อยบ้าง แต่ไม่ว่าผลผลิตจะมากหรือน้อย การขายผลมะม่วงก็หมดตั้งแต่ในชุมชน ตำบล อำเภอ อย่างมากก็เหลือไปจำหน่ายให้กับตัวจังหวัดสงขลา ซึ่งปกติแล้วขายเฉพาะในอำเภอก็หมดแล้ว

เกือบ 30 ปี ที่คุณม่อนปลูกมะม่วงนาทับขายผลผลิตที่ได้ตามธรรมชาติ แต่เพราะมะม่วงนาทับเป็นพืชพื้นถิ่น พบได้ที่เดียวในตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทำให้มีเกษตรกรที่สนใจเรื่องพันธุ์มะม่วงติดต่อเข้ามาขอซื้อกิ่งพันธุ์ไปปลูกจำนวนมาก คุณม่อน จึงเริ่มทำกิ่งพันธุ์ขายหลังลงปลูกมะม่วงนาทับได้ 5 ปี

ราคาขายมะม่วงนาทับหน้าสวน กิโลกรัมละ 40-50 บาท

ส่วนกิ่งพันธุ์ คุณม่อนจะทำกิ่งพันธุ์หลายขนาดไว้ให้ลูกค้าได้เลือก ราคากิ่งพันธุ์จึงมีหลายขนาด

คุณม่อน บอกว่า มะม่วงนาทับหลงเหลืออยู่น้อยมาก ในพื้นที่ตำบลนาทับเองก็เหลือปลูกเพียงไม่กี่ครัวเรือน ไม่ได้ขายเชิงพาณิชย์ ทำให้มีเกษตรกรที่สนใจมะม่วงติดต่อขอซื้อกิ่งพันธุ์เข้ามา และขายออกไปทั่วประเทศแล้ว แต่จำนวนไม่มากนัก และกิ่งพันธุ์ที่ทำไว้ก็มีหลายขนาด ขึ้นกับความต้องการของลูกค้า

สวนมะม่วงนาทับ พื้นที่ 5 ไร่ ของคุณม่อน เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ยินดีให้ผู้สนใจเข้าชม เพราะปลูกโดยให้ธรรมชาติดูแล คุณม่อนจึงไม่หวง สนใจติดต่อมาได้ที่คุณม่อน สุภารัตน์ หมู่ที่ 6 ตำบลนับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ (089) 298-8845