เด็กเกษตร พลิกดินเค็ม ปลูกผักสวนครัวในล้อรถยนต์ ประหยัดพื้นที่ ได้ผลดี

หลังนัดสัมภาษณ์เด็กๆ ที่มีใจรักด้านเกษตร รวมถึงอาจารย์ผู้ดูแล ของโรงเรียนวัดเกาะแก้ว หมู่ที่ 1 บ้านเกาะแก้ว ตำบลบางตะบูนนอก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่เรียบร้อย การเดินทางสู่จุดหมายก็เริ่มขึ้น เมื่อถึงปลายทาง สภาพโดยรอบของโรงเรียนทำให้เข้าใจได้ทันทีว่า เพราะเหตุใด โรงเรียนจึงชื่อวัดเกาะแก้ว ส่วนหนึ่งเพราะโรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่ของวัด อีกส่วนหนึ่งคือตั้งอยู่บนพื้นดินที่ยื่นออกไปในท้องน้ำ จึงเรียกว่าเกาะแก้ว

ที่น่าสนใจและเป็นกรณีศึกษา คือ ความพยายามของครูและนักเรียน ที่แม้จะมีพื้นที่ของโรงเรียนเพียงน้อยนิด ทั้งพื้นที่ทั้งหมดยังเป็นดินเค็ม แม้กระทั่งน้ำโดยรอบก็เป็นน้ำเค็ม แต่ก็สามารถสร้างแปลงผักสวนครัว และตั้งใจทำแปลงไม้พื้นถิ่น เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้

ในตอนแรกจะเรียกเด็กนักเรียนว่า กลุ่มยุวเกษตรกร ตามที่โรงเรียนทั่วไปเรียก แต่อาจารย์ที่โรงเรียนบอกว่า โรงเรียนไม่มีกลุ่มยุวเกษตรกร เพราะจำนวนนักเรียนไม่เพียงพอ และไม่สามารถทำการเกษตรได้หลากหลาย ที่ทำได้และเห็นเป็นรูปธรรมมีเพียงการปลูกผักสวนครัว

อาจารย์พจน์ เผ่าเจริญ

อาจารย์พจน์ เผ่าเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเกาะแก้ว กล่าวว่า พื้นที่บ้านเกาะแก้วเป็นถิ่นกำเนิดของอาจารย์ และตัวของอาจารย์เองก็เรียนจบประถมศึกษาจากโรงเรียนนี้ จึงขอย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน หวังพัฒนาโรงเรียนไปพร้อมๆ กับการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ดำรงอยู่

“ผมเพิ่งย้ายกลับมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้ไม่ถึงปี เพราะทราบดีว่า โรงเรียนมีพื้นที่น้อย ขอพื้นที่จากวัดได้ประมาณ 1 ไร่เศษ ทำเป็นอาคารเรียนไม้ขนาดเล็ก 2 หลัง อาคารปูน 1 หลัง และลานอเนกประสงค์ พื้นที่ที่เหลือด้านหลังของอาคารเรียนเป็นดิน ที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ในส่วนที่เป็นแหลมยื่นออกไปคุ้งน้ำ น้ำในแม่น้ำเป็นน้ำเค็มทั้งหมด ทำให้ดินที่ตั้งของโรงเรียนเป็นดินเค็มไปด้วย”

โรงเรียนก่อตั้งมานานราว 80 ปีก่อน มีนักเรียนชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 รวม 110 คน ในชั้นมัธยมศึกษา 1-3 มีทั้งหมด 20 คน เท่านั้น มีชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีนักเรียนจำนวนมากกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ มัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ก็ถือว่าน้อยกว่าโรงเรียนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง จนหลายต่อหลายครั้งโรงเรียนเกือบถูกยุบเพราะจำนวนนักเรียนน้อยเกินไป

