กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านน้ำมิน คว้ารางวัล ยุวเกษตรกรดีเด่น จังหวัดพะเยา

โรงเรียนบ้านน้ำมิน ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ก่อตั้งโดยพระภิกษุอนุ อนุมาโน (ครูบาอนุมาโน) เจ้าคณะหมวด ตำบลน้ำมิน และ คุณชัย ไชยวารินทร์ กำนันตำบลน้ำมิน ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการศึกษาอำเภอเชียงคำ ขอตั้งโรงเรียนประถมศึกษาตอนต้น เมื่อวันที่ 1 เดือนเมษายน  พ.ศ. 2464 โดยมี นายขัติ สัมพันธสิทธ์ ครูใหญ่ประจำอำเภอ รักษาการแทนศึกษาอำเภอเชียงคำ มาแนะนำและจัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดบ้านน้ำมิน และแต่งตั้งให้สามเณรพรหมเทพ พากเพียรเป็นครูสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ต่อมาสามเณรพรหมเทพ ได้ลาสิกขาบท พระภิกษุอนุมาโนได้สอนต่อถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 พ.ศ. 2491 นายขัน จิตตะมาลา มาทำหน้าที่ครูใหญ่และได้ย้ายสถานที่ตั้งโรงเรียนไปยังทิศตะวันตกของหมู่บ้านบ้านน้ำมิน ซึ่งก็คือสถานที่ตั้งโรงเรียนในปัจจุบัน

กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านน้ำมินเห็นความสำคัญของการทำการเกษตร เนื่องจากสมาชิกทุกคนมีพื้นฐานครอบครัวที่ทำการเกษตร และต้องการเรียนรู้ เพิ่มทักษะของการเกษตรด้านอื่นๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้และช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง ทั้งต้องการสร้างรายได้ระหว่างเรียน และสามารถนำผลผลิตที่ได้มาประกอบอาหารให้นักเรียนพักนอนที่โรงเรียนได้รับประทาน ดังนั้น เหล่านักเรียนพร้อมด้วยครูที่ปรึกษาจึงเห็นความสำคัญ จึงได้จัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกร และยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรต่อสำนักงานเกษตรอำเภอเชียงคำ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเป็นกลุ่มยุวเกษตรกรประเภทยุวในโรงเรียน ที่ตั้งกลุ่ม เลขที่ 98 หมู่ที่ 6 ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

คณะกรรมการกลุ่มยุวเกษตรกรและครูที่ปรึกษา

ปัจจุบัน มีสมาชิก 120 คน คณะกรรมการที่ปรึกษา 3 คน ครูที่ปรึกษา 16 คน โดยทางโรงเรียนให้การสนับสนุน โดยจัดซื้อที่ดินบริเวณหลังโรงเรียน จำนวน 2 ไร่ 3 งาน 35 ตารางวา ในราคา 600,000 บาท เพื่อจัดทำพื้นที่ “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง” ในการทำกิจกรรมด้านการเกษตรต่างๆ เช่น ปลูกผักตามฤดู เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา  เพาะเห็ด ปลูกยางพารา โดยการจัดผ้าป่าเพื่อระดมทุนจากศิษย์เก่าและชุมชน นอกจากนี้ยังสามารถใช้พื้นที่ภายในโรงเรียนเพื่อทำกิจกรรมด้านอื่นๆ เช่น ด้านเคหกิจเกษตร แปรรูป การออมทรัพย์ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สภาพทั่วไปของโรงเรียนมีลักษณะเป็นชุมชนที่เก่าแก่และมีวัฒนธรรมชุมชนที่เข้มแข็ง ผู้ปกครองในหมู่บ้านส่วนใหญ่  จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นับถือศาสนาพุทธ เป็นชุมชนเกษตรกรรมถึง ร้อยละ 99 ของประชากร   รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวปีละประมาณ 100,000-150,000 บาท ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นแบบล้านนาที่รู้จักกันโดยทั่วไป หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงทางด้านการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปลูกยางพารา และเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน คือหมู่ที่ 6 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 13 ได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้สมาชิกยุวเกษตรกร มีชุมชนนอกเขตบริการส่งนักเรียนมาเข้าเรียนซึ่งเป็นนักเรียนชาวไทยภูเขา คือเผ่าม้งและเผ่าเมี้ยน ซึ่งมีสภาพชุมชนและวัฒนธรรมแตกต่างจากชุมชนในเขตบริการอย่างชัดเจน ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือและนักเรียนมีปัญหาด้านการใช้ภาษาไทย

สมาชิกกลุ่มกำลังบรรยายถึงผลงานให้ผู้อำนวยการกลุ่ม จากสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้แล้วโรงเรียนบ้านน้ำมินได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และได้รับรางวัลสูงสุดคือ รางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม เฉลิมพระเกียรติ “ตามรอยเท้าพ่อกับฮอนด้า” ครั้งที่ 7 ปี พ.ศ. 2557” และต่อเนื่องจากรางวัลนี้ ทำให้โรงเรียนได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้ารับรางวัลโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2558” (The 2ed ASEAN Eco-schools Award 2015) และได้รับการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้ Eco-schools โรงเรียนยังเป็นศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้สมาชิกยุวเกษตรกรมีโอกาสในการศึกษาและฝึกทักษะการปฏิบัติงานและมีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย

การเลี้ยงปลาดุก

กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านน้ำมิน มีคำขวัญประจำกลุ่มคือ “ใส่ใจในวิถีพอเพียง เคียงคู่สิ่งแวดล้อม” ใช้หลักปรัชญาในการทำงานว่า “อยู่อย่างพอเพียง” เป็นการดำเนินกิจกรรมที่มีประโยชน์ในการวางรากฐานการพัฒนาชีวิตของสมาชิกมุ่งเน้นให้นักเรียนที่เป็นสมาชิกได้เรียนรู้พร้อมกับการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดทักษะกระบวนการที่จะนำไปประกอบอาชีพการเกษตรในอนาคตและมีรายได้ในระหว่างเรียนพร้อมทั้งพัฒนาให้เป็นผู้นำด้านการเกษตรในอนาคตด้วย

มีผลการดำเนินงานที่น่าสนใจ เช่น แปลงสาธิตปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ ปลูกผักพื้นบ้าน การเพาะถั่วงอก การเลี้ยงกบ การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ การเลี้ยงเป็ดพันธุ์ไข่ การเลี้ยงไก่พื้นเมือง การเลี้ยงหมูอินทรีย์ การเลี้ยงไส้เดือน การทำน้ำยาอเนกประสงค์ การทำน้ำมันไบโอดีเซล การทำปุ๋ยหมัก การปักผ้าชนเผ่า กิจกรรมธนาคารขยะ กิจกรรมสหกรณ์ กิจกรรมโรงเรียนธนาคารบ้านน้ำมิน ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาบ้านทราย เพื่อให้สมาชิกรู้จักการออมและการบริหารเงินที่ได้จากการทำโครงการและการช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพด้านการเกษตรด้วย นอกจากนั้น กลุ่มยุวเกษตรกรยังได้พัฒนาสมาชิกให้รู้จักหน้าที่

สมาชิกยุวเกษตรกรบรรยายให้เจ้าหน้าที่สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่

การช่วยเหลือสังคม การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ร่วมกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะให้ชุมชนน่าอยู่ การรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด รณรงค์กำจัดลูกน้ำและยุงลาย การจัดการขยะ การประหยัดน้ำ ไฟฟ้า โดยน้อมนำเอาแนวพระราชดำริฯ มาใช้ และยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของสมาชิก กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านน้ำมินยังมีคติประจำใจของสมาชิกทุกคน ได้แก่ “เราเรียนรู้ด้วยการฝึกหัด เราปฏิบัติเพื่องานการศึกษา หาเลี้ยงชีพเพื่อชีวิตวัฒนา ใช้วิชาบริการงานสังคม”

กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านน้ำมินได้เข้าร่วมโครงการกลุ่มยุวเกษตรกรในโรงเรียนโดยได้รับอนุญาตจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรและการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอเชียงคำ สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา วัตถุประสงค์ที่สำคัญก็คือเพื่อให้ยุวเกษตรกรได้รับความรู้ และทักษะเกี่ยวกับการเกษตร เคหกิจการเกษตร เครื่องจักรกลเกษตร เหมาะสมกับสภาพของครอบครัวและสอดคล้องกับสภาพของท้องถิ่น ฝึกยุวเกษตรกรให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ทำงานเป็นหมู่ คณะส่งเสริมการบริหารงานแบบประชาธิปไตยและส่งเสริมให้ยุวเกษตรกรมีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศชาติ

ในการปฏิบัติงานแต่ละกิจกรรม คณะกรรมการและสมาชิกได้มีการประชุมปรึกษาหารือวางแผนในการทำกิจกรรม เพื่อศึกษาแนวทางในการทำกิจกรรมและความเป็นไปได้ของกิจกรรมและผลที่จะเกิดขึ้น หลังจากการทำกิจกรรมเสร็จเรียบร้อยก็มีการประชุมสรุปผลการทำงานร่วมกัน

มีสมุดบันทึกประจำกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านน้ำมิน ซึ่งภายในประกอบด้วยคณะกรรรมการสภายุวเกษตรกร ที่ปรึกษายุวเกษตรกร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมยุวเกษตรกร ข้อมูลสมาชิกยุวเกษตรกร แผนการดำเนินงานและกิจกรรม บันทึกทรัพย์สินของกลุ่มยุวเกษตรกร บันทึกผลงานกิจกรรมที่ดีเด่น การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ  สรุปผลการดำเนินงานและกิจกรรม ประวัติของกลุ่มยุวเกษตรกร มีการบันทึกการดำเนินของกลุ่มเป็นระยะ เพื่อการกำกับติดตามและร่วมกันส่งเสริมและแก้ปัญหา รวมทั้งคำนึงถึงผลกำไร-ขาดทุนของกลุ่มด้วย

กลุ่มยุวเกษตรกรเปิดการประชุมกลุ่ม

มีการประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอเชียงคำ สำนักงานการเกษตรจังหวัดพะเยา สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยา สถานีพัฒนาที่ดินอำเภอเชียงคำ (หมอดิน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (สาขาบ้านทราย) องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาว สหกรณ์การเกษตรตำบลแม่ลาว จำกัด วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา สถานีพัฒนาที่ดินพะเยา สถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงคำ หน่วยบริการประชาชนตำบลแม่ลาว สโมสรโรตารี่เชียงคำ วนอุทยานน้ำตกน้ำมิน หน่วยจัดการต้นน้ำบ้านต้นผึ้ง   โครงการหลวงปางค่า เป็นต้น

กลุ่มยุวเกษตรกร เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากลุ่มให้ยั่งยืน จึงมีแนวคิดในการบริหารจัดการกลุ่ม โดยให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนากลุ่ม พัฒนาผลิตภัณฑ์ ผลิตผลต่างๆ ของกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การระดมความคิดร่างกฎระเบียบ ข้อบังคับกลุ่ม กำหนดให้มีการประชุมกลุ่ม เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา พร้อมหาแนวทางปรับ แก้ไข

การมีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากร/ทุน ของกลุ่ม โดยสมาชิกทุกคนสามารถตรวจสอบบัญชีรายรับ-รายจ่าย ของแต่ละกิจกรรมได้ เพื่อการบริหารงานกลุ่มเป็นไปด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งสมาชิกทุกคนร่วมมือในการเข้าประชุม ร่วมวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค และให้ข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ พร้อมทั้งขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษายุวเกษตรกร

ทางกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านน้ำมิน ได้ใฝ่รู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอเพื่อนำความรู้มาปรับปรุงกิจกรรมของตนเองและครอบครัว อีกทั้งถ่ายทอดความรู้ไปสู่ชุมชน ก่อให้เกิดการขยายผลการปฏิบัติอย่างกว้างขวางโดยสมาชิกกลุ่มได้เข้ารับการฝึกอบรมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรับความรู้และเสริมสร้างประสบการณ์นำไปใช้ประโยชน์ในกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านน้ำมิน ครอบครัวและชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถนำไปถ่ายทอดให้แก่สมาชิกด้วยกันและชุมชนโดยการเป็นวิทยากรในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องการให้คำแนะนำเรื่องดิน การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ

นอกจากนั้นแล้วกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านน้ำมินยังได้ดำเนินกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ได้แก่ การเข้าร่วมโครงการโรงเรียนดีศรีตำบล โรงเรียนประชารัฐ โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเข้าร่วมโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (ZERO WASTE SCHOOL) เฉลิมพระเกียรติ 61 พรรษา 61 โรงเรียนในปีการศึกษา 2559 ปลูกต้นไม้ในวันสำคัญต่างๆ ของชาติ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมราชินีนารถ วันสำคัญทางราชการและศาสนา พัฒนาทำความสะอาดแม่น้ำ ลำคลอง วัด ถนน วนอุทยานน้ำตกน้ำมิน ในวันสำคัญต่างๆ ร่วมรณรงค์กำจัดลูกน้ำและยุงลาย ร่วมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด รณรงค์การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ

 

ความมั่นคงและฐานะ การจัดหาทุนและการบริหารทุน

ทุนที่ได้จัดหามานั้น เป็นเงินทุนที่ได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตร โดยผ่านทางร้านค้าสหกรณ์ของโรงเรียน เช่น  ขายผักสวนครัวตามฤดูกาล ขายเห็ด ขายสัตว์เลี้ยงตามฤดูกาลหรือขนาด อายุ เช่น ปลาดุก กบ ไข่ไก่ หมูอินทรีย์ ไก่พื้นเมือง และยังได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา

 

การออมทรัพย์

กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านน้ำมิน มีมติเพื่อความมั่นคงของสมาชิกกลุ่ม กำหนดให้มีการออมทรัพย์ทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี ส่วนเงินทุนที่ได้จากการขายผลผลิตได้นำฝากโรงเรียนธนาคารซึ่ง ธ.ก.ส. สาขาบ้านทราย ได้ให้การสนับสนุนของขวัญของรางวัลให้แก่สมาชิกที่มาออมทรัพย์ พร้อมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการธนาคาร ทั้งให้ทุนการสนับสนุนแก่ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ของกลุ่ม

 

การตลาด

ผลผลิตจากแปลงเกษตร เช่น พืชผักต่างๆ ตามฤดูกาล และจากกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่จะนำมาบริโภคเป็นอาหารกลางวันในโรงเรียน และประกอบอาหารเลี้ยงนักเรียนพักนอน (นักเรียนบ้านไกล) ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายชุมชนโดยรอบโรงเรียนสำหรับผลิตภัณฑ์ด้านหัตถกรรมผ้าปักชาวเขา สามารถจำหน่ายที่โรงเรียนสำหรับผู้ที่มาศึกษาดูงาน และในงานที่ได้รับเชิญไปร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานของกลุ่ม เช่น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โรงเรียนเขตพื้นที่ภูเขาสูง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา งานแข่งขันทักษะวิชาการ ระดับภาค ระดับประเทศ

เนื่องจากกลุ่มมีความตั้งใจ และผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทั้งด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม จึงทำให้หน่วยงานทั้งรัฐ เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา สำนักงานเกษตรอำเภอเชียงคำ วิทยาลัยเกษตรพะเยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  และเอกชน เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เห็นผลงานและความตั้งใจของกลุ่ม จึงได้เข้ามาให้มอบทุนทรัพย์ในการทำกิจกรรม ทั้งได้รับรางวัลการประกวดต่างๆ จึงได้นำมาเป็นทุนในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม

นอกจากนี้กลุ่มยังได้รับความสนใจ และให้การสนับสนุนในการทำกิจกรรมต่างๆ จากชุมชน ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการจักสาน หรือแม้กระทั่งความรู้ด้านการเกษตรกร ชาวบ้านหลายท่านยังมาเป็นวิทยากรให้แก่กลุ่ม รวมทั้งที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรยังมีความใส่ใจใฝ่หาความรู้มาแบ่งปัน และฝึกฝนยุวเกษตรกรเพื่อสร้างและพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกร ให้สามารถดำเนินกิจกรรมกลุ่มได้อย่างยั่งยืน ส่วนสำคัญคือ กลุ่มมีการสร้างสมาชิกรุ่นใหม่ๆ มาทดแทนรุ่นเก่าๆ เพื่อสามารถให้กิจกรรมสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้มีพื้นที่บริเวณนั้นกลับคืนเป็นป่าไม้อีกครั้งหนึ่ง

 

แผนด้านเกษตรเพื่อชีวิต

มีงานปลูกผักปลอดสารพิษเป็นการปลูกพืชผักตามฤดูกาล เช่น ผักชี ผักกาดเขียวปลี ผักบุ้ง ผักสลัด กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า พริก มะเขือ ตะไคร้ ปลูกผักพื้นบ้านเป็นการปลูกพืชผักที่มีและรู้จักในท้องถิ่น เช่น ชะอม ผักกูด  ผักหนาม ตูน ผักหวานบ้าน เลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ จำนวน 200 ตัว เลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ จำนวน 1,000 ตัว เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ จำนวน 200 ตัว เลี้ยงเป็ดพันธุ์ไข่ จำนวน 20 ตัว การเพาะเห็ดนางฟ้า นางรม เป็นการนำก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า นางรม มาบ่มเพาะไว้ในโรงเรือน โดยควบคุมอุณหภูมิความชื้นจนเห็ดแตกดอกออกมาจากก้อน

