เด็กไทยแก้มใส สอนเด็ก”ปลูกผัก”กินเอง แก้ปัญหา อ้วน-เตี้ย

การมีโภชนาการที่ดี และสุขภาพที่แข็งแรง เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะส่งเสริมให้เด็กทุกคนเจริญเติบโต และพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ เป็นคนคุณภาพของสัมคมไทย แต่เป็นที่น่าตกใจว่าในความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร ยังมีเด็กไทยบางส่วนที่มีปัญหาภาวะโภชนาการส่งผลให้เผชิญภาวะวิกฤต อ้วน-เตี้ย-ผอม-โง่

เพื่อแก้ปัญหาเด็กไทยให้มีโภชนาการสมวัย สุขภาพดี ผลการเรียนดี สสส. และหน่วยงานภาคีจึงน้อมนำพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการบริหารจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนอย่างบูรณาการครบวงจร ที่พระราชทานแนวทางแก้ปัญหามากว่า 30 ปี จัดทำโครงการ “เด็กไทยแก้มใส” เจริญรอยตามพระยุคลบาท “เจ้าฟ้านักโภชนาการ”

“หัวใจ” สำคัญของโครงการนี้คือ “การเกษตรในโรงเรียน” เพื่อผลิตวัตถุดิบอาหารสำหรับใช้ในการจัดอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนทุกคน และยังเป็นการพัฒนาเด็กนักเรียนให้มีความรู้ มีทักษะและทัศนคติที่ดี ทางการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตในอนาคต ซึ่งโครงการได้เริ่มต้นในปี 2557 นำแนวทางพระราชดำริมาขยายผลในโรงเรียน 544 แห่งทั่วประเทศ จากการดำเนินงานมา 3 ปี พบว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาให้นักเรียนได้เข้าโครงการมีการเจริญเติบโตที่สมวัย และมีผลการเรียนดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เข้าโครงการ

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงาน “เปิดบ้านโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส ถวายเจ้าฟ้านักโภชนาการ” ที่โรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา จ.สมุทรปราการ ว่า โครงการเด็กไทยแก้มใส เป็นการถอดบทเรียนจากโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน นำมาสู่การพัฒนาการดูแลโ ภชนาการและสุขภาพของนักเรียน ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาเด็กไทยในด้านโภชนาการและสติปัญญาได้

“ตลอด 3 ปีที่ดำเนินโครงการ พบว่ามีความอ้วนลดลง เด็กผอมก็มีรูปร่างที่สมส่วนขึ้น มีส่วนสูงตามเกณฑ์ ขณะที่ผลการสอบและการเรียนก็ดีกว่านักเรียนที่ไม่อยู่ในโครงการ มีสุขลักษณะนิสัยที่ดี ถือเป็นผลสำเร็จอย่างหนึ่ง”

การดำเนินงานตามโครงการมีทั้งหมด 8 ขั้นตอน คือ 1.การเกษตรในโรงเรียน 2.สหกรณ์นักเรียน 3.การจัดบริการอาหารของโรงเรียน 4.การติดตามภาวะโภชนาการ 5.การพัฒนาสุขนิสัยของนักเรียน 6.พัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนให้ถูกสุขลักษณะ 7.การจัดบริการสุขภาพ และ 8.การจัดการเรียนรู้เชื่อมโยง เกษตร อาหาร โภชนาการ สุขภาพอนามัย

“ประโยชน์ของโครงการนี้ ไม่ใช่แค่เด็กมีสุขภาพที่ดีขึ้น แต่ยังนำไปสู่การเรียนรู้ที่ดีขึ้น เด็กเกิดการเรียนรู้หลายอย่าง เช่น การปลูกผัก สอนให้เรียนรู้การปลูกผักเอง และยังสอนในเรื่องระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ อย่างเรื่องสหกรณ์ ฝึกให้เด็กมีความรู้ในการทำงานร่วมกัน การประชุม การบันทึกบัญชี การค้าขาย ซึ่งมีการเรียนรู้ตลอดขั้นตอน เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต” นพ.ไพโรจน์กล่าว

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม


ตลอด 3 ปีของการดำเนินโครงการ มีโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานโครงการเด็กไทยแก้มใสหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ โรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา จ.สมุทรปราการ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ ของโครงการ

สำหรับรูปแบบการเกษตรในโรงเรียน หากเป็นโรงเรียนในพื้นที่ชนบทหรือที่ทุรกันดารห่างไกล ซึ่งมีพื้นที่เพียงพอมักจะทำการเกษตรรูปแบบผสมผสาน ปลูกพืชผักลงบนดิน มีผลผลิตหลากหลายหมุนเวียนกันอย่างต่อเนื่อง

