ผู้เขียน | เพ็ชญดา |
---|---|
เผยแพร่ |
นักเรียนโรงเรียน 5 แห่ง ในพื้นที่ภาคอีสาน เข้า “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” โดยได้รับการสนับสนุนโครงการจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (ซีพีเอฟ : CPF) ร่วมมือกับมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท และ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce : JCC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการของเด็กในพื้นที่ห่างไกล และยังวางแผนในอนาคตให้โรงเรียนที่เข้าโครงการดังกล่าวมีการพัฒนาเป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับชุมชนนั้นๆ ด้วย เพื่อให้มีการพัฒนาตัวเองในระยะยาว
ซีพีเอฟ เดินหน้าอุ้มชุมชน ยึดแนวทางพระราชดำริ สมเด็จพระเทพฯ
ซีพีเอฟ หนึ่งในบริษัทใต้ร่ม (umbrella) ของกลุ่ม ซีพี ที่มีศักยภาพเป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่มีการดำเนินธุรกิจในลักษณะครบวงจรในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ยังคงเดินหน้าดูแลชุมชนซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมบรรษัทภิบาล หรือ ซีเอสอาร์ (Corporate Social Responsibility) โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรและนอกองค์กรดำเนินกิจกรรมในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า แม้ว่าในภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ขยับตัวช้า แต่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังคงเดินหน้า ซีเอสอาร์ อย่างเข้มข้นมากขึ้น เพราะกิจกรรม ซีเอสอาร์ นั้นจะเข้าไปสร้างความรับรู้เรื่องขององค์กรในด้านการทำความดีให้กับชุมชน และเรื่องการศึกษาเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ บมจ. ในประเทศไทยให้ความสำคัญ โดยบางกิจกรรมนั้น บมจ. ในไทยส่วนใหญ่มีการดำเนินการก่อนที่จะการกำหนดให้ทำ ซีเอสอาร์ อย่างเป็นเรื่องเป็นราวอย่างทุกวันนี้
คุณอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ กรรมการและรองเลขาธิการ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท เล่าว่า มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์และเหล่าพนักงาน ร่วมกับ ซีพีเอฟ น้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงห่วงใยในภาวะโภชนาการของเด็กและเยาวชน มาทำ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” โดยดำเนินการมาเป็นเวลา 27 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2532
โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ก่อตั้งโดยมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับ ซีพีเอฟ มีการให้ทุนโรงเรียนต่างๆ เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวไปแล้ว 605 แห่งทั่วประเทศ ส่งเสริมให้เยาวชน กว่า 140,000 คน ทั่วประเทศได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่เพื่อพึ่งพาตนเองและสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และปีนี้จะมีการส่งมอบโครงการดังกล่าวให้โรงเรียนแห่งใหม่เพิ่มอีก 56 แห่ง โดยยังเน้นโรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งอาหารของเยาวชนให้เพิ่มมากขึ้น และเพื่อกระตุ้นให้มีการบริโภคไข่ไก่ คนละ 120 ฟอง ต่อคน ต่อปี
ในแต่ละปี โครงการ มีขยายการสนับสนุนแก่โรงเรียนในระดับประถมศึกษาทั่วประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 50 แห่ง โดยมีภาคีเครือข่ายที่มีเจตนารมย์สอดคล้องกัน อย่างเฉพาะที่ JCC ของญี่ปุ่น ให้การสนับสนุนโครงการมาตั้งแต่ ปี 2543 ต่อเนื่องจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 17 มุ่งเน้นการช่วยเหลือโรงเรียนที่มีปัญหาทุพโภชนาการ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีการเดินหน้าสนับสนุนโรงเรียนทั่วประเทศมาทั้งหมด 17 ปี จำนวนโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุน 112 แห่ง คิดเป็นมูลค่า รวม 25.52 ล้านบาท ยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในชนบท รวม 33,000 คน ได้มีอาหารอิ่มท้อง พร้อมต่อการเรียนรู้และมีทักษะอาชีพ นายอภัยชนม์ เล่าให้สื่อมวลชนฟังในวันที่พาสื่อลงพื้นที่ดูโรงเลี้ยงไก่ไข่ที่โรงเรียนบ้านคูบ ตำบลคูบ อำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ
ส่วนโรงเรียนในพื้นที่ภาคอีสาน 5 แห่ง ที่ JCC ร่วมสนับสนุนโครงการ รวมมูลค่าเม็ดเงิน 1.52 ล้านบาท นั้น ได้แก่
- 1. โรงเรียนบ้านคูบ ตำบลคูบ อำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ
- โรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีษะเกษ
- โรงเรียนบ้านแปดอุ้ม ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
- 4. โรงเรียนพยัคฆภูมิพิสัย ตำบลลานสะแก อำเภอพยัคภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
- 5. โรงเรียนบ้านนาซาว ตำบลหนองหัวช้าง อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ
สำหรับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการสนับสนุนโรงเรือนมาตรฐาน อุปกรณ์กรงตับ พันธุ์สัตว์, อาหารสัตว์ สำหรับการเลี้ยงตลอดระยะเวลาการเลี้ยง 1 รุ่น คือ 56 สัปดาห์ การถ่ายทอดความรู้ และการส่งผู้เชี่ยวชาญมาติดตามให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง นักเรียน ครู และชุมชน ได้เรียนรู้ระบบการบริหารจัดการ และการพัฒนาความรู้สู่หลักสูตรการเรียนการสอนและหลักสูตรในท้องถิ่น เกิดการขยายผลสู่กิจกรรมอื่น การจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนของโรงเรียน เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพทางเลือกของนักเรียนและชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงได้ต่อไป
ด้าน ซีพีเอฟ ได้ร่วมสนับสนุนปัจจัยการผลิต อาทิ พันธุ์สัตว์และอาหารสัตว์ รวมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดความรู้ และคำแนะนำในการเลี้ยงและบริหารจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและหลักสุขาภิบาล จัดทำคู่มือการดำเนินงานโครงการสำหรับครู และนักเรียน เพื่อให้สามารถดูแลโครงการได้อย่างเป็นระบบ มีผลผลิตเป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้โรงเรียนเหล่านี้สามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัยได้เอง ลดค่าใช้จ่ายสำหรับจัดซื้อวัตถุดิบอาหารกลางวัน รวมทั้งยังสามารถจำหน่ายผลผลิตให้ชุมชนเพื่อเป็นรายได้ของโรงเรียน นำไปสู่การพึ่งพาตนเองในระยะยาว
ศรีสะเกษ โชว์โครงการตัวอย่าง สร้างชุมชนพึ่งพาตนเองผ่านเด็ก
ขณะที่ในพื้นที่ อำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ต้อนรับสื่อมวลชนนั้น ทำให้เห็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ผ่านโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน เพื่อพัฒนาด้านร่างกายของเด็กให้มีความสมบูรณ์ โดย ดร. ชอุ่ม กรไกร ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จังหวัดศรีษะเกษ เขต 1 เล่าว่า โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการเรียนรู้เยาวชน จำเป็นต้องได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ เพื่อการพัฒนาการด้านสมอง
เช่นเดียวกับ คุณวิบูลย์ กิ่งสุวรรณ นายอำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ บอกว่า โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นการบูรณาการงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนไทยในอำเภอน้ำเกลี้ยง เข้าถึงแหล่งอาหารอย่างเพียงพอ
“การศึกษาของเด็กไทย จะต้องมีโภชนาการที่ดีขึ้น สร้างความพร้อมในการเรียนรู้ รวมทั้งโครงการนี้ยังใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนในการฝึกทักษะอาชีพแบบครบวงจรทั้งการผลิตและการจัดการ ที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนผู้ที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป”
บรรยากาศที่โรงเรียนบ้านคูบ ตำบลคูบ อำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ จึงเต็มไปด้วยความอบอุ่น เพราะนอกจากจะมีกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นแม่งานใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางแล้ว ในส่วนภาคเอกชนยืนยันว่าจะมีการสนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนอย่างต่อเนื่องออกไป โดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งมิติของความดีที่ต่อมากลายเป็นหนึ่งในโครงการ ซีเอสอาร์ ของ ซีพีเอฟ หนึ่งใน บมจ. ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เป็นบริษัทใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยและภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก