เด็กสระบุรี ทำเกษตรปลูกผักในวัสดุเหลือใช้ ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ

แม้จะเป็นโรงเรียนประจำตำบล แต่เพราะโรงเรียนมีที่ตั้งอยู่ห่างตัวอำเภอไม่ถึง 7 กิโลเมตร ส่งผลให้ผู้ปกครองเกินกว่าครึ่งตำบล ส่งบุตรหลานไปเรียนยังตัวอำเภอหรือตัวจังหวัด อาจารย์สุวิทย์ ภิรมกิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนโคกมะขามจั่นเสือสามัคคี หมู่ที่ 8 ตำบลตลาดน้อย อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี บอกว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะหลายสิ่งเปลี่ยนไป และสภาพปัจจุบันของพื้นที่ตำบลตลาดน้อย เป็นสภาพกึ่งชนบทกึ่งเมือง ทำให้ผู้ปกครองบางส่วนให้ความสำคัญกับโรงเรียนในเมืองมากกว่าโรงเรียนใกล้บ้าน

เมื่อสภาพความเป็นอยู่ในวิถีชนบทเปลี่ยนไป ผู้ปกครองเกินกว่าครึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเช่นอดีต แต่อยู่ในวิถีของการจ้างงานในลักษณะของการรับจ้างในโรงงาน มีส่วนน้อยที่รับจ้างทำการเกษตร และอีกส่วนที่น้อยที่สุด ทำการเกษตรเป็นอาชีพหลักของครอบครัว แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เด็กนักเรียนที่อยู่ในครอบครัวที่มีอาชีพเกษตรกรรม จะสามารถหยิบจับงานเกษตรได้

โรงเรียนโคกมะขามจั่นเสือสามัคคี เป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็ก มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัย ถึง ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีนักเรียนเพียง 80 คน มีบุคลากรครูและอื่นๆ รวม 10 คน โรงเรียนก่อตั้งมานานกว่า 50 ปี มีพื้นที่ของโรงเรียนเพียง 3 ไร่เศษ
ที่ผ่านมา มีชาวบ้านที่ใจดีนำพื้นที่มาบริจาคให้โรงเรียนได้ทำแปลงผัก ซึ่งตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการทำการเกษตรภายในโรงเรียน มีระบบการบริหารจัดการที่ดี นำผลผลิตที่ได้จำหน่ายให้กับสหกรณ์โรงเรียน เพื่อซื้อเข้าโครงการอาหารกลางวันในราคาย่อมเยา ทำให้ลดค่าใช้จ่ายโครงการอาหารกลางวันได้พอสมควร ส่วนที่เหลือจากขายให้กับสหกรณ์โรงเรียน นักเรียนก็จะนำไปจำหน่ายในตลาดชุมชน ซึ่งมีผู้ปกครองให้ความสนใจอุดหนุนจำนวนมาก เป็นรายได้และสร้างกำลังใจที่ดีให้กับเด็กนักเรียน

แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ดังกล่าวถูกขอคืนจากเจ้าของ ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรของนักเรียนหายไป ผู้อำนวยการโรงเรียนโคกมะขามจั่นเสือสามัคคี เล่าว่า โรงเรียนมีพื้นที่เพียง 3 ไร่เศษ และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นอาคารเรียน ทำให้เหลือพื้นที่ที่เป็นพื้นดิน สามารถทำแปลงเกษตรได้เพียงเล็กน้อย การจัดการให้นักเรียนทำการเกษตรเช่นโรงเรียนที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ทำได้ไม่สะดวก สิ่งที่ทำได้คือการทำการเกษตรในวัสดุเหลือใช้

“ผมย้ายมาโรงเรียนนี้ก็ถูกขอพื้นที่ทำการเกษตรคืนไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เห็นว่าพอจะทำได้คือ มีพื้นที่ด้านหลังโรงเรียนไม่ถึง 1 งาน เป็นพื้นดิน จึงทำแปลงไว้ให้นักเรียนปลูกผักสวนครัว ที่ผ่านมาก็ได้ผลผลิตนำไปเป็นเครื่องปรุงในการประกอบอาหารกลางวัน แต่ปัจจุบันนักเรียนนำเผือกไปลงไว้ เพราะเห็นว่าการเกษตรโดยรอบที่อยู่อาศัยของนักเรียนส่วนใหญ่ทำนาและทำแปลงเผือก แต่นักเรียนไม่ได้สัมผัสเองแม้ว่าครอบครัวจะทำเกษตรก็ตาม จึงอยากให้นักเรียนได้ลองปลูกเผือก ลงมือทำด้วยตนเอง ไม่ใช่แค่เห็นจากสภาพแวดล้อมเท่านั้น”

อาจารย์สุวิทย์ ภิรมกิจ ผู้อำนวยการโรงเรียน

อาจารย์สุวิทย์ บอกด้วยว่า เมื่อโรงเรียนไม่มีพื้นที่สำหรับทำแปลงได้อีก การทำการเกษตรจึงต้องยกไปไว้ในวัสดุเหลือใช้ เช่น กระถาง กะละมัง ยางรถยนต์ และท่อซีเมนต์ เป็นต้น ซึ่งทุกๆ วัสดุจะปลูกทุกอย่างที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ผัก ไม้ดอกไม้ประดับ มะนาว ข้าว เป็นต้น

แม้โรงเรียนจะใกล้ความเป็นเมืองในลักษณะที่ต้องเรียกว่า กึ่งชนบทกึ่งเมือง แต่โรงเรียนโคกมะขามจั่นเสือสามัคคี ก็ยังให้ความสำคัญกับการเกษตรไม่น้อยไปกว่าการส่งเสริมวิชาการ ซึ่งเรื่องนี้อาจารย์สุวิทย์ บอกว่า เด็กเกือบทั้งหมดแทบไม่ได้สัมผัสหรือจับต้องการเกษตรของที่บ้านเลย แม้จะมีความคุ้นชินกับการทำการเกษตร ดังนั้น สิ่งที่โรงเรียนจะสอนให้กับนักเรียนไม่ใช่ด้านวิชาการตามเอกสารการสอนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ แต่เป็นการสอนโดยให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยโรงเรียนจะเพิ่มเติมเทคนิคการทำการเกษตร เพื่อให้นักเรียนนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์

ปลูกข้าวในกระถาง

ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านในพื้นที่ บริจาคพื้นที่นา จำนวน 7 ไร่ โดยมีข้อแม้ให้โรงเรียนนำไปให้ญาติของเจ้าของพื้นที่เช่าได้ เพื่อนำรายได้จากการเช่าที่นาให้กับโรงเรียน อาจารย์สุวิทย์ จึงมีแนวคิดทำการเกษตร 1 ไร่พอเพียง จึงขอแบ่งพื้นที่ 1 ไร่ โดยไม่นำไปแบ่งเช่า แล้วนำพื้นที่ดังกล่าวมาจัดสรรการทำการเกษตรอย่างครบวงจร

“โครงการนี้จะแบ่งพื้นที่ให้เป็นการทำการเกษตรอย่างครบวงจร โดยจะเน้นไปที่การทำนาข้าว ให้เด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้ลงมือทำ เริ่มจากการเตรียมแปลง การหว่าน การใส่ปุ๋ย การเกี่ยว การตาก การสี จนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการบรรจุลงกระสอบ เพื่อเก็บไว้กิน นอกจากนี้ยังเสริมในเรื่องของประเพณีดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับข้าวเข้าไปด้วย เพื่อให้นักเรียนไม่ลืมประเพณีดั้งเดิมของไทย ซึ่งนอกจากการทำนาแล้ว ยังแบ่งพื้นที่เลี้ยงสัตว์และปลูกผักร่วมด้วย”