อาจารย์อำภรรณ ใจแสน ครูที่ปรึกษาด้านเกษตร

ปัญหาเรื่องดินเค็ม อาจารย์พจน์ และ อาจารย์อำภรรณ ใจแสน ครูที่ปรึกษาด้านเกษตร พยายามช่วยกันแก้ปัญหา โดยศึกษาความรู้จากเอกสารหรือหนังสือเท่าที่พอจะหาได้ เพื่อแก้ปัญหาดินเค็ม รวมถึงน้ำเค็มที่มีอยู่รอบโรงเรียน ซึ่งวิธีแก้ปัญหาอย่างง่ายที่สามารถทำได้คือ การเลือกพืชที่เหมาะกับดินเค็มมาปลูก และการปรับสภาพดินเท่าที่ทำได้

อาจารย์อำภรรณ บอกว่า พืชที่ปลูกได้ส่วนใหญ่เป็นพืชสวนครัว เช่น ตะไคร้ กะเพรา โหระพา พริก และพืชกินใบ เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง และผักกาดขาว ไม้ยืนต้นอื่นๆ ไม่สามารถปลูกได้ เพราะเมื่อรากของไม้ยืนต้นหรือไม้ผลเริ่มลงรากลึกก็พบกับน้ำเค็ม ทำให้หยุดการเจริญเติบโต การแก้ปัญหาจึงทำได้แคบลง ทำได้เพียงหาพืชที่เหมาะกับดินเค็มมาปลูกเท่านั้น ส่วนการแก้ปัญหาดินเค็มเพื่อให้ปลูกพืชชนิดอื่นได้ด้วยนั้น นักเรียนและครูพยายามกันมาก แต่ก็ได้เท่าที่เห็น

แปลงยางรถยนต์เป็นที่ปลูกผัก

“แต่กว่าเราจะทำแปลงผักสวนครัวได้ เราก็ลองผิดลองถูกมาตลอด เคยลองปลูกแตงกวา บวบงู ตอนแรกก็งามดี พอเริ่มติดลูกก็จะแกร็น ส่วนมะม่วงเจริญเติบโตดีได้สักระยะ ใบก็เริ่มเหี่ยวแห้งตาย เมื่อเรารู้ว่าดินของเราเป็นดินเค็ม ใต้ดินก็เป็นน้ำเค็ม เราจึงแก้ปัญหาด้วยการขุดดินขึ้นมา นำไปตากแดด แล้วรดด้วยน้ำจืดสักหน้าฝนหนึ่งก็ปลูกได้ นอกจากนี้ยังเอาเปลือกหอยมาทุบแล้วโรยกับดิน เปลือกหอยเป็นแคลเซียม ช่วยลดความเค็มของดินลงได้”

ดินที่ลดความเค็มลงด้วยการตากแดด รดน้ำจืด และใส่เปลือกหอยลงไป จะนำไปใส่ไว้ในยางรถยนต์เพื่อปลูกผักชนิดอื่นนอกเหนือจากชนิดที่ชอบดินเค็มไว้ด้วย และผลผลิตทั้งหมดจะนำไปประกอบอาหารกลางวันตามโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน

ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเกาะแก้ว บอกด้วยว่า การกำหนดเวลาดูแลแปลงผักสวนครัวขึ้นอยู่กับเด็กนักเรียน ให้จัดการแบ่งกลุ่มกันเองโดยครูเฝ้าดูเป็นที่ปรึกษาอยู่ห่างๆ หากเกิดปัญหาอะไรเด็กจะเดินเข้ามาบอกครู แต่ที่ผ่านมาเด็กนักเรียนมีความรับผิดชอบสูง ไม่ต้องมีการประเมินหรือเอาเกณฑ์อะไรมาบังคับ พวกเขาก็สามารถจัดการพื้นที่เกษตรด้วยใจได้