แต่โรงเรียนในเขตเมืองหรือชานเมือง อย่างโรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา มักมีพื้นที่จำกัดและตั้งอยู่ในชุมชน ก็ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดเรื่องดิน มาทำการเกษตรโดยปลูกผักในแนวตั้ง ปลูกใส่ภาชนะ ทั้งกระถาง กะละมัง หรือกระทั่งปลูกในล้อรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว รวมทั้งปลูกพืชไร้ดิน ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ปลูกผลไม้ตามแนวรั้ว หรืออาคารเรียน

คุณครูสาคร นวลคำ รองประธานแนวการพัฒนาที่ 1 การเกษตรในโรงเรียนแพรกษาฯ เล่าว่า โรงเรียนสอนการเกษตรในเด็กทุกระดับชั้น ตั้งแต่เนิร์สเซอรี่ไปจนถึงชั้น ป.3 โดยแต่ละระดับจะเรียนรู้การปลูกผักแตกต่างกันไป

ระดับเนิร์สเซอรี่จะเรียนรู้ชื่อของผัก รูปร่างผัก การนำเมล็ดผักไปหยอดลงดิน หรือถอนหญ้าเล็กๆ น้อยๆ ส่วนระดับอนุบาลจะปลูกผักที่ปลูกง่ายๆ เช่น ต้นอ่อนทานตะวัน ผักบุ้ง ผักสวนครัว กะเพรา โหระพา เพราะเด็กยังมีความจำที่ไม่ซับซ้อน แต่เด็กเรียนรู้เร็วและจะทำเองทุกขั้นตอน ส่วนประถมจะปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ปลูกเห็ดที่มีความยากขึ้น เพราะต้องมีการวัดค่าน้ำค่าปุ๋ย ซึ่งทุกกระบวนการจะมีครูและผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำและช่วยเหลือ

“เมื่อผักที่ปลูกให้ผลผลิตแล้ว ก็จะนำไปให้โรงครัวเพื่อประกอบอาหารทุกวัน ส่วนที่เหลือจะนำไปจำหน่ายให้ผูู้ปกครอง โดยขายตามราคาท้องตลาด และเงินจากการจำหน่ายก็จะนำเข้าสหกรณ์ห้องเรียน พอสิ้นปีสหกรณ์จะปันผลให้นักเรียน กิจกรรมนี้ มีแต่สร้างประโยชน์ให้เด็ก โดยเฉพาะด้านโภชนาการ ที่ทำให้เด็กหลายคนที่ไม่กินผัก หันมากินผักที่ตัวเองปลูก เขามีความสุขที่ได้กินผักฝีมือตัวเอง รดน้ำเอง บางวันเจอหนอน เจอไส้เดือนก็จะมาเล่าให้ฟังกันอย่างสนุกสนาน อีกทั้งยังทำให้เด็กมีสุขภาพดีขึ้น อ้วนลดลง คะแนนดีขึ้น และเด็กบางคนที่ชอบมากๆ ก็จะชวนพ่อแม่ปลูกผักเองที่บ้าน”คุณครูสาครกล่าว

คุณครูสาคร นวลคำ

เปรียว – ปรียาภรณ์ สินทรัพย์ ชั้น ป.5 โรงเรียนวัดสวนส้ม (สุขประชานุกูล) อีกหนึ่งโรงเรียนร่วมโครงการและได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ บอกว่า เป็นคนชอบกินผักอยู่แล้ว กินได้ทุกอย่าง แต่เมื่อได้มาปลูกผักเอง ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้กินผักที่ตัวเองปลูก และที่สำคัญ ถ้าเหลือจากการนำไปทำอาหารที่โรงครัวก็ยังนำไปขายได้อีกด้วย

ส่วน บิว – ด.ช.วัชระ โพธิ์มา ชั้น ป.3 โรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา บอกว่า ไม่เคยปลูกผักมาก่อนเลย แต่พอครูมาสอนให้ปลูก ตอนนี้ปลูกต้นหอมกับผักบุ้งเป็นแล้ว ทำได้เองทุกขั้นตอน อย่างปลูกผักบุ้ง เริ่มจากการเตรียมดิน จากนั้นโรยเมล็ดลงไป และก็รดน้ำเช้าเย็นทุกวัน

“ได้กินผักที่ตัวเองปลูกก็ภูมิใจมาก ผักบุ้งมีประโยชน์ทำให้สายตาดี แข็งแรง ผมชอบกินผักครับ” วัชระบอก

นับเป็นโครงการที่มีแต่สร้างประโยชน์ให้กับเด็กเพราะโภชนาการที่ดีและสุขภาพที่แข็งแรง คือ พื้นฐานสำคัญให้เด็กเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