การเพาะถั่วงอกเป็นการเพาะถั่วงอกให้ขาวตามธรรมชาติ โดยใช้จุลินทรีย์ EM ขยาย เป็นตัวเร่ง เลี้ยงไก่พื้นเมือง (สามสายเลือด) จำนวน 50 ตัว เลี้ยงไส้เดือนในกะละมัง จำนวน 3 กะละมัง เลี้ยงไก่พื้นเมือง จำนวน 20 ตัว เลี้ยงหมูพื้นบ้าน จำนวน 5 ตัว ปลูกเสาวรส บวบ น้ำเต้า กล้วย ตามบริเวณรั้ว ปลูกพืชผัก ผลไม้ ผลที่ได้รับสมาชิกกลุ่มได้บริโภคและสร้างรายได้ระหว่างเรียน เป็นการส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มได้ฝึกปฏิบัติจริง สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

มีโรงเรือนทำปุ๋ยหมักเป็นการจัดการขยะที่ย่อยสลายได้ให้เกิดประโยชน์ โดยการนำเศษใบไม้ เศษวัชพืชต่างๆ เศษผักและผลไม้มาหมักในถังตามขั้นตอนและวิธีการน้ำหมักชีวภาพ เป็นการจัดการขยะที่ย่อยสลายได้ให้เกิดประโยชน์ โดยการนำเศษวัชพืชต่างๆ เศษผัก/ผลไม้มาหมักในถัง ตามขั้นตอนและวิธีการ ทำให้โรงเรียนมีน้ำหมักชีวภาพใช้ตลอด ทางสมาชิกกลุ่มเป็นสมาชิกโรงเรียนธนาคาร มีการฝากเงินกับธนาคารทุกวัน โดยจะมีนักเรียนที่เป็นเจ้าหน้าที่รอรับการฝากเงินในช่วงเวลาพักกลางวัน ผลที่ได้รับนักเรียนมีเงินออมทุกคนและเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักการประหยัด อดออม รู้จักการจัดการรายรับ รายจ่าย นักเรียนเห็นคุณค่าของการออมทรัพย์

การเพาะถั่วงอกเป็นการนำเอาเมล็ดถั่วมาเพาะโดยใช้ขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ และใช้ EM มาช่วยทำให้ขาวตามธรรมชาติและเพื่อจำหน่ายต่อไป ขนมไทยเป็นการทำขนมไทยชนิดต่างๆ โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น สามารถทำเป็นอาชีพ และมีรายได้เสริมระหว่างเรียน เป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติจริง สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เพื่อบริโภคและจำหน่าย การทำน้ำส้มควันไม้ เป็นการนำเอากิ่งไม้ที่ได้จากการตอนกิ่งไม้หรือหักโค่นมาเผาเอาน้ำส้มควันไม้และได้ถ่านมาขายหรือใช้ประโยชน์ต่อไป การทำน้ำมันไบโอดีเซล โดยนำเอาน้ำมันที่ใช้แล้วจากการทอด มาผลิตตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จนได้น้ำมันมาใช้กับรถยนต์โรงเรียน ทำให้มีน้ำมันไบโอดีเซลใช้เอง และใช้พลังงานทดแทน ประหยัดงบประมาณ

จากความมุ่งมั่นในการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ สมาชิกยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านน้ำมิน ทำให้โรงเรียนประสบผลสำเร็จและได้รับรางวัลต่างๆ ดังนี้

  1. รางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม เฉลิมพระเกียรติ “ตามรอยเท้าพ่อ…กับฮอนด้า” ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2557 “โรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2558” รางวัลกลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่น รางวัลที่ 2 ระดับเขต จากสำนักส่งเสริมและพัฒนาการการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร ปี พ.ศ.2558 รางวัลโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร พ.ศ. 2557 รางวัลชนะเลิศ โรงเรียนสหกรณ์ต้นแบบ พ.ศ. 2557 รางวัลกลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่น รางวัลที่ 3 ระดับเขต จากสำนักส่งเสริมและพัฒนาการการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร

รางวัลเหรียญทอง องค์ความรู้การเพาะถั่วงอกให้ขาวตามธรรมชาติ (การวิจัยและนวัตกรรมโครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน) ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM) การดำเนินโครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน ระดับภาคเหนือ พ.ศ. 2556  รางวัลเหรียญทอง องค์ความรู้กิจกรรมการปลูกผัก (กิจกรรมการปลูกผัก โครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน) ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM) การดำเนินโครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน ระดับภาคเหนือ พ.ศ. 2556 รางวัลเหรียญเงิน องค์ความรู้การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ (กิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ โครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน) ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM) การดำเนินโครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน ระดับภาคเหนือ พ.ศ. 2556 รางวัลเหรียญเงิน องค์ความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM) การดำเนินโครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน ระดับภาคเหนือ พ.ศ. 2556 โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน