โรงเรียนบ้านวังโรงใหญ่สามัคคี โคราช พาเด็กทำเกษตร สู้แล้ง ฟื้นดินทราย

อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นอำเภอหนึ่งที่อดีตเป็นเมืองหน้าด่านของดินแดนในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า อำเภอจันทึก เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าดงทึบ มีไข้ป่าชุกชุม ไม่สะดวกต่อการติดต่อเมืองหลวง จึงเปลี่ยนมาเป็นเมืองหน้าด่าน เรียกว่า ด่านจันทึก ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอสีคิ้ว จากการเรียกชื่อในอดีต แสดงให้เห็นถึงความแห้งแล้งและห่างไกลความเจริญ แม้ว่าปัจจุบันความเจริญจะเข้าถึงเกือบทุกส่วนแล้วก็ตาม แต่ในบางพื้นที่ก็ยังประสบกับภาวะแล้งแห้งอยู่อย่างต่อเนื่อง

เช่น โรงเรียนบ้านวังโรงใหญ่สามัคคี หมู่ที่ 7 ตำบลวังโรงใหญ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา แม้จะเป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีการเรียนการสอนให้กับเด็กนักเรียนตั้งแต่อนุบาลถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 252 คน มีบุคลากรทางการศึกษา รวมนักการภารโรง และผู้อำนวยการ ทั้งสิ้น 18 คน ทั้งยังมีพื้นที่ของโรงเรียนเองทั้งหมด 26 ไร่ 1 งาน 69 ตารางวา ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มาก แต่เมื่อโรงเรียนจะนำมาจัดสรรเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อสร้างความรู้พื้นฐานให้กับเด็กนักเรียน ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง และมีสภาพเป็นดินทราย

คุณคมสันต์ ขุมกระโทก

คุณคมสันต์ ขุมกระโทก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังโรงใหญ่สามัคคี กล่าวว่า แม้ว่าโรงเรียนจะมีพื้นที่มาก และเล็งเห็นความสำคัญในการปูพื้นฐานเกษตรกรรมให้กับนักเรียน แต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะสภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย สภาพดินเป็นดินทราย ไม่อุ้มน้ำ พืชบางชนิดไม่สามารถปลูกได้ในดินทราย นอกจากนี้เมื่อถึงฤดูแล้งแหล่งน้ำก็ไม่มี แม้จะเจาะบ่อบาดาลแล้วก็ตาม

“พื้นที่ทั้งหมด 26 ไร่เศษ เราแบ่งพื้นที่ทำการเกษตร 15 ไร่ แต่ในจำนวนนี้ แบ่งไปปลูกต้นยูคาลิปตัส 10 ไร่ เนื่องจากมีพืชที่เหมาะกับดินทราย ไม่จำเป็นต้องรดน้ำน้อยมาก และต้นยูคาลิปตัสสามารถปลูกได้ จึงเลือกต้นยูคาลิปตัสมาปลูก สำหรับตัดไม้ขาย ที่ผ่านมาตัดไม้ขายไปแล้ว 1 รอบ มีรายได้ช่วยเหลือโรงเรียนได้ส่วนหนึ่ง”

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังโรงใหญ่สามัคคี บอกด้วยว่า พื้นที่ที่เหลืออีก 5 ไร่ แม้จะจัดสรรไว้แล้วว่าจะให้เป็นพื้นที่สำหรับเกษตรกรรมภายในโรงเรียน แต่ด้วยสภาพที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชใดๆ ในจำนวน 5 ไร่ ก็ยังแบ่งเป็นพื้นที่สำหรับปลูกไม้ยืนต้น ในลักษณะของสวนป่าเศรษฐกิจ เช่น ไม้ชิงชัน ไม้พะยุง ไม้ประดู่ อีก 1 ไร่เศษ ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 4 ไร่ จัดพื้นที่สำหรับเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงจิ้งหรีด ปลูกอ้อย และปลูกมันสำปะหลัง ส่วนพืชชนิดอื่นปลูกได้แต่ไม่นาน เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งก็เสียหาย แม้จะพยายามเจาะบ่อบาดาลได้ แต่น้ำจากบ่อบาดาลก็ไม่มีให้สูบขึ้นมาใช้ ทำให้พืชที่ปลูกไว้ตายหมด การเกษตรที่มองไว้ว่าจะจัดให้เป็นพื้นฐานสำหรับนักเรียนจึงแคบลง

แปลงยูคาลิปตัส ปลูกดินทราย

ประชากรในพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านวังโรงใหญ่สามัคคี ตำบลวังโรงใหญ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนบ้านวังโรงใหญ่สามัคคี เกือบทั้งหมด ประกอบอาชีพทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง มีบางส่วนทำนา  อาจารย์คมสันต์ บอกเลยว่า ผู้ปกครองของนักเรียนจำนวนร้อยละร้อย มีอาชีพทางการเกษตร การสร้างเสริมความรู้เพิ่มเติมผ่านเด็กนักเรียน จึงมุ่งเน้นไปที่การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเกษตรที่มีอยู่ให้มากที่สุด

จับปลาไปขายกัน

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังโรงใหญ่สามัคคี อธิบายว่า เมื่อสภาพดินไม่อำนวย การเลี้ยงปลาจึงต้องก่อบ่อซีเมนต์ขึ้น จำนวน 4 บ่อ ขนาดบ่อ 2.5×2 เมตร แล้วซื้อปลาดุกบิ๊กอุยมาเลี้ยง เพราะเห็นว่าปลาดุกบิ๊กอุยทนต่อสภาพบ่อเลี้ยงที่เป็นปูน และเจริญเติบโตเร็ว น้ำหนักดี โดยระยะแรกเลี้ยงรวมกัน ครั้งละ 5,000-6,000 ตัว เมื่อปลาเจริญเติบโตไประยะหนึ่ง จะคัดไซซ์ให้ปลาที่มีขนาดเท่ากันอยู่ในบ่อเดียวกัน แบ่งไซซ์ออกเป็น 4 ไซซ์ ตามจำนวนบ่อที่มี เมื่อถึงเวลาจับขายจะจับขายครั้งละ 1 บ่อ เพื่อให้มีปลาดุกบิ๊กอุยขายต่อเนื่อง 4 ครั้ง ในบางครั้งจะนำปลามาประกอบอาหารในโครงการอาหารกลางวัน แต่ส่วนใหญ่จะขายให้กับชุมชนในราคา กิโลกรัมละ 60-70 บาท เพื่อนำรายได้มาเป็นต้นทุนในการเลี้ยงครั้งต่อไป

ไก่ไข่ก็มี

สำหรับการเลี้ยงไก่ไข่ จะลงไก่ไข่ไว้ 100 ตัว ต่อรุ่น ซึ่งสามารถเก็บไข่ได้ วันละ 70-80 ฟอง โดยไข่ทั้งหมดจะนำไปประกอบอาหารกลางวัน ไม่เหลือขาย เพราะไม่เคยเพียงพอต่อความต้องการและจำนวนของเด็กนักเรียนที่มีมากกว่า 200 คน

ไฮไลต์ของการทำการเกษตรที่นี่ อาจารย์คมสันต์ บอกว่า เป็นการเลี้ยงสัตว์ เพราะการปลูกผักสวนครัวที่สามารถทำได้ง่ายก็ไม่สามารถปลูกได้ แม้จะพยายามปลูกในกระถาง แต่ก็เจริญเติบโตได้ไม่ดี จึงทำได้เพียงการปลูกผักไว้สำหรับประดับอาคารเรียนเท่านั้น

บ่อเลี้ยงจิ้งหรีด

“ที่เด่นชัดที่สุดคือ การเลี้ยงจิ้งหรีด ที่ต้องเริ่มจากการสร้างบ่อเลี้ยง โดยใช้ท่อซีเมนต์ 2 ท่อต่อกันเป็นบ่อเลี้ยง 1 บ่อ มีอุปกรณ์ตามแบบที่เลี้ยงกัน ในตอนแรกก็ส่งนักเรียนกับครูที่ปรึกษาไปอบรมการเลี้ยงจิ้งหรีด และแม้จะอบรมมาแล้ว แต่ก็ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับโรงเรียนและนักเรียน”

แบบนี้โปรตีนดีครับ

ทำไมต้องเลี้ยงจิ้งหรีด ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังโรงใหญ่สามัคคี อธิบายว่า เพราะชุมชนบริเวณใกล้เคียงกับอำเภอสีคิ้ว โดยเฉพาะตำบลวังโรงใหญ่ มีหลายหมู่บ้านที่เลี้ยงจิ้งหรีดเป็นธุรกิจ และจิ้งหรีดเป็นสัตว์ที่มีโปรตีนสูง ราคาดี นิยมบริโภคทั้งทอด ต้ม และป่น

ปัญหาที่โรงเรียนบ้านวังโรงใหญ่สามัคคีประสบ คือ ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ที่แม้แต่จะเจาะบ่อบาดาลก็ไม่มีน้ำให้ใช้ จึงทำให้การเกษตรไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เมื่อเป็นเช่นนี้ การปลูกพืชสวนครัวจึงต้องพักไว้ แล้วหันมาทำการเกษตรที่พอจะเห็นเป็นรูปธรรม คือ การทำไร่มันสำปะหลัง ซึ่งได้ผลดี โดยผลผลิตส่วนใหญ่นำไปขาย นอกจากนี้ ยังมีความพยายามปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์ อยู่ระหว่างการทดลองปลูก แม้จะรู้ดีว่าน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรมีน้อย แต่ก็พยายามบริหารจัดการ โดยการนำน้ำจากบ่อปลาเมื่อต้องถ่ายน้ำ ถ่ายใส่ลงในกระถางซีเมนต์ที่ปลูกมะนาว อย่างน้อยก็ได้ของเสียจากปลาเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้ด้วย

การดูแลพืชและการเลี้ยงสัตว์ ครูคมสันต์ บอกว่า เด็กทุกระดับชั้นจะได้สัมผัสทุกกิจกรรม แต่จะมอบหมายให้เด็กแต่ละชั้นดูแลกิจกรรมหลัก 1 กิจกรรม เช่น การเลี้ยงปลา มอบหมายให้เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กับมัธยมศึกษาปีที่ 1-2 การเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นหน้าที่ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผักสวนครัวในกระถาง มอบให้เด็กนักเรียนชั้นประถมดูแลในวิชาเรียน ระบุชื่อเด็กรับผิดชอบต่อกระถาง และสลับความรับผิดชอบกันในแต่ละเดือน ซึ่งทุกๆ วิชาที่มีการเรียนการสอน สามารถบูรณาการให้มีการเกษตรเข้ามาเกี่ยวข้องได้ทั้งสิ้น เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ ครูอาจจัดการเรียนการสอนลงไปดูเรื่องของแมลง พืช สัตว์ในแปลงเกษตรได้

เด็กหญิงวรรณศิริ คงถือมั่น หรือ น้องกล้วย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่าว่า ความรับผิดชอบของตนคือการรดน้ำต้นไม้และการเก็บไข่ไก่ รวมถึงการให้อาหารปลาดุกบิ๊กอุย ซึ่งใน 3 กิจกรรมดังกล่าว ชอบการเก็บไข่ไก่มากที่สุด เพราะนอกจากจะได้นับจำนวนไข่ ยังได้ความเพลิดเพลินในการดูแลไก่ไข่อีกด้วย สำหรับการดูแลไก่ไข่ทำได้ไม่ยาก ในแต่ละวันให้อาหารไก่ 2 ครั้ง เช้าและเย็น แต่ละครั้งให้ในปริมาณ 1 ถ้วยตวง เปลี่ยนน้ำทุกวัน และเก็บขี้ไก่เดือนละครั้ง นำเอาขี้ไก่ไปหมักเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้

“ถึงแม้ว่าสภาพดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจให้ปลูกต้นไม้ แต่สำหรับหนูแล้ว การทำการเกษตรสามารถปรับให้สมดุลได้” น้องกล้วย กล่าว

เด็กหญิงนิธิดา เขพันดุง หรือ น้องนกน้อย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่าว่า ครอบครัวประกอบอาชีพการเกษตร ทำไร่ ทำสวน จึงนำความรู้ในการทำการเกษตรจากโรงเรียนไปประยุกต์ใช้ที่บ้าน ระยะเวลาการให้น้ำ การตอน การปลูก เช่น การปลูกหอม ควรปลูกเป็นแถว รดน้ำตอนเช้าและเย็น แต่ไม่ควรชุ่มมากเกินไป เพราะจะทำให้รากเน่าตาย นอกจากนี้ การเลี้ยงไก่ก็สามารถให้อาหารเสริมแทนอาหารเม็ดสำเร็จรูป เป็นการลดค่าอาหาร โดยนำหยวกกล้วยสับเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกับอาหาร และควรปล่อยไก่ลงเดินกับพื้นดินสัปดาห์ละครั้ง เพื่อให้ไก่ได้คุ้ยเขี่ยกินหญ้าและแมลง

ด้าน เด็กชายประพจน์ สุดจันทึก หรือ น้องอาร์ท นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 บอกว่า ชอบการปลูกชะอมมากที่สุด เพราะชะอมมีกลิ่นหอม เป็นผักที่รับประทานอร่อย และการปลูกชะอมไม่ใช่เรื่องยาก เพียงเตรียมพื้นที่ปลูก ซื้อกิ่งพันธุ์ ขุดหลุมปลูก นำกิ่งพันธุ์ลงปลูกในหลุมปลูก กลบดิน รดน้ำ เพียงเท่านี้ชะอมก็เจริญเติบโตให้ผลผลิตแล้ว

ส่วน เด็กชายณัฐวุฒิ เลิงฮัง หรือ น้องแมน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เล่าว่า ส่วนตัวชอบการเลี้ยงจิ้งหรีด เพราะจิ้งหรีดเลี้ยงไม่ยากหากรู้จักวิธีเลี้ยง และหากใครต้องการเลี้ยงจิ้งหรีด ขอแนะนำว่าควรศึกษาให้ดีก่อน จากนั้นทำโรงเรือนเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยตนเอง ให้มีลักษณะคล้ายกระท่อมเล็กๆ เมื่อนำจิ้งหรีดใส่เข้าไปก็นำผ้ามาปิดไว้ จิ้งหรีดก็จะอาศัยอยู่ภายในโรงเรือน เมื่อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จิ้งหรีดผสมพันธุ์ก็จะให้ลูกจิ้งหรีดออกมา สามารถนำไปขายได้ ตลาดต้องการมาก

แม้ว่าโรงเรียนบ้านวังโรงใหญ่สามัคคี จะมีไฮไลต์อยู่ที่การเลี้ยงจิ้งหรีด แต่ก็เพราะการปลูกผักไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร และปัจจุบันยังคงต้องการวิทยากรที่มีความรู้ ให้คำแนะนำในการปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่อยู่ หากหน่วยงานใดต้องการส่งเสริมและสนับสนุนการทำการเกษตรภายในโรงเรียนให้กับโรงเรียนบ้านวังโรงใหญ่สามัคคี สามารถติดต่อได้ที่ คุณคมสันต์ ขุมกระโทก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังโรงใหญ่สามัคคี หมู่ที่ 7 บ้านวังโรงใหญ่ ตำบลวังโรงใหญ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์ (087) 960-4029

 

ขอขอบคุณข้อมูลสนับสนุน จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 4 จังหวัดนครราชสีมา