สวทช. ส่งต่อทูตเยาวชน JENESYS 2019 ให้สถานทูตญี่ปุ่น บินลัดฟ้าเรียนรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยงานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง ฝ่ายพัฒนาบุคลากรวิจัย ให้ความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย คัดเลือก 16 เยาวชนไทยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเป็นทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ในโครงการ JENESYS 2019 ศึกษาดูงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวัฒนธรรมถึงประเทศญี่ปุ่น จำนวน 9 วัน ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน –        3 ธันวาคม 2562 ณ กรุงโตเกียว และจังหวัดนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น โดยจัดพิธีแสดงความยินดีและปฐมนิเทศทูตเยาวชน JENESYS 2019 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทาง เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี

บรรยากาศวัยปฐมนิเทศและแสดงความยินดีกับเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกเป็นทูต JENESYS 2019

นางอติพร สุวรรณ หัวหน้างานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง (JSTP) ฝ่ายพัฒนาบุคลากรวิจัย สวทช. เปิดเผยว่า สวทช. เป็นผู้ประสานการดำเนินโครงการคัดเลือกเยาวชนทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งตอนนี้ดำเนินการมา 5 ปีแล้ว โดยในปีนี้ได้คัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโครงการต่างๆ ที่ สวทช. ดูแล ไม่ว่าจะเป็นโครงการ JSTP โครงการรับนักเรียน ม.ปลายฝึกทักษะวิจัย ณ ศูนย์วิจัยแห่งชาติของ สวทช. ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นนักเรียนในโครงการวิทยาศาสตร์ และ สวทช. ยังคัดเลือกจากนักเรียนที่เข้ามาอบรมในโครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร รวมถึงนักเรียนที่อยู่ในโครงการ FabLab ด้วย รวมทั้งหมดจากที่ได้มีการ ส่งใบสมัครเข้ามาเป็นจำนวนนักเรียน 69 คน จากนั้นจึงคัดเลือกมา 30 คนเพื่อรับการสัมภาษณ์ และคัดเลือกรอบสุดท้ายเหลือ 16 คน เพื่อเป็นทูตวิทยาศาสตร์ที่จะไปร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ที่กรุงโตเกียวและจังหวัดนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น ข้อดีที่คิดว่า สวทช. ได้ร่วมดำเนินการ เพราะมองเห็นว่า เป็นโอกาสที่เด็กๆ นักเรียนของไทย จะได้มีโอกาสไปเข้าร่วมกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ในต่างประเทศที่ประเทศญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งการไปเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จะได้ไปเยี่ยมชมบริษัทภาคเอกชนชั้นนำ แหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมขึ้นชื่อ รวมทั้งที่พิเศษมากๆ คือ การได้ไปอยู่กับโฮสต์แฟมิลี่ หรือครอบครัวอุปถัมภ์ น้องๆ จะได้เรียนรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นเองด้วย

นางสาวมิโทะนะ เอ็นโด ผู้แทนเลขานุการเอก สำนักข่าวสารญี่ปุ่น สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับหัวข้อของ JENESYS 2019 ครั้งนี้กับทาง สวทช. จะเป็นหัวข้อในเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นจะดูที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่นเป็นสำคัญ โดยในครั้งนี้จะได้เดินทางไปกรุงโตเกียวและจังหวัดนีงาตะ สำหรับที่กรุงโตเกียวน้องๆ จะได้ไปดูที่สถาบันเทคโนโลยีโตเกียว ศูนย์พานาโซนิค บริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงบริษัทชั้นนำด้านโลจิสติกส์ที่ดังมากของญี่ปุ่น ขนส่งไปรษณีย์ต่างๆ ให้อย่างตรงเวลา นอกจากนี้ ยังมีไปเยี่ยมชมบริษัทที่นักวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นมา เพื่อให้เป็นที่ที่นักวิจัยทำงานร่วมกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมา

และที่จังหวัดนีงาตะ ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศญี่ปุ่น จะได้ไปเยี่ยมชมบริษัทเก่าแก่ของที่นี่ ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญในการทำสีฉนวนและอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ นอกจากนี้ จะยังได้ไปยังสถาบันแห่งชาติของทางจังหวัดนีงาตะด้วย ไปดูพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่างๆ ในเมืองสึบาเมะ และศูนย์ช่างตีเหล็กซันโจ ที่มีชื่อในเรื่องการทำเครื่องเงิน เครื่องทองแดง และหัตถกรรมพื้นบ้านผสมผสานเป็นเอกลักษณ์เฉพาะญี่ปุ่น นับว่าปี 2019 นี้เพิ่มเติมสถานที่ให้เยาวชนได้ไปศึกษาดูงานหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการไปดูงานอย่างเข้มข้นในภาคเอกชน เพื่อให้น้องๆ ได้รู้จักประเทศญี่ปุ่น ได้ไปศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสามารถนำกลับมาเผยแพร่ให้กับน้องๆ เพื่อนๆ และครอบครัวในประเทศไทย ให้ได้รับรู้ว่า ประเทศญี่ปุ่นมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบนี้ และมีความแตกต่างกับประเทศไทยอย่างไร อยากให้น้องๆ คิดวิเคราะห์ออกมา และนำมาพัฒนาประเทศไทยต่อไป หรือน้องๆ อาจจะได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น หรือไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นต่อไป

ด้าน 2 ตัวแทนจาก 16 เยาวชนที่ได้รับคัดเลือกเป็นทูตเยาวชน JENESYS 2019 น้องแทน นางสาวชาติญา อาจชน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เผยว่า “ดีใจมาก และจะได้มีโอกาสเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ตัวหนูเรียนในสายวิทย์แล้วเคยส่งงานด้านอวกาศ และญี่ปุ่นเขาดังมากเรื่องอวกาศ มีองค์การอวกาศของตัวเอง คือ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) จึงตื่นเต้นมากที่จะได้ไปเรียนรู้วัฒนธรรมของเขา เพราะว่าในเรื่องความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์อะไรหลายๆ อย่าง มันหลอมมาจากตัวทัศนคติ ตัววัฒนธรรมของเขาอยู่แล้ว การที่หนูได้ไปเรียนรู้ทัศนคติและวัฒนธรรมควบคู่กัน โดยเฉพาะการไปดูงานหรือการไปอยู่กับโฮสต์ที่เราหาไม่ได้จากการไปเที่ยวเอง ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ และการไปครั้งนี้คาดหวังว่า จะได้รู้ถึงที่มาที่ไปว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงทำแบบนี้ องค์ความรู้นี้เขาได้มาจากไหน แล้วพยายามนำมาประยุกต์ใช้ว่า ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยเป็นแบบนี้ เราจะเอาความคิดนั้นมาปรับใช้ได้อย่างไร พยายามนำสิ่งที่ได้เรียนรู้กับตัวเรามาใช้ในสถานการณ์แบบนี้ให้ดีที่สุด” ขณะที่ น้องไนล์ นายณัฐดนัย ปราชญ์นคร โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เผยว่า “รู้สึกดีใจมากกับโอกาสที่ได้ไปแลกเปลี่ยนความรู้ในครั้งนี้ และจะได้เพื่อนใหม่อีกมากมายด้วย การไปประเทศญี่ปุ่นในฐานะทูตเยาวชน JENESYS 2019 ตนคาดหวังในการไปดูความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เขามีมากกว่าประเทศไทย จะไปดูหลักการทำงานของเทคโนโลยีต่างๆ  ถ้าเกิดเผื่อว่าในอนาคต เราจะได้นำเอาหลักการตรงนั้นมาช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยได้”