ดอกดาวเรือง ปลูกเป็นเลข ๙

เหตุที่ต้องเลือกเฉพาะเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ขึ้นไป นั้น อาจารย์นิภาพร อินเนียม ครูที่ปรึกษาด้านเกษตร บอกว่า เพราะเป็นเด็กที่เริ่มโต รับผิดชอบตัวเองได้ ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับบริจาคอยู่ห่างโรงเรียนประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ จึงควรเป็นหน้าที่ของเด็กโตที่จะเดินทางไปดูแลความเรียบร้อยที่แปลง

อาจารย์นิภาพร อินเนียม ครูที่ปรึกษาด้านเกษตร

การแบ่งหน้าที่การดูแลการเกษตรภายในโรงเรียนในปัจจุบัน อาจารย์นิภาพร เล่าว่า แปลงเกษตรขนาดเล็กด้านหลังโรงเรียน มอบหมายให้เด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา ส่วนการทำการเกษตรในวัสดุต่างๆ ทั่วโรงเรียนนั้น มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษา เนื่องจากวัสดุที่ใช้อาจจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้าย จึงไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก และการกำหนดหน้าที่ให้นักเรียนแต่ละชั้นเรียนกำหนดกันเองว่าต้องการดูแลส่วนไหน และทุกวันนักเรียนจะเข้าไปดูแลการปลูกต้นไม้ของตนเองในทุกเช้า รวมถึงการเรียนการสอนในคาบสุดท้ายของวัน ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนสามารถบริหารจัดการในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบได้เป็นอย่างดี โดยที่อาจารย์ไม่ต้องเข้าไปเข้มงวด แสดงให้เห็นว่า นักเรียนมีจิตสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบของตนเองได้ดีอยู่แล้ว

แม้พื้นที่จะน้อย แต่กิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถทำได้ก็ยังคงไว้ตามเดิม เช่น การทำปุ๋ยหมัก การเพาะเห็ด ซึ่งผลผลิตที่ได้ทั้งหมดก็นำเข้าโครงการอาหารกลางวัน เพื่อลดค่าใช้จ่าย แม้จะไม่มาก แต่ก็ทำให้นักเรียนได้เข้าใจถึงการทำการเกษตร

เมื่อถามถึงการเลี้ยงไก่ เพราะมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเคยเป็นเล้าไก่มาก่อน อาจารย์สุวิทย์ บอกว่า เด็กนักเรียนและครูมีความพร้อมในการจัดการ แต่ไม่มีความพร้อมเรื่องงบประมาณ ที่ผ่านมามีผู้เห็นความสำคัญ นำไก่มาให้ แต่เมื่อหมดรุ่นไป โรงเรียนไม่มีงบประมาณมากพอจะจัดซื้อไก่มาไว้สำหรับเลี้ยงได้อีก ซึ่งหากมีผู้ให้การสนับสนุนวัตถุดิบดังกล่าว โรงเรียนก็ยินดี รวมถึงการสนับสนุนในด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร หากมีผู้อนุเคราะห์ทางโรงเรียนก็ไม่ปฏิเสธ

นอกเหนือจากกิจกรรมทางการเกษตรที่เด็กนักเรียนยังคงรับผิดชอบตามจิตสำนึกที่โรงเรียนปลูกฝังไว้ให้แล้ว ประเพณีและวัฒนธรรมไทยก็ถูกปลูกฝังไว้ให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนโคกมะขามจั่นเสือสามัคคีแห่งนี้ ด้วยการพาเด็กไปวัด ใส่บาตรทำบุญ ฟังเทศน์ทุกวันพระ เพื่อให้เด็กได้ซึมซับวัฒนธรรมอันดีของไทยด้านพุทธศาสนา

ความสามารถของเด็กนักเรียนโรงเรียนโคกมะขามจั่นเสือสามัคคี ไม่ได้มีเพียงแค่จิตสำนึกทางด้านเกษตรและพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะแม้ว่าจะเป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็ก แต่ก็มีดีระดับภาค ถึงกับได้รับรางวัลในการแข่งขันในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 66 ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับภาค มีทีมส่งเข้าแข่งขันทั้งสิ้น 48 ทีม จาก 27 จังหวัดของภาคกลางและภาคตะวันออก

รางวัลเหรียญทอง จากการทำเมนูสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ได้แก่ น้ำพริกผักสดเครื่องเคียง “น้ำพริกมะขามสด” และ รางวัลเหรียญเงิน จากการประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ รองเท้าจากผักตบชวา

ด้วยฝีมือของเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในการทำเมนูน้ำพริกมะขามสด ได้แก่ นางสาวช่อผกา เขียวสอาด นางสาวพิไลวรรณ นุชเจริญ และ เด็กชายเรืองเดช ธรรมมะ ส่วนการประดิษฐ์รองเท้าจากผักตบชวา เป็นฝีมือของ เด็กหญิงนิษฌาฎาค์ บัวสุข เด็กหญิงสุขใจ บัติทิม และ เด็กหญิงชลธิชา วงษ์เหมือน

นางสาวพิไลวรรณ นุชเจริญ หรือ น้องน้ำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่าเรื่องการทำเกษตรในโรงเรียนให้ฟังว่า  ในทุกวันของการมาโรงเรียน เด็กนักเรียนทุกคนจะรู้หน้าที่ของตนเองในการสำรวจและดูแลการเกษตรที่ตนเองรับผิดชอบ รวมถึงการทำความสะอาดโรงเรียน และยังรักการทำแปลงผักสวนครัว แม้ว่าพื้นที่ของโรงเรียนจะมีน้อยมากก็ตาม

ด้าน เด็กหญิงนิษฌาฎาค์ บัวสุข หรือ น้องขิง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 บอกว่า แม้ว่าการลงแปลงผักจะร้อน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แค่เรามีความอดทนจากความรักและความชอบในการเกษตรก็สามารถทำได้ หากโรงเรียนมีโครงการ 1 ไร่พอเพียง สิ่งที่อยากทำมากที่สุดคือ การทำนา เพราะไม่เคยทำ และคิดว่าการได้ลองทำนาจะทำให้รู้ถึงขั้นตอนของการได้ข้าวมารับประทาน ซึ่งจะทำให้เห็นคุณค่าของข้าวมากยิ่งขึ้น

ส่วน นางสาวช่อผกา เขียวสอาด หรือ น้องวุ้น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่าว่า แม้จะรักการทำแปลงผักสวนครัว แต่ก็อยากลองเลี้ยงปลา เพราะโรงเรียนมีพื้นที่น้อย โอกาสเลี้ยงปลาจึงไม่มี แต่หากได้ทำคงมีความสุข เพราะเคยศึกษาทำให้รู้ว่า การเลี้ยงปลามีต้นทุนน้อย เพราะสามารถนำเศษอาหารจากโรงอาหารมาให้ปลากินแทนอาหารเม็ดสำเร็จรูปที่ต้องเสียเงินซื้อได้

ผู้อำนวยการโรงเรียนโคกมะขามจั่นเสือสามัคคี กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าโรงเรียนจะมีพื้นที่น้อย ไม่เพียงพอต่อการส่งเสริมให้เด็กทำการเกษตรอย่างเต็มที่ แต่โรงเรียนก็ไม่เคยย่อท้อ จะพยายามหาสิ่งที่ดีมาส่งเสริมให้กับเด็กนักเรียน เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้รักการเกษตรอันเป็นพื้นฐานของประเทศ หากหน่วยงานใดมีจิตอนุเคราะห์ส่งเสริมหรือสนับสนุนกิจกรรมเกษตร สามารถติดต่อได้ที่ อาจารย์สุวิทย์ ภิรมกิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนโคกมะขามจั่นเสือสามัคคี โทรศัพท์ (089) 409-9443 หรือแวะเยี่ยมชมโรงเรียนได้ที่ โรงเรียนโคกมะขามจั่นเสือสามัคคี หมู่ที่ 8 ตำบลตลาดน้อย อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี โรงเรียนยินดีต้อนรับ