เด็กมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จะเป็นหลักในการดูแลแปลงเกษตร ส่วนเด็กชั้นประถมศึกษา จะเข้าเรือนเพาะชำ ทำหน้าที่เพาะกล้าให้พี่ๆ นำไปปลูก การเพาะชำในแปลงเป็นลักษณะของพี่สอนน้อง เพราะโรงเรียนมีนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ จึงใช้ชั่วโมงที่ลดเวลาเรียน ให้พี่สอนการเพาะชำให้กับน้อง โดยใช้วัสดุปลูกเป็นดินและขี้วัวที่ซื้อมา เมื่อต้นกล้าเริ่มเจริญเติบโตส่วนหนึ่งก็นำไปปลูกยังแปลงผักสวนครัว อีกส่วนหนึ่งก็ให้น้องๆ ชั้นประถมศึกษาที่ลงมือเพาะด้วยตนเอง นำกลับไปปลูกที่บ้าน

“น้ำที่ใช้รดต้นไม้ เราใช้น้ำประปาต่อสายยางมารด นอกจากนี้ ในฤดูฝนเรายังเก็บน้ำไว้ในโอ่ง เพื่อตักมารดต้นไม้ได้ ถึงแม้จะมีน้ำล้อมรอบพื้นที่โรงเรียน แต่เราก็ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้เลย” อาจารย์อำภรรณ บอก

เด็กหญิงกุมารี หาญกูล

เมื่อถามถึงกิจกรรมการเกษตรอื่น อาจารย์อำภรรณ บอกว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เมื่อถึงฤดูฝน บริเวณลานอเนกประสงค์ของโรงเรียนจะถูกน้ำท่วมสูง ประมาณ 10-30 เซนติเมตร หากเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ไข่ การทำโรงเรือนเลี้ยงไก่ก็ต้องยกใต้ถุนสูง ซึ่งใช้งบประมาณมาก โรงเรียนไม่มีทุนทรัพย์สำหรับการดำเนินการ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการทำประมงก็น่าสนใจ แต่เนื่องจากน้ำโดยรอบโรงเรียนเป็นน้ำเค็ม การจะหาสัตว์น้ำมาเลี้ยงในน้ำเค็มก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้ามีวิทยากรที่อยากให้ความรู้กับโรงเรียนในด้านนี้ก็ยินดี

ผู้อำนวยการโรงเรียน เล่าว่า โรงเรียนมีแนวความคิดอนุรักษ์พืชพื้นถิ่นไว้ โดยเฉพาะต้นลำแพน ที่เป็นพืชเฉพาะถิ่น และเป็นพืชสมุนไพร เหมาะแก่การปลูกชายเลน ซึ่งปัจจุบันกำลังจะหมดไป จึงตั้งใจขอพื้นที่จากวัดเพิ่ม เพื่อนำไปทำเป็นแปลงพืชสมุนไพรพื้นถิ่น และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กนักเรียนและชุมชน และหากเป็นไปได้จะพัฒนาให้ได้รับความสนใจจากประชาชนภายนอกเข้ามาชมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกทาง

เด็กหญิงกุมารี หาญกูล

เด็กหญิงกุมารี หาญกูล หรือ น้องเนย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เล่าว่า ที่บ้านมีอาชีพเผาถ่าน ไม่มีใครมีความรู้เรื่องการปลูกต้นไม้ ดิฉันได้ความรู้การปลูกต้นไม้ลงกระถางจากโรงเรียน ก็นำกลับไปทำที่บ้าน ทำให้มีผักสวนครัวกระถางไว้กิน ไม่ต้องซื้อ ซึ่งดินเป็นดินเค็มก็ต้องไปตักดินหน้าบ่อนำมาใช้ เพราะเป็นชั้นดินที่มีความร่วนพอสมควร สามารถปลูกต้นไม้ได้

เด็กชายปฏิภาณ เกียรติทัต

เด็กชายปฏิภาณ เกียรติทัต หรือ น้องต้นข้าว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 บอกว่า ครอบครัวมีอาชีพทำประมง จับกุ้ง ปลา หอยแครง หอยลาย ทำให้ไม่ได้ปลูกพืชไว้ ซึ่งผมก็นำความรู้เรื่องการปลูกพืชผักสวนครัวไปใช้กับที่บ้าน การปลูกต้นไม้ในพื้นที่ชายเลน เราควรรู้ว่าดินส่วนไหนใช้ได้ ซึ่งทั้งหมดก็ได้ความรู้จากโรงเรียน และหากต้องการความรู้เพิ่มเติมก็ต้องศึกษาเอง เพราะโรงเรียนก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

เด็กหญิงอรัญญา อออำไพ และ เด็กชายกิตติศักดิ์ ศรีสมโภชน์

สำหรับ เด็กชายกิตติศักดิ์ ศรีสมโภชน์ หรือ น้องวอย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เล่าว่า ใจจริงอยากให้โรงเรียนมีการเกษตรด้านปศุสัตว์ คือการเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มเติม แต่ด้วยพื้นที่ไม่เหมาะและไม่มีงบประมาณจึงทำให้เรียนรู้ได้เฉพาะการปลูกผักสวนครัวและพืชพื้นถิ่น ซึ่งทักษะส่วนนี้หากในอนาคตจำเป็นต้องใช้ก็จะติดตัวไปตลอดและนำมาใช้ได้ทุกเมื่อ

ด้าน เด็กหญิงอรัญญา อออำไพ หรือ น้องออย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 อธิบายว่า ปัญหาสำคัญของโรงเรียน ชุมชนและบ้าน เกี่ยวกับการเกษตรคือ ปัญหาดินเค็มและน้ำเค็ม ที่ทำให้เราไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้มากกว่านี้ ตอนนี้ทำได้เพียงปลูกผักสวนครัว ไม้ประดับใส่กระถาง และการประมง หากทำได้ก็อยากช่วยเหลือโรงเรียน หาพื้นที่ที่เป็นดินจืดมาใช้ปลูกผักสวนครัวและพืชอื่นๆ

เด็กหญิงธันยพร เฮงฮู้

ส่วน เด็กหญิงธันยพร เฮงฮู้ หรือ น้องหนิง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กล่าวว่า ครอบครัวมีอาชีพค้าขาย ปลูกผักสวนครัวหลายอย่าง จากนั้นก็นำมาจัดเป็นกำเพื่อนำใส่รถวิ่งเร่ขาย ดังนั้น เมื่อมีเวลาว่างจากการเรียน ก็จะช่วยพ่อแม่ดูแลผักสวนครัวเท่าที่ทำได้ และที่ผ่านมาถ้าผักจัดเป็นกำแล้วเหลือ ก็แบ่งเพื่อนบ้านบ้าง เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเป็นการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ตามแนวพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

ทั้งพื้นที่ที่เห็นมากับตาและการอธิบายวิธีการทำแปลงเกษตรของเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดเกาะแก้วที่ต้องทำตามสภาพพื้นที่ที่มีอยู่ ทำให้ทราบว่า นักเรียนและครูมีความตั้งใจในการพัฒนาพื้นที่โรงเรียนให้มีพื้นฐานการเกษตร ส่งต่อไปยังเด็กนักเรียนรุ่นหลังให้มีพื้นฐานการเกษตรที่ดี รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และเรียนรู้การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยไม่ต้องมีวิชาพื้นฐานใดมาบังคับ ด้วยเหตุผลเช่นนี้ จึงอยากขอผู้ใหญ่ใจดีทั้งจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่มีกำลังในด้านใดก็ตาม เห็นความสำคัญและความตั้งใจของเด็กนักเรียนและครูโรงเรียนวัดเกาะแก้ว ให้การสนับสนุนหรือส่งเสริมเท่าที่ทำได้ โดยติดต่อไปยัง อาจารย์พจน์ เผ่าเจริญ หรือ อาจารย์อำภรรณ ใจแสน ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (032) 489-021